เดินเครื่องโอทอป หวังติดโลโก้ของฝากไทยลุยอาเซียน ฟื้นศูนย์กระจายสินค้า
เลือกสนามหลวง 2 เป็นศูนย์กระจายโอทอปทั่ว ปท. เปิดช่องทางขาย รฟท. นำร่องข้าวยำปักษ์ใต้-ข้าวซอยเหนือ เริ่ม ต.ค. 55 มุ่งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ติดโลโกของฝากไทยลุยตลาดอาเซียน
นายประภาส บุญยินดี อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอป ว่า ในปี 2555 นี้กรมพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีในการสนับสนุนยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันและเติบโตในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยหนึ่งในนั้นคือการสร้างศูนย์กระจายสินค้าโอทอป ซึ่งทางกรมฯ ได้เลือกพื้นที่บริเวณตลาดนัดธนบุรีหรือสนามหลวง 2 เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าโอทอปไปทั่วประเทศ ซึ่งการเลือกพื้นที่ดังกล่าว เพราะมีความเหมาะสมในการขนส่งสินค้าไปตามจุดต่างๆ และสนามหลวง 2 ยังเป็นแหล่งชอปปิ้งที่มีคนมากถึงหลักแสนในช่วงเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งอนาคตถ้าไปได้ดีจะมีโครงการเปิดขายหน้าร้านด้วย
นอกจากนี้กรมพัฒนาชุมชนยังทำข้อตกลงกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเปิดช่องทางการขายสินค้าใหม่ให้กับกลุ่มโอทอปในภูมิภาค เป็นความคิดของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้นำผลิตภัณฑ์อาหารเด่นของแต่ละจังหวัดมาปรับในเรื่องของบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สะดวกต่อการรับประทานระหว่างการเดินทางและนำมาวางขายตามสถานีรถไฟต่างๆ เช่น ข้าวยำของภาคใต้ ขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้าวซอยไก่ของภาคเหนือ คาดว่าทั้งสองโครงการ จะเริ่มได้ไม่เกินเดือน ต.ค.นี้
สำหรับการผลักดันผลิตภัณฑ์โอทอปเข้าสู่ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มุ่งไปที่การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เช่น การออกแบบดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัย เพื่อยกระดับสินค้าให้เหมาะกับการเป็นของฝากจากประเทศไทย
เร็ว ๆ นี้ นายวีระศักดิ์ ประภาวัฒน์เวช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ยังกล่าวใน “งานสัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพกรรมการเครือข่ายโอทอป” ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการโอทอปขาดการเชื่อมโยงทางการตลาดที่เป็นระบบ และขาดการบริหารจัดการที่ดี และมักถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ จึงมีความไม่ยั่งยืน นอกจากนี้การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าแต่ละจังหวัดนั้น ซึ่งตั้งแต่ปี 2549 จัดตั้งไปแล้ว 475 ศูนย์ ใช้งบประมาณกว่า 6 พันล้าน ซึ่งประสบความล้มเหลว แต่จะเร่งฟื้นโครงการดังกล่าวขึ้นมา
และเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 การตั้งกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการโอทอปตามประเภทผลิตภัณฑ์ 5 กลุ่ม ได้แก่ อาหาร ผ้า ของใช้เครื่องประดับ น้ำดื่ม และสมุนไพร จะสามารถจัดการปัญหาของผู้ประกอบการโอทอปได้ รวมทั้งจะมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.เครือข่ายโอทอป ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาถึงความเป็นไปได้.