กบอ.ยันแผนบริหารจัดการน้ำ ทำแบบสมดุล มีน้ำเพียงพอให้เกษตรกร
ปลอดประสพ แถลงแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ยืนยันทำแบบสมดุล ทั้งป้องกันน้ำท่วม พร้อมทำแผนรองรับสถานการณ์น้ำแล้ง มั่นใจสามารถผันน้ำให้เกษตรกรทำการเกษตรในพื้นที่เขตชลประทาน
วันที่ 27 สิงหาคม ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) พร้อมด้วย ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ร่วมกันแถลงแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
นายปลอดประสพ กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นในการป้องกันน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ประเทศไทยเหมือนปีที่ผ่านมาที่เกิดน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 1.44 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 4 ของโลก ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย จึงเป็นความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องสร้างความมั่นใจ และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่อสังคมโลก ถึงแผนการบริการจัดการน้ำท่วม ซึ่งนโยบายที่ได้ดำเนินการต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดำเนินการ จึงจำเป็นต้องกู้เงิน
"รัฐบาลได้บริหารจัดการน้ำแบบสมดุลไม่ได้บริหารจัดการน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว โดยได้ทำแผนบริหารจัดการน้ำรองรับสถานการณ์น้ำแล้งเพื่อใช้ทำการเกษตรไว้อย่างเพียงพอ โดยผ่านการบริหารจัดการน้ำต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำที่รัฐบาลได้ดำเนินการ ผ่านการทำงานของคณะกรรมการบริการจัดการน้ำและอุทกภัย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านน้ำ โดยมีการประชุมอาทิตย์ละครั้ง และทำงานแบบ Real Time สามารถวิเคราะห์ตัดสินใจหาทางออกเมื่อเกิดปัญหาได้อย่างทันท่วงที"
ประธาน กบอ.กล่าวถึงกรณีนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร และอดีตอธิบดีกรมชลประทานออกมาแสดงความห่วงใยถึงเรื่องภัยแล้งนั้น ขอยืนยันว่า รัฐบาลได้มีการเตรียมการรองรับไว้แล้ว โดยในพื้นที่การเกษตรเขตชลประทาน รัฐบาลสามารถผันน้ำให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างแน่นอน สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรแบบอาศัยปริมาณน้ำฝนจำนวนกว่า 60 กว่าล้านไร่ การขาดแคลนน้ำทำการเกษตรหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนปริมาณน้ำฝนที่ตกมาแต่ละปี ไม่ได้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้แก้ไขปัญหาโดยการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจากการดำเนินการพื้นที่นอกเขตชลประทานประมาณ 30 กว่าชุมชน ได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ ประชาชนมีน้ำใช้เพื่อทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอ และในวันที่ 31 สิงหาคม – 2 กันยายน 2555 จะมีการเผยแพร่แนวทางการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบของโปสเตอร์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงจำนวนปริมาณน้ำฝน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
ขณะที่ดร.รอยล กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันทำงานและแก้ไขปัญหามาโดยตลอด และได้มีการปรับการทำงานตามปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ปรากฏการณ์เอลนินโญ เพื่อการพยากรณ์สภาพอากาศได้อย่างแม่นยำ พร้อมทั้งกล่าวยืนยันว่าสามารถระบายน้ำให้ประชาชนใช้ทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอ โดยได้มีการกับเก็บน้ำสำหรับฤดูร้อนจำนวนประมาณ 6 – 7 พันล้านลูกบาศก์เมตร และสำหรับต้นฤดูฝนจำนวน 2 พันล้านลูกบาศก์เมตร และถ้าต้องการน้ำอีก สามารถผันน้ำสำรองที่กักเก็บไว้จากเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนท่าทุ่งนา ซึ่งมีจำนวนน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน
ดร.รอยล กล่าวต่อไปว่า แนวทางพัฒนาการทำงานต่อไปต้องร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศ และนอกประเทศ เพื่อผลักดันระบบการพยากรณ์อากาศให้ควบคู่กับแบบจำลองทางทะเล เพื่อให้ความแม่นยำในการพยากรณ์อากาศต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดใน TOR ของการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีบริษัทเสนอแนวทางใหม่ๆ ที่สามารถใช้ได้จริงให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป