สั่งคุมเข้ม"12จุดเสี่ยง"รถไฟสายใต้ แฉ 8 ปีโดนโจมตีกว่าร้อยครั้ง!
เปิดข้อมูลเส้นทางรถไฟสายชายแดนใต้ 200 กิโลเมตร 27 สถานี มีจุดล่อแหลมเสี่ยงถูกโจมตี 12 จุด ประสานฝ่ายความมั่นคงคุมเข้ม เน้น รปภ. 3 ชั้น ป่ารกสองข้างราง ถนนคู่ขนาน และบนขบวนรถ หัวหน้าการรถไฟฯ ศูนย์ภาคใต้ ประชุมเครียดปรับแผนคุมเข้ม "ม้าเหล็ก" หลังถูกคนร้ายกว่า 20 คนดักซุ่มโจมตีที่ อ.เจาะไอร้อง นราธิวาส จน อส.รถไฟดับ 1 เจ็บ 1 รวบผู้ต้องสงสัยเป็นพี่ชายคนร้ายที่ถูก อส.ยิงดับเมื่อ 25 ส.ค.
นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ หัวหน้าสำนักงานประจำการรถไฟศูนย์ภาคใต้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งรับผิดชอบงานด้านความปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประชุมอย่างเคร่งเครียดกับเจ้าหน้าที่ ร.ฟ.ท.และฝ่ายความมั่นคง ที่สถานีรถไฟเจาะไอร้อง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันพุธที่ 29 ส.ค.2555 เพื่อปรับแผนการรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ภายหลังเกิดเหตุคนร้ายโจมตีขบวนรถไฟเมื่อวันอังคารที่ 28 ส.ค. ทำให้เจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน (อส.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ รปภ.ขบวนรถ เสียชีวิต 1 นาย และได้รับบาดเจ็บ 1 นาย
ทั้งนี้ รถไฟที่ถูกคนร้ายลอบโจมตีเมื่อเย็นวันที่ 28 ส.ค. คือขบวนรถไฟที่ 447 สุราษฎร์ธานี-สุไหงโกลก เหตุเกิดขณะเคลื่อนขบวนออกจากสถานีบูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส มุ่งหน้าสถานีรถไฟไอสะเตียร์ ท้องที่ หมู่ 9 บ้านบือราแง ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง ทำให้ อส.สุทธิพงษ์ หิรัญบรรณ อายุ 36 ปี (อส.ประจำ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส) เสียชีวิต และ อส.อัสสุวัน เจ๊ะลาเต๊ะ อายุ 29 ปี (อส.ประจำ อ.สุไหงโก-ลก) ได้รับบาดเจ็บ
คนร้ายที่ก่อเหตุในครั้งนี้มีไม่ต่ำกว่า 20 คน ซุ่มอยู่ข้างรางรถไฟ โดยใช้อาวุธสงครามหลายชนิดยิงใส่ขบวนรถไฟ ทำให้ อส.รถไฟที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในตู้รองสุดท้ายของขบวนถูกยิงดังกล่าว โดยหลังก่อเหตุ นายแวยาโร๊ะ แวมายิ กำนัน ต.บูกิต ได้นำกำลัง อส.ประจำ อ.เจาะไอร้อง และ อส.ชุดคุ้มครอง ต.บูกิต ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่บ้านกำนัน ห่างจากสถานีรถไฟบูกิตประมาณ 200 เมตร รุดไปช่วยเหลือด้วย และเกิดการยิงปะทะกับกลุ่มคนร้ายระหว่างทางจนคนร้ายล่าถอยไป ไม่ทราบความสูญเสีย
การก่อเหตุดังกล่าวคาดว่าเป็นการตอบโต้ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เนื่องจากเมื่อวันเสาร์ที่ 25 ส.ค. เจ้าหน้าที่ อส.ประจำขบวนรถไฟขบวนเดียวกันนี้ได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่คนร้ายเสียชีวิต 1 ราย ขณะกำลังก่อเหตุยิง นายมามะ บือราเฮง อายุ 56 ปี ชาวบ้าน ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จนเสียชีวิต เหตุเกิดบริเวณหน้าสถานีรถไฟเจาะไอร้อง โดยคนร้ายที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุคือ นายอัมรี ดือรามะ อายุ 25 ปี ส่วนคนร้ายอีก 1 คนหลบหนีไปได้
ประสาน กอ.รมน.คุมเข้ม 12 จุดเสี่ยง-วางกำลัง 3 ชั้น
