คปก. ดันร่างพรบ.สิทธิชุมชน ปิดช่องโหว่รัฐละเลยสิทธิชาวบ้าน
คปก.ดันร่างพรบ.สิทธิชุมชนเข้าสภาสมัยหน้า ปิดช่องโหว่รัฐ-ศาลไม่แลสิทธิชาวบ้าน ถกขอบเขตประโยชน์สาธารณะ ชาวบ้านหวั่นกม.ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
28 ส.ค. 55 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชนพ.ศ....” ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า ควรให้ความสำคัญกับพ.ร.บ. สิทธิชุมชน เพราะแท้จริงสิทธิชุมชนเกิดก่อนรัฐไทย จะเห็นว่าหลังจากปี2540 มีการขับเคลื่อนการใช้สิทธิชุมชนเพิ่มมากขึ้นและภาคประชาชนมีความพยายามผลักดันกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีล่าสุด เช่น ปัญหาโฉนดชุมชน รวมถึงเรื่องเขตวัฒนาธรรมพิเศษของชาติพันธ์เพื่อรับรองสิทธิชุมชน แต่พบว่ารัฐยังเพิกเฉย
รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า มีข้อสังเกตต่อเรื่องสิทธิชุมชน คือ 1.แม้รัฐธรรมนูญ 2550 จะบัญญัติสิทธิของชุมชนไว้ในมาตรา 66, 67 อยู่แล้ว แต่ไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียดว่า อะไรคือสิทธิชุมชน 2.มาตรา 303 ระบุว่าต้องตรากฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 50 ภายใน 1 ปีขณะนี้ผ่านมาแล้ว 5 ปี รัฐบาลก็ยังไม่มีการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว 3.ความมุ่งหมายของกฎหมายฉบับนี้ต้องการให้ระบบกฎเกณฑ์มีความหลากหลาย โดยไม่จำกัดว่าเฉพาะกฎเกณฑ์ของรัฐเท่านั้นที่นำไปสู่การบังคับใช้ แต่กฎกติกาของชาวบ้านที่ใช่ร่วมกันก็ควรที่จะบังคับใช้ได้ด้วย
ด้านนายศักดิ์ณรงค์ มงคล เลขานุการกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวนำเสนอหลักการเบื้องต้นของร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชุนโดยแบ่งเป็น 6 เรื่อง ได้แก่1.ความหมายและประเภทของชุมชน นิยามความหมายของชุมชนจากลักษณะพื้นฐาน เช่น กลุ่มคนอาศัยที่ร่วมกันภายใต้กฎเกณฑ์ทางจารีตประเพณี หรือ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีร่วมกัน โดยแบ่งชุมชนเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ชุมชน (รวมถึงชุมชนเกิดใหม่ เช่น หมู่บ้านจัดสรร) ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม 2.ประเภทของสิทธิชุมชน เช่น ชุมชนมีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจในคำสั่งของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรชุมชน หรือ มีสิทธิได้รับคำชี้แจงจากรัฐก่อนดำเนินโครงการใดๆในพื้นที่ 3.ผู้ทรงสิทธิชุมชน ประกอบด้วยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนพิทักษ์ประโยชน์ชุมชน
4.การใช้สิทธิชุมชน โดยต้องมีฐานแห่งสิทธิรองรับ เช่น จารีตประเพณี หรือ ฐานความสัมพันธ์ทางธรรมชาติระหว่างบุคคล ส่วนการลำดับความสำคัญสิทธิควรพิจารณาโดยคำนึงหลักประโยชน์สาธารณะก่อน แต่หากการกระทำใดๆส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชุมชนก็ให้คำนึงถึงสิทธิชุมชนเป็นสำคัญ 5.กลไกพิเศษเพื่อการร่วมจัดการ บำรุงรักษา ใช้ หรือได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และ 6.