รู้จริงก็แค่ 'บริหารน้ำในตู้ปลา' สมิทธลั่นไม่เชื่อมือคนปลอดประสบการณ์
วงเสวนาแฉเบื้องหลังน้ำท่วม’54 สับเละนักการเมืองอวดรู้-เอาคนปลอดประสบการณ์ จบคณิตฯ-ประมงร่วมทีมบริหารน้ำ 'ธีระชน' บอกหมดความอดทน 'กูรู กูรู้' แถลงด่า ครูบาอาจารย์
วันที่ 29 สิงหาคม สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน คณะอนุกรรมการตรวจสอบด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และสถาบันนโยบายศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จัดเสวนา “แฉน้ำท่วมปี 54 ถึงผลาญงบ 3.5 แสนล้าน: ผิดพลาดหรือตั้งใจ” ที่ มก.
ดร.ปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงเหตุการณ์อุกทกภัยปีที่ 2554 ว่า เป็นภัยพิบัติที่ติดระดับโลก ซึ่งนักวิเคราะห์ระดับสากลประเมินเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างเป็นกลางว่า น้ำท่วมเกิดจากบริหารจัดการที่อ่อนแอ ขาดการเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้า ฉะนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีสาเหตุโดยตรงมาจากรัฐ แต่คงไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความผิดเฉพาะของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง
ส่วนสถานการณ์น้ำในปีนี้ นายปริญญา กล่าวว่า เมื่อรัฐมีอำนาจอยู่ในมือจะต้องทำให้ประชาชนรู้สึกดี มีความมั่นใจ แต่ถึงขณะนี้แม้จะมีผู้บริหารประเทศบางท่านออกมาระบุว่า น้ำอาจจะท่วมบ้างในบางพื้นที่ และคงไม่ท่วมขังนานเท่าปีที่แล้ว แต่ประชาชนก็ยังรู้สึกเสียว ขาดความมั่นใจ เพราะไม่แน่ใจว่าสิ่งที่พูดจะเป็นการโกหกสีขาว (white lie) อย่างที่กำลังฮิตอยู่ในขณะนี้หรือไม่
“ขณะที่การบริหารจัดการน้ำที่ดีนั้น ตนมองว่าไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาก ตัวอย่างเห็นได้ปีก่อน กรณีที่น้ำจะเข้าท่วมถนนพระราม 2 ประชาชนได้ร่วมมือกับสมาชิกวุฒิสภาบางรายช่วยกันลอกคูคลอง ติดเครื่องผลักดันน้ำ ผลคือทำให้พระราม 2 รอดจากการถูกน้ำท่วมมาได้เช่นกัน” นายปริญญา กล่าว
ด้าน ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ว่า ในช่วงนั้นตนยอมรับว่ามีอารมณ์ที่เหลืออด เพราะพื้นที่ทางด้านฝั่งตะวันออกของ กทม. ที่ควรผันน้ำเข้าไปนั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรปราการห้ามไม่น้ำเข้าไปในพื้นที่ ขณะเดียวกันพบว่าเครื่องสูบน้ำไม่ได้เปิดใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้พื้นที่ดอนต้องกลายเป็นที่รับน้ำ จังหวัดที่ไม่ควรถูกน้ำท่วม อย่างนนทบุรี กรุงเทพ บางบัวทอง และปริมณฑล น้ำกลับท่วม
“การบริหารน้ำล้มเหลว เพราะเอาคนที่ไม่รู้เรื่องน้ำ จบคณิตศาสตร์ จบประมงมาบริหาร ซึ่งเรื่องนี้ตนจำเป็นต้องพูดเพราะทนไม่ได้ที่คนปลอดประสบประการณ์จะมาด่า ครูบาอาจารย์ คนที่มีความรู้จบวิศวกรรมแหล่งน้ำ เป็นวุฒิวิศวกร ที่สามารถให้คำปรึกษา มีใบประกอบวิชาชีพ”ดร.ธีระชน กล่าว และว่า ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำนั้น นักการเมืองไม่ควรอวดรู้ แต่ตนไม่เข้าใจว่า ทำไมนักการเมืองสมัยนี้กลับทำตัวเป็น 'กูรู กูรู้' ไปหมด
กบอ. ขาดคนรู้จริงร่วมทีมบริหารน้ำ
ขณะที่ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาภัยธรรมชาติในอนาคตว่า ต่อไปจะมีสาเหตุมาจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งขณะนี้มีผลการศึกษาของจากคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ “ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ออกมาเตือนแล้วว่า ในอีกประมาณ 8-9 ปีข้างหน้า จะเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 เมตร ซึ่งกรุงเทพฯ มีความเสี่ยง และหากน้ำท่วมจริงถามว่าคนกรุงเทพฯ 11 ล้านกว่าคนจะไปอยู่ที่ไหน โรงพยาบาล โรงเรียนจะทำอย่างไร ฉะนั้นเมื่อบ้านเมืองมีวิบัติภัยที่รุนแรงอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้มาทะเลาะกัน โทษกันอยู่เช่นนี้ น่าจะมาร่วมกันคิดเตรียมการณ์มากกว่า
