จวกรัฐช่วยชาวนาผิดทิศผิดทาง บัตรเครดิตสร้างหนี้ -จำนำโกงตั้งแต่ต้นน้ำ
นายกสมาคมชาวนาฯ จวกรัฐแก้ปัญหาชาวนาผิดทิศผิดทาง บัตรเครดิตชาวนาสร้างหนี้ทับซ้อน-จำนำข้าวโกงตั้งแต่ต้นน้ำ เสนอวิจัยเมล็ดพันธุ์ กินน้ำน้อย ช่วยเพิ่มผลผลิต พร้อมเปิดพื้นที่ให้ ปชช.ร่วมคิดร่วมพัฒนา
วันที่ 27 สิงหาคม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าเจเอสพีเอสแห่งประเทศไทย จัดประชุมกลุ่มเฉพาะเรื่อง “วิชาการกับการฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจชาวนาไทย” ในงานนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ที่ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นทรัลเวิร์ลด์ กรุงเทพฯ
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสภาพปัญหาของชาวนาไทยในปัจจุบันว่า มีปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพการผลิต ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 650 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเฉพาะพื้นที่นาทางภาคอีสาน สามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 350-450 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ขณะที่พื้นที่นาในเขตชลประทาน แม้จะมีผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 800-900 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เมื่อเทียบกับผู้ผลิตรายอื่นๆ จะพบว่า จีนผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 1,002 กิโลกรัมต่อไร่ อินโดนีเซียผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 743 กิโลกรัมต่อไร่ และอินเดีย 496 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมากกว่าผลผลิตต่อไร่ของพื้นที่ทางภาคอีสานของไทย
นายประสิทธิ์ กล่าวถึงการที่ผลผลิตต่อไร่ของไทยอยู่ในระดับต่ำ เป็นผลมาจากการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่ดี รวมทั้งการจัดเขตพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่เหมาะสม ทำให้พื้นที่ไม่ตอบสนองต่อข้าวแต่ละชนิดพันธุ์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลง ขณะที่ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการขาดแคลนที่ดินทำกิน ทำให้ชาวนา 80% ต้องไปเช่าที่ดินเพื่อเพาะปลูก บางรายอาจเป็นไปในลักษณะเช่าที่ดินทำกิน 100% ขณะที่บางรายอาจเป็นการเช่าที่ดินเพิ่มเติม เนื่องจากมีที่ดินน้อยรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว จึงต้องมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า แนวนโยบายการพัฒนาชาวนาของรัฐบาลที่ผ่านมา ขาดการให้ความรู้ เพิ่มความสามารถในการผลิต และการจัดการที่จริงจัง เรื่องข้าวกลายเป็นประเด็นทางการเมืองและนโยบายหาเสียง หลายนโยบายที่มีต่อชาวนา เช่น นโยบายบัตรเครดิต ไม่ได้ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้น แต่กลับทำให้ชาวนามีทุกข์ เกิดหนี้ทับซ้อน เนื่องจากขณะนี้เริ่มพบว่า เกษตรกรบางส่วนได้มีการตกลงกับบริษัทที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการ ในลักษณะตกลงซื้อสินค้า แต่ขอรับเป็นเงินสด โดยยืนยอมให้บริษัทหักเงินไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายสินค้าประเภทอื่น เช่น โทรศัพท์มือถือ
“ส่วนนโยบายจำนำข้าว ก็พบปัญหาเรื่องการทุจริต ตั้งแต่ขั้นตอนการรับซื้อ การตรวจวัดความชื้น โดยเฉพาะระยะหลังโรงสีบางแห่งไม่มีการตรวจวัด แต่ยื่นข้อเสนอให้ชาวนายอมรับราคาที่ความชื่น 25% ชาวนาจะไม่เอาก็ไม่ได้ เพราะข้าวไม่เหมือนกันสินค้าประเภทอื่น ถึงเวลาก็ต้องเกี่ยวไม่เช่นนั้น ข้าวแห้งไปนำไปสีก็หัก ส่วนถ้าเกี่ยวมาแล้วไม่ขาย ก็ไม่มีที่เก็บ ไม่รู้จะไปกองที่ไหน จึงต้องยินยอม ดังนั้น จึงมีข้อเสนอว่า หากจะยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา จะต้องส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องเมล็ดพันธุ์ ที่กินน้ำน้อย ผลผลิตสูง ช่วยลดต้นทุนการผลิต ขณะเดียวกันนโยบายการพัฒนาข้าวและชาวนาต้องถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการการข้าวแห่งชาติ พร้อมเปิดให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมคิดและพัฒนา”
ทั้งนี้ นายกสมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันชาวนามีประมาณ 3.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 20 ล้านคน หากคนกลุ่มนี้ยังไม่มีความเป็นอยู่ที่ดี ยังยากจนอยู่ เชื่อว่าจะกลายเป็นอุปสรรค ยากต่อการพัฒนาประเทศ
ด้าน รศ.ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์ อาจารย์สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงรายได้ของชาวนาไทยว่า ในอดีตสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวนาไทยรายได้สูงกว่าชาวนาทุกประเทศในแถบเอเชีย แต่สถานการณ์ในปัจจุบันสวนทาง ชาวนาไทยมีรายได้ลดน้อยถอยลง ต่ำกว่าชาวนาในประเทศญี่ป่น ขณะที่การพัฒนาทางการเกษตรพบว่า เศรษฐกิจยิ่งโต ธุรกิจการเกษตรยิ่งใหญ่ การผูกขาดจากบริษัทรายใหญ่ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ประจำภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจชาวนาไทยว่า ต้องมีการนำนวัตกรรมเข้าไปใช้ โดยเฉพาะเรื่องการใช้ปุ๋ยในการปลูกข้าว ซึ่งจากการศึกษาพบว่า เกษตรกรไทยยังใช้ปุ๋ยไม่ตรงตามความต้องการของพืช ทำให้เกิดความสูญเสีย ตนจึงได้มีพัฒนาเทคโนโลยีเรื่อง ‘ปุ๋ยสั่งตัด’ ซึ่งเป็นโปรแกรมคาดคะเนการใช้ปุ๋ยที่สอดคล้องกับความต้องการของพืช ผลที่ได้รับคือ การปลูกข้าวในเขตพื้นที่ชลประทาน มีต้นทุนลดลง 510 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ต้นข้าวแข็งแรง ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช