คปก.รับปากร่วมผลักดันกม.ประกันสังคม ฉบับเข้าชื่อ สู่วาระที่ 1
'สุนี ไชยรส' ลั่นน่าเสียดาย หากกฎหมายประกันสังคม ฉบับเข้าชื่อ ถูกทอดทิ้ง รัฐบาลไม่สนใจ พรรคฝ่ายค้านไม่ออกแรงผลักดัน เผย คปก.วางยุทธศาสตร์เร่งด่วน ศึกษากฎหมายระบบสวัสดิการสังคมทั้งระบบแล้ว
เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการเรื่อง "ประกันสังคมถ้วนหน้า เพื่อคนทำงานทุกกลุ่ม อิสระ โปร่งใส และเป็นธรรม" ณ ห้องประชุม 222 คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนทำงานทุกกลุ่ม และนำไปสู่ความร่วมมือมือในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสนอในการประชุมของรัฐสภา
นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ คณะนิติศาสตร์ มธ.ศูนย์ลำปาง กล่าวถึงรายงานที่สถาบันวิจัยฯ มธ.เคยทำการศึกษา เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยมีการเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนสถานภาพของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จากส่วนราชการ เป็นองค์การมหาชน โดยตราเป็น พ.ร.บ.ให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน เพื่อไม่ให้ติดขัดกฎระเบียบของราชการ ที่ก่อให้เกิดปัญหา เช่น การขาดแคลนบุคลากรที่ไม่สามารถดึงคนเก่งเข้ามาทำงาน ขาดผู้ชำนาญการในการดำเนินการด้านการลงทุน หรือปัญหาระบบงบประมาณ เป็นต้น
"ข้อเสนอให้สปส.เป็นองค์กรอิสระ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการพูดกันมาตลอด แต่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนให้สำเร็จได้ ซึ่งในต่างประเทศ มาเลเซีย สหรัฐฯ อังกฤษ และสิงคโปร์ ก็เป็นองค์กรอิสระแล้ว"นายกิตติพงศ์ กล่าว และว่า การเพียงแค่ผลักดันให้แก้ไขกฎหมายเปลี่ยนสถานภาพนั้น คิดว่า ยังไม่เพียงพอ แต่ต้องเปลี่ยนความคิดทัศนคติของคนทำงานในองค์กรอิสระนั้นๆ ด้วย
ขณะที่นายโกวิทย์ บุรพธานินทร์ นักวิชาการด้านแรงงาน และกรรมการมูลนิธินิคม จันทรวิทุร ตั้งคำถามถึงการบริหารงานของสปส. 22 ปี สามารถตอบโจทย์ให้ผู้ประกันมีชีวิตที่ดีขึ้นได้หรือไม่ และยิ่งน่าเศร้าเมื่อผู้ประกันตนไม่มีส่วนเข้าไปกำกับ หรือเข้าไปรับรู้การบริหารงานของสปส.เลย
"แม้จะมีการปรับเปลี่ยนระบบให้ดีที่สุด โปร่งใส คอร์รับชั่นน้อยที่สุด ถามว่า ชีวิตผู้ใช้แรงงานจะดีขึ้นหรือไม่ การปฏิรูปประกันสังคม เป็นเพียงแค่ขาเดียว เราจำเป็นต้องไปบูรณาการกับขาอื่นๆ ของสวัสดิการสังคมด้วย"
ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... กล่าวถึงเหตุผลที่ทำไม สปส.ต้องเป็นองค์กรอิสระ ว่า กองทุนประกันสังคมเป็นของผู้ประกันตน 10 ล้านคน ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีเงินกว่า 9 แสนล้านบาทมากที่สุด สถานะเทียบเท่าสถาบันการเงิน มีเรื่องของการลงทุน นำเงินฝากธนาคาร แต่ผู้บริหาร กลับเป็นข้าราชการ แตกต่างจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นของข้าราชการแค่ 1.2 ล้านคน กลับมีผู้บริหารการเงินมืออาชีพ แถมยังมาจากการสรรหาด้วย
นางสาววิไลวรรณ กล่าวถึงสภาพปัญหาของสปส.ขณะนี้ มีดังนี้ 1.มีสถานประกอบการ (นายจ้างเปิดกิจการอยู่แต่ค้างชำระ,นายจ้างหยุดกิจการแล้ว แต่ทำธุรกิจอื่น และสถานประกอบการที่ปิดกิจการแล้ว เป็นหนี้สูญ) ค้างชำระเงินสมทบกว่า 33,071 ราย คิดเป็นเงิน 4,047 ล้านบาท และ 2.มีข้อมูลตัวเลขปี 2553-2555 รัฐบาลค้างส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ รวมเป็นเงินกว่า 63,200 ล้านบาท พร้อมกับตั้งคำถามสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ประกันตนรู้สึกอย่างไร
"ผู้ประกันตนรู้สึกอึดอัดใจกับการใช้จ่ายเงินของ สปส. เพราะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เช่น งบประชาสัมพันธ์ หรือล่าสุด ปี 2554 ปัญหาอุทกภัย สปส.ออกมาตรการช่วยเหลือผู้เสียหายจากอุทกภัย อนุมัติวงเงิน 10,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ผ่านธนาคาร แต่ลูกจ้างกลับเข้าไม่ถึง "
ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ....(ฉบับบูรณาการแรงงาน) กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ด้วยว่า ขณะนี้จ่ออยู่ที่สภาฯ ลำดับที่ 50 สาเหตุที่ไม่สามารถเดินหน้าได้เพราะไม่มีร่างกม.รัฐบาลมาประกบ ทำให้ยังไม่มีการนำเข้าพิจารณาในวาระที่ 1
สุดท้ายนางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ระบบสวัสดิการสังคม จะเป็นยุทธศาสตร์เร่งด่วนของ คปก. จะมีการศึกษากฎหมายระบบสวัสดิการสังคมทั้งระบบ รวมถึงกฎหมายการเข้าชื่อ โดยเฉพาะการผลักดันให้กฎหมายประกันสังคม ฉบับเข้าชื่อ เข้าสู่วาระที่ 1 นั้น คปก.จะร่วมขับเคลื่อนไปด้วย เพราะเห็นชัดว่า กม.ประกันสังคม มีคุณค่า มีประโยชน์ และเกี่ยวข้องกับคนเกือบครึ่งประเทศ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ให้ความสนใจ พรรคฝ่ายค้านไม่ช่วยผลักดัน น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่กม.นี้ก็จะถูกทอดทิ้ง
จากนั้น ผู้เข้าร่วมเสวนา ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยรศ.ดร.วีระชัย พุทธวงศ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขานุการเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย กล่าวว่า บุคลากรทางการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยกว่า 50,000 คน อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งในอนาคตหากมหาวิทยาลัยทยอยออกนอกระบบ จะมีกว่า 1-2 แสนคน เข้าระบบประกันสังคม ดังนั้นเครือข่ายฯ จะช่วยกันผลักดันกม.ฉบับนี้ร่วมกับภาคประชาชน