นายทนง พงษ์ประเสริฐ กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า สิ่งที่อยากสะท้อนถึงหน่วยงานภาครัฐก็คือ ขอให้ปรับเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยให้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่ล่อแหลมหรือพื้นที่เสี่ยง 12 จุดตลอดเส้นทางรถไฟ ตั้งแต่สถานีชุมทางหาดใหญ่ (อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา) จนถึงปลายทางสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
ล่าสุดได้ประสานงานให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จัดกำลังเข้าประจำการและลาดตระเวนตามจุดล่อแหลมซึ่งเคยกำหนดร่วมกันไว้อย่างเข้มงวด พร้อมทั้งได้กำชับให้เพิ่มความระมัดระวังเส้นทางถนนคู่ขนานกับเส้นทางรถไฟด้วย ส่วนความปลอดภัยบนขบวนรถนั้น ได้ปรับแผนโดยเน้นย้ำให้กำลัง อส.และตำรวจรถไฟที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันบนขบวนรถ 5-7 นายเพิ่มความรัดกุมและตื่นตัวในการปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น
"จุดที่เราต้องวางกำลัง มีทั้งจุดเฝ้าระวังและจุดล่อแหลมที่เป็นจุดเสี่ยง โดยการวางกำลังต้องวางตั้งแต่ก่อนที่ขบวนรถไฟจะผ่าน ระหว่างที่รถไฟผ่าน และบริเวณจุดเสี่ยง การก่อเหตุที่คนร้ายกระทำครั้งล่าสุดนั้น ชัดเจนว่าเป้าหมายคือเจ้าหน้าที่ แต่ถ้าคิดทำอีกก็จะส่งผลให้เสียมวลชน เพราะเวลาเกิดเหตุ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์มีผู้โดยสารรวมอยู่ด้วย ฉะนั้นทั้งทหารรถไฟ อส.รถไฟ ตำรวจรถไฟ พนักงานของการรถไฟเอง และประชาชนต่างมีโอกาสตกเป็นเป้าทั้งหมด" นายทนง ระบุ
หัวหน้าสำนักงานประจำการรถไฟศูนย์ภาคใต้ ร.ฟ.ท. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาก็มีการจัดวางกำลังรักษาความปลอดภัย แต่ด้วยความที่กำลังน้อย บริเวณที่เป็นชุมชนจึงใช้กำลังของภาคประชาชนเสริม โดยเปิดโอกาสให้แต่ละชุมชนได้ดูแลพื้นที่ ดูแลลูกหลานของตัวเอง แต่บางจุดก็กลายเป็นช่องว่างจนถูกก่อเหตุจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีเหมือนกัน
"การเกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้งส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของพนักงานการรถไฟอย่างแน่นอน ที่หวั่นเกรงคืออาจมีผลถึงขั้นหยุดเดินรถได้ในที่สุด ซึ่งหากถึงตอนนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือพี่น้องประชาชนที่ใช้บริการ จึงอยากให้พี่น้องผู้โดยสารทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตาแทนให้เจ้าหน้าที่ด้วย" นายทนง ระบุ
200 กิโลเมตร 27 สถานี 14 ขบวนท้องถิ่น - 8 ปีตกเป็นเป้าร้อยครั้ง
สำหรับเส้นทางรถไฟจากชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา ถึง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งหมายถึงเส้นทางรถไฟในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร 27 สถานี มีจุดล่อแหลมหรือจุดเสี่ยงรวม 12 จุด ส่วนใหญ่เป็นช่วงจากสถานียะลาถึงสถานีสุไหงโก-ลก (ผ่าน อ.รือเสาะ เจาะไอร้อง ระแงะ) รวมทั้งบริเวณที่เกิดเหตุล่าสุดด้วย เพราะเป็นพื้นที่ป่าเขา มีเนินสูง
จากการเก็บสถิติของการรถไฟศูนย์ภาคใต้ ร.ฟ.ท. พบว่า ช่วงเวลาที่เกิดเหตุรุนแรงกับรถไฟ หรืออาจเรียกว่าเป็นช่วงเสี่ยงเกิดเหตุมากที่สุดคือช่วงเช้าตรู่ เพราะมีรถให้บริการหลายขบวน เหตุการณ์ที่พบบ่อยที่สุดคือการลอบถอดหมุดรางรถไฟ รองลงมาเป็นช่วงเวลาเย็น ส่วนกลางคืนไม่มีการก่อเหตุ เพราะไม่มีการเดินรถ ส่วนรูปแบบการก่อเหตุ ได้แก่ ลอบถอดหมุดราง วางระเบิดราง ใช้อาวุธปืนยิงขบวนรถไฟ และยิงเจ้าหน้าที่บนรถไฟ
