เปิดจุดอ่อน เชื่อมโยงอาเซียน อยู่ที่ "การผ่านแดน"
นักวิชาการเผยโครงสร้างพื้นฐานไทยพร้อม ห่วงข้อจำกัด กม.ไทย ทำข้อตกลงระหว่างปท. ต้องผ่านสภาฯ แนะจุดอ่อนเชื่อมอาเซียนต้องพัฒนาการผ่านแดน ย้ำหากตกขบวนครั้งนี้แข่งขันลำบาก
วันที่ 27 สิงหาคม เครือข่ายระบบวิจัย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานนำเสนอ "ผลงานวิจัยแห่งชาติ 2555" (Thailand Research Expo 2012) ณ ห้องเวิลด์ บอลรูม ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ภายในงานมีการประชุมใหญ่เรื่อง "การเตรียมความพร้อม ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน" โดยมี ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมอภิปราย
ดร.รุธิร์ กล่าวถึงด้านโลจิสติกส์กับกรอบการเดินหน้าของอาเซียนว่า มีข้อจำกัด โดยแยกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ 1.โครงสร้างพื้นฐาน ที่เรียกว่าส่วน ฮาร์ดแวร์ (Hardware) ได้แก่ ถนน เส้นทางคมนาคม และสิ่งก่อสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว เป็นส่วนที่ไม่น่าเป็นห่วง มีโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างพร้อม และคาดว่าในปี 2015 จะอยู่ในขั้นสมบูรณ์ 2.สถาบันรัฐ ด้านกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า ซอฟท์แวร์ (Software) ซึ่งเป็นส่วนที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากในแต่ละประเทศมีข้อจำกัดค่อนข้างมากและแตกต่างกัน ทั้งนี้ พบว่า ด้านซอฟท์แวร์ของประเทศไทยไม่เอื้อและไม่อำนวยความสะดวกในกรอบการเดินหน้าของอาเซียน
"ประเทศไทยคือ 1 ในข้อจำกัดดังกล่าวนั้น เนื่องจาก มาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่า อำนาจและเงื่อนไขบางประการของการทำความตกลงระหว่างประเทศและการทำสัญญาต่างๆ ระหว่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เป็นข้อจำกัดสำคัญประการหนึ่ง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมีความพร้อมที่จะปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น จากนี้ประเทศไทยจะไม่ใช่ผู้นำอีกต่อไป"
ดร.รุธิร์ กล่าวถึงการเชื่อมโยงภายในอาเซียนเป็นสิ่งสำคัญ ที่ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งเครือข่ายโลจิสติกส์ การเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือและการขนส่งทางบก จุดอ่อนการเชื่อมโยงอาเซียน อยู่ที่ "การผ่านแดน" หากสามารถพัฒนาการข้ามผ่านแดนให้รวดเร็วขึ้น อำนวยความสะดวกมากขึ้นได้จะเสริมความสามารถการเชื่อมโยงกันในอาเซียนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามก่อนที่จะไปถึงการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ต้องเร่งเชื่อมโยงภายในประเทศให้เป็นหนึ่ง บูรณาการหน่วยงานภายในประเทศให้ได้ก่อน ทั้งนี้ ในส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย หากเสร็จสิ้นโครงการจะส่งผลกระทบกับบางพื้นที่ที่ไม่ได้รับประโยชน์
ขณะที่ดร.นิลสุวรรณ กล่าวในมุมเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนว่า อาเซียนได้กำหนดแผนงาน AEC Blueprint ที่เกี่ยวกับการลงทุนไว้ 2 เรื่อง คือ Free Flow of Investment และ Free Flow of Capital ซึ่งจะครอบคลุมเนื้อหา 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การให้ความคุ้มครองการลงทุน เพิ่มความคุ้มครองให้นักลงทุนเอกชน ในหลายๆ ด้าน เช่น สิทธิในการฟ้องร้องรัฐ และการชดเชยประโยชน์ 2.การอำนวยความสะดวกและความร่วมมือ เพื่อเพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในด้านนโยบายการลงทุนที่โปร่งใส ชัดเจนและสอดคล้องกัน
3.การส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้อาเซียนหลอมรวมเป็นฐานการลงทุนและโครงข่ายฐานการผลิตเดียว 4.การเปิดเสรีการลงทุน ที่อาเซียนตั้งเป้าหมายให้เป็น free and open investment ในปี 2558 โดยการยกเลิกหรือลดอุปสรรคเงื่อนไขในการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน รวมถึงการปฏิบัติกับนักลงทุนต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับการสนับสนุนของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับอุตสาหกรรมไทย ดร.นิลสุวรรณ กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้บริการข้อมูลข่าวสารทางการค้า ศึกษาวิเคราะห์อุตสาหกรรม และให้ความรู้เกี่ยวกับระเบียบการค้าโลก รวมทั้งการขจัดอุปสรรคทางการค้า ส่งเสริมภาคเอกชนในการปรับโครงสร้างและขั้นตอนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานและต้นทุนต่ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ อีกทั้ง ปรับปรุงหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง เพื่อให้บริการสนับสุนนแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมทั้งจัดระบบโครงสร้างพื้นฐานการบริหารร่วม เช่น ระบบการขนส่งในประเทศให้มีต้นทุนต่ำ
ดร.นิลสุวรรณ กล่าวถึงมาตรการรองรับผลกระทบ เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ด้วยว่า ควรตั้งกองทุนช่วยเหลือการปรับโครงสร้างด้านเกษตร ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและการบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า และปรับปรุงให้กระทรวงพาณิชย์มี พ.ร.บ.มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการดำเนินการตาม AEC Blueprint และตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินตามแผนงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
"ท้ายที่สุดแล้วเราไม่ใช่ประเทศเดียวในโลก หากไม่ปรับตัวหรือไม่เข้าร่วมในครั้งนี้ก็คงไม่ได้ เพราะเราปิดประเทศไม่ได้ จะส่งออกหรือแข่งขันด้วยตนเองประเทศเดียวลำบาก สู้รวมกลุ่มกันแข่งขันไม่ได้"