วิศวกรห่วงเสียค่าโง่ทีโออาร์น้ำ ล่มเหมือนตอม่อโฮปเวล แนะถอยหนึ่งก้าวปรับใหม่
วิศวกรอาวุโสห่วงเสียค่าโง่ ทีโออาร์น้ำ 3.5 แสนล้านเหมือนเสาโฮปเวล ชี้เกณฑ์ประมูลไม่ชัด เอื้อบริษัทใหญ่ ติงหมดยุครวมศูนย์กบอ. แนะตั้งสถาบันวิจัยน้ำ เสนอรบ.ถอยหนึ่งก้าวปรับทีโออาร์ใหม่
วันที่ 29 ส.ค. 55 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “หลักการและขั้นตอนที่ถูกต้องของการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ” ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง หรือทีโออาร์ (TOR) ในโครงการเสนอกรอบแนวคิด(Conceptual Plan) เพื่อออกแบบโครงสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบการแก้ไขปัญหาอุทกภัย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ผ่านมามีข้อวิพากษ์ที่น่าเป็นห่วงหลายประเด็น อาทิ ไม่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาผู้เสนอยื่นข้อเสนอที่แน่ชัด ทั้งการกำหนดคุณสมบัติก็เน้นเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้รับเหมารายใหญ่ ถือเป็นการมุ่งแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้วยการก่อสร้างมากกว่าการวางแผน, ขาดรายละเอียดที่ชัดเจนครบถ้วน มีความขัดแย้งกันเองในจุดประสงค์กับรายละเอียดในการดำเนินการ, ขาดการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) หรือ SEA และยังข้ามขั้นตอนการศึกษาลุ่มน้ำทั้งระบบอีกด้วย
นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญ คือ รัฐบาลไม่มีการสรุปบทเรียนการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลวในปีที่ผ่านมา โดยควรศึกษาจากบทเรียนก่อนแล้วเพิ่มเติมองค์ประกอบต่างๆเข้าไป มิเช่นนั้นโครงการดังกล่าวก็ไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำที่ถูกต้องและยั่งยืนได้ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมุ่งหวังเพียงให้เกิดโครงการ แต่ไม่ได้คำนึงถึงความสำเร็จ โดยมีความน่ากังวลว่าโครงการบริหารจัดการน้ำงบ 3.5 แสนล้าน อาจล้มเหลวเหมือนโครงการทางด่วนโฮปเวล
ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า หากบริษัทที่ประมูลได้ไม่สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จด้วยติดอุปสรรคต่างๆ เช่น การไม่ร่วมมือจากชุมชน หรือ โครงการไม่ผ่านการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ (EIA) ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลขาดการศึกษาผลกระทบในมิติต่างๆ รัฐบาลอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ประชาชนก็จะกลายเป็นผู้แบกรับภาระในที่สุด
นอกจากนี้ในเวที นักวิชาการยังให้ความเห็นต่อแผ่นแม่บทในการบริหารจัดการน้ำที่ระบุในทีโออาร์ว่า ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและขาดการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานหลายๆภาคส่วนเข้าด้วยกัน โดยแผนแม่บทที่ดีควรครอบคลุมการบริหารจัดการน้ำทุกด้านไม่เพียงแต่ด้านอุทกภัย แต่ควรเพิ่มเติมส่วนของภัยแล้งและน้ำเสียด้วย ทั้งนี้เห็นว่าการที่มีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เป็นศูนย์บริหารจัดการน้ำที่บริหารงานแบบรวมศูนย์บังคับบัญชา หรือ Single Command Authority ไม่มีความจำเป็นเนื่องจากพ้นช่วงวิกฤตอุทกภัยมาแล้ว ควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานน้ำที่มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่เดิม เช่น กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ เข้ามาร่วมบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการบูรณาการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกันมีคำถามจากนักวิชาการต่อโครงการดังกล่าวว่า งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทนั้นรวมการดำเนินงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ ค่าชดเชยแก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการแล้วหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลควรให้รายละเอียดในการดำเนินงานมากกว่านี้เพราะเป็นโครงการระดับประเทศส่งผลกระทบต่อประชาชน
ในเวทีนักวิชาการได้ให้ข้อเสนอต่อรัฐบาลในประเด็นดังกล่าวว่า รัฐบาลควรถอยหลังหนึ่งก้าว พิจารณาและปรับปรุงรายละเอียดต่างๆในทีโออาร์ให้รอบด้านเสียก่อน โดยระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชนและนักวิชาการให้มีส่วนร่วม ดำเนินการเร่งด่วนในแผนงานจัดการน้ำระยะสั้น 2-3 ปีซึ่งเป็นโครงการที่ทำได้ทันทีและไม่ก่อก็ให้เกิดผลกระทบหรือผิดกฎหมายก่อน แล้วแยกโครงการในแผนระยะยาว เช่น การสร้างเขื่อน ซึ่งต้องมีการศึกษาให้ละเอียดรอบคอบออกมา นอกจากนี้อาจแบ่งงบประมาณเพื่อจัดตั้งสถาบันวิจัยเรื่องการบริหารจัดการน้ำขึ้นโดยตรง และตั้งหน่วยงานเพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลเรื่องทรัพยากรและน้ำขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
โดยต่อจากนี้จะมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการในโอกาสต่อไป เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารน้ำที่ยั่งยืนเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กบอ.ได้เสนอปรับหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง หรือทีโออาร์ บริษัทเอกชน 395 ราย โดยปรับลดหลักเกณฑ์ประสบการณ์ทำโครงการที่เคยทำให้ภาครัฐเป็นมูลค่าไม่ต่ำ กว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าโครงการต่อ 1 โครงการ จากเดิมกำหนดที่เคยวางไว้สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่จะต้องมีประสบการณ์ทำ โครงการให้ภาครัฐไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท และไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ของผู้ประกอบการทั่วไป โดยขยายระยะเวลาการตรวจสอบรายละเอียดการยื่นเอกสารทั้งหมดของทีโออาร์ จาก 24ส.ค. 55 เป็นวันที่ 24 ก.ย. 55