"นวลน้อย" ไม่เห็นแววผลงานต้านโกง 1 ปี รบ.ปู ชี้พูดแต่ปากไม่พอ
อาจารย์เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เห็นแววนายกฯ ปู ต้านโกง หวั่น รบ.ขุดผี 'เทิร์นคีย์' มาใช้ เสี่ยงรั่วไหลสูง ซ้ำรอยโฮปเวลล์-บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน แนะ รบ.สร้างความโปร่งใส-เปิดเผยข้อมูลโครงการเมกะโปรเจกต์ผ่านเว็บไซต์-กำหนดกลไกป้องปรามคอร์รัปชั่นที่ชัดเจน
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา เกี่ยวกับผลงานดำเนินงานของรัฐบาลในรอบ 1 ปีด้านการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่น ในภาพรวมมองว่า รัฐบาลยังไม่มีท่าทีและกลไกที่ชัดเจนในการป้องกันรอยรั่ว อีกทั้งยังไม่ค่อยใส่ใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสถาบัน ภาคส่วนต่างๆ มากนัก ทั้งที่รัฐบาลมีแผนลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก ทั้งจากนโยบาย และสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการดูแลบริหารจัดการน้ำ
“รัฐบาลคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ย่อมมีความโอกาสสูงที่จะเกิดการคอร์รัปชั่น เพราะประเทศไทยมีภาพพจน์เรื่องการคอร์รัปชั่นไม่ดีนัก และที่ผ่านมาโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในภายหลังพบว่ามีรอยรั่วจำนวนมาก ทั้งเรื่องสเปคโครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้นเมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องย้อนกลับมามองประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยว่า จะทำอย่างไร ให้การดำเนินการ การจัดการมีความโปร่งใส”
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวต่อว่า ตนคงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์คอร์รัปชั่นลงลึกในรายละเอียดของแต่ละโครงการได้ เนื่องจากจะต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลในเชิงลึก แต่ในภาพรวมพบว่าระบบและลักษณะการดำเนินการโครงการไม่แตกต่างจากในอดีต รัฐบาลปัจจุบันมีความพยายามนำรูปแบบที่เคยมีปัญหากลับมาใช้ เช่นการประมูลแบบเทิร์นคีย์ (turnkey) ซึ่งมีปัญหามาก เห็นได้จากตัวอย่างโครงการโฮปเวลล์ บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และอีกหลายโครงการ จนกระทั่งระยะต่อมารัฐบาลได้มีมติในหลีกเลี่ยงการใช้เทิร์นคีย์ นอกจากกรณีมีความจำเป็นในเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้รัฐบาลปัจจุบันได้มีความพยายามอ้างถึงข้อยกเว้นดังกล่าว ทั้งที่ยังไม่ชัดเจนว่ามีความจำเป็นอย่างไร
ส่วนปัญหาเรื่องการจ่ายใต้โต๊ะนั้น รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า ตัวเลข 30% มีการพูดถึงกันตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้ ซึ่งจากการพูดคุยกับนักธุรกิจพบว่าอัตราดังกล่าวมีอยู่จริง แต่แนวโน้มการจ่ายใต้โต๊ะในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 40%-50% หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก ไม่สามารถวัดใจนักการเมืองได้ว่าจะคำนึงถึงประเทศชาติมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม หากการจ่ายใต้โต๊ะมีอัตราสูงขึ้น โอกาสที่โครงการเหล่านั้นจะ 'เจ๊ง' ยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย และจุดนี้จะตกเป็นภาระหนักของประเทศชาติ
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลในช่วงต่อไปว่า แม้ขณะนี้รัฐบาลจะมี 'โครงการ 1 กรม 1 ป้องกันโกง' ให้แต่ละหน่วยงานจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีที่ให้แต่ละกรม กองดูแลโครงการขนาดเล็กของตนเอง แต่เมื่อคอร์รัปชั่นมีหลายระดับ ในโครงการขนาดใหญ่ยังจำเป็นต้องอาศัยนโยบายของรัฐบาลอยู่ ฉะนั้น การทำงานของรัฐบาลในปีต่อไปจะต้องสร้างความชัดเจน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้สร้างกลไกและวิธีการต่างๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น ซึ่งวิธีการชัดเจนที่สุดคือ ให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยกันดูแลตรวจสอบ อย่าทำอะไรที่รวบรัด ข้อมูลการลงทุนต่างๆ ใครได้งานไปจะต้องนำมาเปิดเผยผ่านทางเว็บไซต์
เมื่อถามถึงกรณีที่รัฐบาลไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ให้หน่วยงานราชการเปิดเผยราคากลางผ่านทางเว็บไซต์นั้น รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า แม้ตามกฎหมายและโดยระเบียบ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของ ป.ป.ช. แต่การที่รัฐบาลไม่ทำตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงสะท้อนว่า รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากนัก ในขณะเดียวกันหากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของ ป.ป.ช. ก็ต้องมีการเสนอทางเลือกอื่นด้วยว่าจะทำอะไร อย่างไร”
อาจารย์เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ไม่ใช่เป็นปัญหาของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เนื่องจากภาพลักษณ์ ปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยอยู่ในระดับสูง การแก้ปัญหาต้องขึ้นอยู่กับแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลว่าให้ความสำคัญ ต้องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นมากน้อยเพียงใด ขณะที่บทบาทของผู้นำ มีความสำคัญอย่างมาก ผู้นำต้องมีเจตจำนงทางการเมือง (political view) ที่ชัดเจน ตั้งใจจริง สร้างกลไกต่างๆ ทั้งเชิงป้องกันและปราบปราม
“แต่เมื่อมองบทบาทของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลปัจจุบัน ยังไม่มีการให้น้ำหนักในเรื่องนี้มากนัก นอกจากออกมาระบุว่าให้เชื่อมั่นในตัวท่านว่าจะไม่มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอ เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถพูดด้วยปากเปล่าได้ แต่ต้องปฏิบัติและทำให้เห็นอย่างจริงจัง”