กลไกการระงับข้อพิพาท โดยคำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวทีการประชุมมีประเด็นสำคัญซึ่งได้รับความสนใจอย่างยิ่ง คือ จะทำอย่างไรเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์สิทธิชุมชน โดยที่ประชุมแสดงความเห็นร่วมกันว่า ที่ผ่านมารัฐมักละเลยประโยชน์ของชุมชนโดยอ้างประโยชน์สาธารณะ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนได้รับความเดือดร้อนและไม่อาจเรียกร้องสิทธิของตนได้ จึงมีการเสนอให้รัฐใช้หลักดุลยภาพในการรักษาสิทธิประโยชน์ทั้งสองไว้ หากพบว่าการกระทำใดๆละเมิดสิทธิชุมชนก็ควรหลีกเลี่ยง หรือหากมีความจำเป็นต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะจริง ก็ควรเยียวยาช่วยเหลือชุมชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นอกจากนี้ยังที่ประชุมยังมีข้อเสนอต่อร่างกฎหมาย เช่น ควรเสริมการให้ความรู้เรื่องสิทธิชุมชนแก่ชาวบ้าน, มีกองทุนสนับสนุนเพื่อการรักษาสิทธิชุมชน โดยยังมีข้อสงสัย เช่น นิยามของชุมชนรวมถึงคนสัญชาติอื่นที่มาอาศัยในไทยด้วยหรือไม่ หรือ มีกระบวนการใดที่ชุมชนสามารถเข้าไปร่วมจัดการทรัพยากรได้จริง
ด้านนางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า มีความกังวลด้านการบังคับใช้ว่ากฎหมายฉบับนี้อาจถูกตีไปในทางตรงกันข้ามกับเจตนารมที่จะพิทักษ์สิทธิชุมชน กลายเป็นเครื่องมือของรัฐหรือผู้มีอำนาจเสียเองอย่างที่ผ่านมา เช่น หากเกิดความขัดแย้งในชุมชน ฝ่ายหนึ่งต้องการให้มีการดำเนินโครงการของรัฐ แต่อีกฝ่ายต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ รัฐอาจเลือกรองรับสิทธิชาวบ้านฝ่ายที่สนับสนุนรัฐ โดยละเลยสิทธิชาวบ้านอีกส่วนไป จึงควรมีการกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนว่าเจตนาของสิทธิของชุมชนคืออะไร เพื่อทำลายหรือพิทักษ์ธรรมชาติ
นายไพโรจน์ ยังเปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ถึงเหตุที่ต้องเร่งผลักดันร่างกฎหมายนี้ ว่า “ในรอบ 15 ปี การใช้สิทธิชุมชนไม่บังเกิดผลและทำให้เกิดความขัดแย้งโดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมระหว่างชุมชนกับรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ยอมรับสิทธิชุมชนที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญและแม้แต่ศาลเองก็ไม่ได้นำเรื่องสิทธิชุมชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัย ฉะนั้นสิทธิชุมชนที่มีมาจึงไม่ส่งผลในเชิงปฏิบัติ ทรัพยากรในชุมชนจึงถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนเป็นหลัก ทำให้ความไม่เป็นธรรมและช่องว่างระหว่างชนชั้นยิ่งเพิ่มมากขึ้น กฎหมายฉบับนี้จะสร้างสมดุลระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิชุมชนได้มากขึ้น”
โดยขั้นตอนต่อจากนี้คปก.และเครือข่ายภาคประชาชนจะจัดเวทีเพื่อระดมความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อร่างกฎหมายดังกล่าวภายใน 6 เดือน โดยคาดว่าจะเสนอร่างฯเข้าสู่สภาฯได้ในสมัยประชุมหน้าผ่านการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนและคปก.ต่อไป
ที่มาภาพ :: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n3_28092006_01
...................
(ล้อมกรอบ)
มาตรา 66 และ 67 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน
- มาตรา 66 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
- มาตรา 67 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้ เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม
การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่าง รุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ ประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร ธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง