“ดร.เสรี” ย้ำปี 56 เตรียมอ่วมแล้ง เพราะ รบ.เตรียมมือรับแต่น้ำท่วม
“ดร.เสรี” ย้ำปี 56 แล้งจัด แต่ รบ.พะวงแต่น้ำท่วม ระบุแก้ผิดวิธีด้วยคันกันแม้น้ำมาเท่าเดิมก็เหลว และเสร็จไม่ทันกำหนด 1 เดือนเหตุชาวบ้านไม่เคลียร์ ตอกจำนำข้าวทำคุมพื้นที่รับน้ำไม่ได้
วันที่ 27 ส.ค.55 ที่โรงแรมมิราเคิล รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต บรรยายพิเศษ “เรื่องแผนการรับมือกับอุทกภัยปี 2555 ของรัฐบาล” ว่าจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก รัฐบาลจึงปล่อยน้ำออกจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิต์ ทำให้ขณะนี้มีปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 2 แห่งประมาณร้อยละ 46 ขณะเดียวกันได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมด้วยการสร้างถนนเป็นคันกั้นน้ำ ซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จไปเพียงร้อยละ 40 ที่เหลือร้อยละ 60 ยังสร้างไม่เสร็จ เนื่องจากเกิดปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านในพื้นที่ และคาดว่าไม่น่าจะสร้างเสร็จภายในเวลา 1 เดือนแน่นอน
ดร.เสรี กล่าวอีกว่าหากปีนี้น้ำจะมาในปริมาณเท่าเดิม มาตรการที่รัฐบาลทำอยู่ก็ยังไม่สามารถรับมือได้อยู่ดีเพราะ 1.การสร้างคันกั้นยังไม่เสร็จ 2.ต้องมีคันกั้นบางจุดที่อ่อนแอซึ่งอาจแตกได้ นอกจากนี้การสร้างคันกั้นเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะบีบทางน้ำให้ไหลเร็วขึ้น ส่งผลให้ระบบการพยากรณ์น้ำผิด จึงมีความหวังอยู่ที่การสร้างช่องทางระบายน้ำ แต่ก็เป็นแผนการระยะยาว ทั้งนี้ดัชนีะชี้วัดปริมาณน้ำฝนว่าจะมากน้อยเพียงใดคือระดับอุณหภูมิน้ำทะเล เช่น ปี 2554 ช่วง 3 เดือนก่อนน้ำท่วมใหญ่ อุณหภูมิน้ำทะเลรอบๆเปรียบเทียบกับสีแดงทำให้ฝนตกชุก เกิดพายุกว่า 40 ลูก การณ์คาดการณ์อุณหภูมิน้ำทะเลปี 2555 ลดลงในระดับเท่ากับปี 2551 แต่ไม่มีความแตกต่างจากปี 2554 แน่นอนว่าต่อจากนี้ต้องมาบริหารความเสี่ยง แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศแล้วพายุที่เกิดขึ้นบริเวณแปซิฟิกส่วนใหญ่พัดขึ้นด้านบนทำให้จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า มีเพียงร้อยละ 20 ที่จะส่งผลกระทบกับไทย
ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ยังกล่าวว่ามีคาดการณ์ว่าในปี 2555 จะเกิดพายุในทะเลแปซิฟิกกว่า 41 ลูก จำนวนนี้ร้อยละ 20 จะส่งผลกระทบกับไทย หรือได้รับอิทธิพลจากพายุ 3 ลูก ลูกที่ 1 คือพายุเทมบิงที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ ส่งผลให้วันที่ 30-31 สิงหาคมจะมีฝนตกหนักโดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันตก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดฝนตกตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย. จากข้อมูลเชิงลึกของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและยุโรปมีการคาดการณ์ว่าช่วงปลายปีจะมีฝนตกในทะเลแปซิฟิกทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อย เช่นเดียวกับจำนวนน้ำฝนในไทยเมื่อเทียบกับปีที่แล้วน้อยกว่าหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ที่สำคัญคือหากฝนตกเหนือเขื่อนจะทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนแต่จำนวนน้อย แต่หากฝนตกใต้เขื่อนจะทำให้ปี 2556 ไทยจะเผชิญกับภัยแล้ง
“ไม่มีคำว่าเอาอยู่ในการจัดการภัยพิบัติ เพราะไม่มีพิมพ์เขียวของภัยธรรมชาติ แม้จะมีการคาดการณ์ว่าฝนปลายปีจะแผ่ว แต่ไม่ได้รวมถึงพายุจรซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้”
รศ.ดร.เสรี กล่าว และว่า ปีนี้คาดว่าน้ำจะไม่ท่วมเพราะไม่มีน้ำจากเขื่อนมาสมทบแล้ว แต่จะแล้งหนัก ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่รัฐบาลหันมาจัดการป้องกันน้ำท่วมมากกว่าปัญหาภัยแล้งที่มีการณ์คาดการณ์ไว้แล้ว และอาจจะส่งผลให้เกิดภัยแล้งในปี 2556 เป็นการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดหรือไม่ รศ.ดร.เสรี กล่าวว่ารัฐบาลคงกังวลกับน้ำท่วมมากกว่า เพราะคิดว่าก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า แต่จริงๆแล้วความเสียหายมันเท่าๆกัน เพราะต้องจ่ายชดเชยค่าเสียหายต่อไร่ และด้วยนโยบายจำนำข้าว ประกันราคาข้าวของรัฐบาล ชาวนาก็จะไม่หยุดทำนาแม้จะไม่มีน้ำ .