'ปราโมทย์' เปิดตำราสอนคิดจัดการน้ำ ต้องทำ 2 มิติ เหมือนก้าวข้ามท้องร่อง
'ปราโมทย์' ไม่ติดใจ 'ปลอดประสพ' แถลงข่าวอัด ยันเรื่องที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ต้องตอบอย่างตรงไปตรงมา แนะบริหารจัดการน้ำเชื่อแค่พยากรณ์-แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ไม่ได้ ต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ดูสภาพความเป็นจริงประกอบ
วันที่ 29 สิงหาคม ดร.ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในเวทีเสวนา "แฉน้ำท่วมปี 54 ถึงผลาญงบ 3.5 แสนล้าน: ผิดพลาดหรือตั้งใจ" ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ว่า เป็นเหตุการณ์ที่สังคมไทยต้องจดจำไว้ให้แม่นยำ เพื่อต่อไปจะได้บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เนื่องจากในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวพบว่า หน่วยงานภาครัฐยังคงใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์ลมฟ้าอากาศปกติ ทั้งที่ในช่วงดังกล่าวอยู่ในสถานการณ์วิกฤต แต่เรื่องนี้คงไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นความผิดพลาดของใคร เพราะต้องยอมรับสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นเรื่องที่รับมือไม่ไหวจริงๆ อีกทั้งสิ่งก่อสร้าง โครงสร้างต่างๆ ที่ได้จัดทำไว้ขาดการดูแล ประการสำคัญคือ ขาดแม่ทัพในการทำสงครามกับน้ำ ทำให้เกิดความโกลาหลกันไปหมด
ดร.ปราโมทย์ กล่าวถึงประเด็นเรื่องน้ำในสังคมไทยขณะนี้ เป็นเรื่องที่ยังเถียงกันไม่จบ ซึ่งตนมีความเห็นว่า การบริหารแบบ single command นั้นเหมาะกับสถานการณ์ในช่วงวิกฤตเท่านั้น ส่วนสถานการณ์ปกติการบริหารแบบ single command นั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากต้องการข้อมูล การระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ใช่การสั่งการเหมือนที่เป็นอยู่ ทีโออาร์ที่ออกมาจึงมีกรอบกว้างอย่างกับทะเล หนาเป็นปึ๊ง แต่อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง
"ผมพูดอยู่ตลอดว่า การที่จะทำอะไรนั้นต้องมีศึกษา วางแผนให้ดี คิดให้ละเอียดรอบคอบ ที่สำคัญการดำเนินการทุกอย่างต้องทำตามรัฐธรรมนูญจะลากจอบลากเสียมไม่ได้ และแม้จะเข้าใจได้ว่าทุกรัฐบาลมีความใจร้อน แต่ไม่ใช่ว่าจะพูดแต่เรื่องงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทอย่างเดียว"
จากนั้น นายปราโมทย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมถึงกรณีที่นายปลอดประสพ แถลงข่าววิพากษ์การแสดงความเห็นของตนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลว่า ตนไม่ได้ติดใจเรื่องนี้แต่อย่างใด นายปลอดประสพมีความตั้งใจดี แต่อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน สิ่งที่ตนต้องการนำเสนอคือเรื่องวิกฤตน้ำขาดแคลน ไม่ใช่ภัยแล้ง ยืนยันว่าจากการทำงานของตนเป็นเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เชื่อว่าสิ่งที่ตนพูดไม่ได้ผิดเช่นกัน
"การบริหารจัดการน้ำนั้นจะเชื่อแต่การพยากรณ์ หรือแบบจำลองทางคณิตศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และดูสภาพความเป็นจริงประกอบไปพร้อมๆกัน ขณะเดียวกันการบริหารจัดการน้ำต้องทำแบบสองมิติ เปรียบเหมือนกับการก้าวข้ามท้องร่อง ขาหนึ่งก้าวไปแล้ว อีกข้างหนึ่งยังต้องยันหลังไว้ ไม่ได้ระบายน้ำทิ้งตูมแบบสุดโต่ง ไม่มีเหตุผล ไม่เช่นนั้นจะเกิดวิกฤตน้ำขาดแคลน ในพื้นที่ที่ไม่ควรเกิด รวมถึงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้" นายปราโมทย์ กล่าว และว่า ในเรื่องการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำขาดแคลนนั้น สามารถแก้ไขได้ หากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี เพราะประเทศไทยมีของ มีต้นทุนน้ำอยู่แล้ว
ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าตนเล่นการเมือง ไม่ยอมพูดในที่ประชุมนั้น นายปราโมทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในที่ประชุม กยน ตนก็มีการเตือนมาโดยตลอดว่า ให้มีการศึกษา ทำแผนที่ชัดเจน จนถูกมองว่าเป็นฝ่ายค้าน แกะดำ โดยเฉพาะในการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการ กยน. ซึ่งมี ดร. ปลอดประสพ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานแทนนายกฯ ตนก็ได้แจ้งต่อที่ประชุมครั้งนั้นแล้วว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ มีหลายเรื่องที่ประชาชนสงสัย รัฐบาลต้องตอบคำถาม ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ แต่ไม่มีใครตอบ ซึ่งเมื่อมีประชาชน สื่อมวลชนมาถามตนจึงจำเป็นต้องตอบ จะให้บอกว่า ไม่รู้ได้อย่างไร ขณะที่ในเรื่องที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ต้องตอบอย่างตรงไปตรงมา จะให้บอกว่ารัฐบาลทำดีแล้วครับ นายปราโมทย์จะเป็นคนอย่างนั้นได้อย่างไร
"เขาเป็นเสนาบดีผมเข้าใจ ผมเป็นใคร ผมเป็นภาคประชาชนแล้ว ผมไม่มีสิทธิ์พูดหรืออย่างไร การให้ข้อมูลต่างๆ ก็ว่ากันไปตามข้อเท็จจริง ส่วนการตัดสินใจจะเป็นอย่างไรนั้นสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับประชาชนที่ได้รับฟังข้อมูลหลากหลายช่องทาง"