ปัจจุบันมีรถไฟให้บริการระหว่างสถานีชุมทางหาดใหญ่ถึงสถานีสุไหงโก-ลกทั้งขาขึ้นและขาล่องรวมทั้งสิ้น 22 ขบวน เป็นขาขึ้น 11 ขบวน ขาล่อง 11 ขบวน เป็นรถเร็ว 4 ขบวน รถด่วน 4 ขบวน และอีก 14 ขบวนเป็นขบวนรถท้องถิ่น โดยขบวนแรกออกจากสถานียะลาเวลา 06.30 น.มุ่งหน้าสถานีชุมทางหาดใหญ่ และจากสถานีชุมทางหาดใหญ่เข้ายะลา นอกจากนั้นยังมีขบวนรถจากสถานียะลาเข้าสถานีสุไหงโก-ลก 3 ขบวน และจากสถานีสุไหงโก-ลกเข้าสถานีชุมทางหาดใหญ่ 4 ขบวน
นายทนง กล่าวว่า ทุกครั้งก่อนที่รถไฟทุกขบวนจะออกให้บริการในเวลา 06.30 น. จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยบนขบวนรถและเส้นทาง โดยก่อนรถจะออกได้ต้องรอสัญญาณเคลียร์จากเจ้าหน้าที่ก่อน หากไม่เคลียร์หรือไม่ปลอดภัย 100% ก็จะไม่ปล่อยรถออก แม้จะทำให้รถเสียเวลาบ้างก็ต้องยอม
สำหรับภาพรวมการก่อเหตุรุนแรงที่พุ่งเป้าต่อขบวนรถไฟและบุคลากรของรถไฟ นับจากปี 2547 ถึงปี 2555 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นแล้วประมาณ 100 ครั้ง ทั้งที่เป็นเหตุเล็กๆ น้อยๆ เช่น ถอดหมุดราง หรือเหตุใหญ่ๆ เช่น ลอบวางระเบิด ซุ่มโจมตี และทำร้ายเจ้าหน้าที่รถไฟ
"ปี 2551-2552 เป็นปีที่รถไฟถูกโจมตีบ่อยที่สุด และบางครั้งเคยก่อเหตุมากถึง 20 จุด แต่หลังจากปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีการก่อเหตุโจมตีรถไฟลดน้อยลงจากช่วงหลายปีก่อนอย่างชัดเจน" นายทนง ระบุ
พบปลอกกระสุนกว่าร้อย - รวบ 1 ผู้ต้องสงสัย
ก่อนหน้านั้น ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารออกเดินเท้าตรวจสอบความเรียบร้อยเส้นทางรถไฟเป็นจุดๆ โดยเน้นจุดเสี่ยงที่เคยถูกกลุ่มก่อความไม่สงบยิงถล่มขบวนรถไฟในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง อ.ระแงะ และ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่การรถไฟและประชาชนที่ใช้บริการ รวมทั้งป้องกันการก่อเหตุซ้ำ ส่วนขบวนรถที่ถูกคนร้ายยิงถล่ม ได้จอดเทียบชานชลาอยู่ที่สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานเข้าเก็บหลักฐานทางคดี
สำหรับความคืบหน้าทางคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และทหารพราน รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐาน และชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด ได้นำกำลังไปตรวจจุดเกิดเหตุที่หมู่ 9 บ้านบือราแง ต.บูกิต พบปลอกกระสุนปืนสงครามตกเกลื่อนในป่ารกทึบริมทางรถไฟรวม 3 จุด ทั้งปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 และอาก้า จำนวนกว่า 100 ปลอก จึงเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน
นอกจากนั้นจากการปูพรมตรวจค้นพื้นที่โดยรอบ สามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 1 ราย เป็นพี่ชายของนายอัมรี ดือราแม ที่ถูก อส.รถไฟยิงเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่ 25 ส.ค. ขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ซักถาม กองบังคับการกรมทหารพรานในพื้นที่
ทหารพรานลาดตระเวนเจอเด็กเสพกระท่อมอีก