ส่วนเรื่องการบริหารจัดการน้ำนั้น ดร.สมิทธ กล่าวว่า เมื่อสถาบันต่างๆ ออกมาวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า สภาวะโลกร้อน ทำให้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงจำเป็นที่ผู้บริหารน้ำจะต้องมีประสบการณ์ มีข้อมูลความรู้ในการบริหารน้ำอย่างลึกซึ้ง แต่ปรากฏว่าในช่วงที่ตนได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการ กยน. ได้เคยเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้เพิ่มเติมอีกหลายคน แต่ไม่เคยได้รับความสนใจ และถ้ามองคณะกรรมการ กบอ. ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธานอยู่ในขณะนี้ ก็จะพบว่าไม่มีนักวิชาการด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารน้ำร่วมอยู่ในคณะทำงานดังกล่าว
“การบริหารน้ำของรัฐบาลขณะนี้ พูดตรงๆ ผมไม่มีความเชื่อถือ เพราะเอาคนที่ไม่มีความรู้มาบริหาร ที่พอมีความรู้จริงก็แค่บริหารน้ำในตู้เลี้ยงปลา และถึงแม้จะมี ดร.รอยล ร่วมทีมอยู่ด้วย ดร.รอยลก็มีความรู้เรื่องทางคณิตศาสตร์ ไม่ได้มีความรู้เรื่องการบริหารน้ำ” ดร.สมิทธ กล่าว
บ.ยุโรป รบ.ไทยไม่ให้ความสนใจ เหตุให้ใต้โต๊ะยาก
ส่วนสถานการณ์น้ำในปีนี้นั้น ดร.สมิทธิ กล่าวว่า อย่าพึ่งประมาณ ต้องติดตามสถานการณ์ถึงช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม หากใน 2 เดือนนี้ไม่มีพายุเข้าโดยตรง ถึงจะวางใจได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ แต่อาจจะมีน้ำท่วมขังบ้างเป็นหย่อมๆ ในบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้นั้นโดยธรรมชาติแล้ว ถ้าพายุไม่ขึ้นเหนือก็จะลงใต้ พื้นที่ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ยังคงต้องระมัดระวัง เพราะหากเกิดพายุขึ้นที่ปลายแหลมยวน จะวิ่งเข้ามาที่อ่าวไทยแน่นอน
ดร.สมิทธ ยังกล่าวถึงแผนการบริหารน้ำอย่างยั่งยืนของรัฐบาล ภายใต้วงเงินงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทด้วยว่า เมื่อรัฐบาลประกาศทีโออาร์ออกไป ก็มีเสียงร้องเรียนจากประเทศในแถบภาคพื้นยุโรปว่า ดูท่าทีรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับแนวทางบริหารจัดการน้ำของประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีมากกว่า ทั้งที่ประเทศเหล่านี้ยังเอาตัวไม่รอด ญี่ปุ่นยังพบปัญหาน้ำท่วมเสียหายหนัก ต่างจากประเทศแถบยุโรป อย่างเช่นเนเธอร์แลนด์ ที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างเขื่อน ป้องกันน้ำท่วมน้ำหนุน แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งตัวแทนจากกลุ่มประเทศยุโรปก็อ้างเหตุผลและมองว่า การที่แนวคิดเรื่องการบริหารจัดการน้ำของประเทศแถบยุโรป ไม่ได้รับความสนใจ เป็นเพราะการจ่ายค่าคอมมิชชั่นในกลุ่มประเทศเหล่านี้ทำได้ค่อนข้างยากลำบาก ต้องมีการลงรายละเอียดในบุ๊กทุกครั้ง ขณะที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น ไม่ต้องดำเนินการในลักษณะดังกล่าวฯ
แนะปลูกป่าพื้นที่วิกฤต เหนือเขื่อนสิริกิติ์-เขืื่่อนภูมิพล
ส่วนนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวตั้งข้อสังเกตถึงแผนการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทว่า ทั้งที่บางโครงการเช่น เขื่อนแม่วงก์ ยังไม่ได้มีการส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่รายชื่อบรรจุอยู่ในแผนงาน เช่นเดียวกับเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่มีข้อถกเถียงกันมายาวนาน ทำให้มองได้ว่าแผนงานนี้ดึงโครงการต่างๆมาใส่ไว้ เพื่อให้มีโครงการเต็มวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทหรือไม่ อย่างไร
ขณะที่แผนในเรื่องการปลูกป่าต้นน้ำนั้นปลูกป่า ในฐานะผู้ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ป่าย่อมอยากเห็นพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นทั่วประเทศอย่างแน่นอน แต่เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องน้ำ เห็นว่า ควรเข้าไปปลูกป่าในพื้นป่าในพื้นที่จังหวัดน่าน และตากก่อนเพราะป่าไม้ในพื้นที่ดังกล่าวลดลงเข้าขั้น ซึ่งเมื่อน้ำมาก็จะไม่มีช่วยชะลอน้ำที่จะไหลลงเขื่อนใหญ่ อย่างเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล พร้อมกันนี้ระบุว่าถ้ารัฐบาลมองเห็นปัญหาดังกล่าว เชื่อว่าเงินที่ใช้ในเรื่องการปลูกป่าจะคุ้มยิ่งค่ามากขึ้น