ด้านผลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง วันอังคารที่ 28 ส.ค.เวลา 08.00 น. ชุดปฏิบัติการลาดตระเวนเพื่อรักษาความปลอดภัยเส้นทางของหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ได้ออกปฏิบัติหน้าที่ในท้องที่บ้านบลูกาสนอ หมู่ 4 ต.ตะปอเยาะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส และพบร่องรอยการขุดหลุมเพื่อตัดสายไฟฟ้าของเสาไฟส่องสว่างริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ทำให้สายไฟฟ้าได้รับความเสียหายเป็นระยะทางประมาณ 200 เมตร เบื้องต้นได้ประสานแจ้งให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าซ่อมแซมแก้ไขต่อไป คาดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดยาเสพติดที่ต้องการนำสายไฟไปขาย
ส่วนที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่จากกองร้อยทหารพรานที่ 4405 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ได้ออกลาดตระเวนจรยุทธ์ในพื้นที่ ต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อถึงบ้านไสพญา หมู่ 7 ต.บ้านกลาง พบกลุ่มวัยรุ่นกำลังมั่วสุมกันอยู่ เมื่อหันมาเห็นเจ้าหน้าที่จึงพากันวิ่งหลบหนีไป ตรวจสอบบริเวณดังกล่าวพบพืชกระท่อมสดจำนวน 7 มัด น้ำหนัก 3 กิโลกรัม พร้อมน้ำกระท่อมที่ต้มแล้วประมาณ 20 ลิตร และยาแก้ไออีก 3 ขวด เจ้าหน้าที่จึงได้เผาทำลายสิ่งของดังกล่าวทั้งหมด
"ยุทธศักดิ์"มาแล้ว...เน้นความเป็นไทยดับไฟใต้!
ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัตการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำโครงสร้าง ศปก.จชต.ว่า เบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่าจะส่งข้อพิจาณาให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก่อนจะรายงานมายังตนอีกครั้ง
ทั้งนี้ ในวันที่ 30 ส.ค. เวลา 10.00 น. จะเรียกประชุมสรุปงานทั้งหมดที่ได้ทำมาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีเรื่องใดบ้างที่สำคัญและยังไม่ได้ทำหรือยังอ่อนไป รวมไปถึงการเพิ่มความเข้มแข็งในอีกหลายเรื่องด้วย ซึ่งได้จดไว้หลายเรื่อง เช่น เน้นเรื่องความเป็นไทย และจะต้องพูดกับประชาชนในพื้นที่ว่า "ทุกคนเป็นคนไทย"
"สำหรับ ศปก.จชต.นี้ เมื่ออนุมัติแล้วต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่แล้วและไม่เข้าใจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าองค์กรนี้เป็นองค์กรสนับสนุนช่วยเหลือและประสานงานเชื่อมต่อ เวลานี้เรามีช่องว่างที่ขาดการเชื่อมโยง เราเห็นแล้วมันไม่มีหน่วยงานใดไปช่วยเชื่อมโยง จึงต้องตั้ง ศปก.จชต.ให้เป็นรูปธรรมเพื่อการเชื่อมโยง มองภาพเหมือนว่านายกรัฐมนตรีอยู่ข้างบน ขาข้างหนึ่งอยู่ที่ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) อีกข้างหนึ่งอยู่ที่ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่ขาในตอนนี้ตาตุ่มไม่ได้ชิดกัน ทำให้ไม่เดินในจังหวะเดียวกัน ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ขาสองข้างที่ถ่างอยู่มาชิดกัน ตาตุ่มอยู่ข้างๆ กัน และเดินไปด้วยกัน ตรงนี้คืองานของ ศปก.จชต." รองนายกรัฐมนตรี ระบุ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ข่าวเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ ศปก.จชต. เอื้อเฟื้อโดยสำนักข่าวเนชั่น
หมายเหตุ : ภาพรถไฟจากแฟ้มภาพอิศรา (ถ่ายโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์ และ อับดุลเลาะ หวังหนิ)