ปฏิรูปนโยบายอาญาแก้ปัญหาใต้ (จบ) พัฒนานิติวิทย์ - เอาผิด จนท.ปฏิบัติมิชอบ
"ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ได้นำเสนอบทความของ ปุณยวีร์ ประจวบลาภ ผู้ช่วยผู้พิพากษา นิติศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเนติบัณฑิตไทย เรื่อง "นโยบายทางอาญาที่เหมาะสมสำหรับผู้กระทำความผิดอาญาในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ตอนที่ 1 ไปแล้ว
โดย ปุณยวีร์ ได้อธิบายสภาพปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขเอาไว้ทั้งหมด 7 ข้อ ซึ่งในตอนที่ 1 ได้กล่าวไปแล้ว 3 ข้อ ได้แก่ การกำหนดนโยบายทางอาญาในภาพรวม นโยบายทางอาญาด้านข้อมูลข่าวสารในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม และนโยบายทางอาญาด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
สำหรับในตอนที่ 2 นี้ มาว่ากันต่อในอีก 4 ข้อที่เหลือ
ใช้นิติวิทย์-เอาผิดเท่าเทียม
4.นโยบายทางอาญาด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
การบังคับใช้กฎหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดมักไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดี และไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด เช่น กรณีทหารพรานยิงลูกจ้างบริษัทชินวร ยะลา จำกัด [1] ซึ่งทำให้ชุมชนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และบางครั้งมีการอ้างพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 17 [2] เพื่อปฏิเสธความรับผิด
ดังนั้นจึงควรกำหนดให้มีการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัดและเท่าเทียมกัน หากมีการร้องเรียนถึงความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น รัฐควรออกมาแสดงความรับผิด ขอโทษ และเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงปลูกจิตสำนึกแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐให้เป็นผู้ใช้กฎหมายอย่างเป็นกลาง มิใช่อาศัยอำนาจของตนกระทำผิดกฎหมายเอง
อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันอาจเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เน้นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และบางครั้งอาจเกินเลยถึงขั้นช่วยปกปิดการกระทำความผิดของเพื่อนร่วมงาน เมื่อเกิดการกระทำความผิดทางอาญาขึ้นและผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ที่รับผิดชอบในการดำเนินคดีก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยเช่นเดียวกัน จึงอาจทำให้เกิดการช่วยเหลือพวกพ้องได้ ทั้งการปลูกจิตสำนึกเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ฝังรากลึกในสังคมไทย
5.นโยบายทางอาญาด้านการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำความผิด
การแสวงหาพยานหลักฐานที่ไม่เพียงพอย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่ไม่มีพยานหลักฐานแน่นหนาแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวผู้นั้นไว้แล้ว ทำให้ผู้ถูกจับกุมต้องเสื่อมเสียเสรีภาพโดยไม่สมควร ดังนั้นหากเจ้าพนักงานต้องการจับกุมผู้ใด ควรต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอก่อนจึงดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยนั้นได้
สำหรับด้านพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จากการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (2551: 46-47) ได้เสนอให้ตั้ง "คณะกรรมการระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาระบบงานนิติวิทยาศาสตร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อรับผิดชอบการพัฒนาประสิทธิภาพงานด้านการรวบรวมพยานหลักฐานด้วยการใช้นิติวิทยาศาสตร์เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชน และเร่งรัดการออกกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมจัดตั้งศูนย์นิติวิทยาศาสตร์อย่างเร่งด่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสมรรถนะในการสนับสนุนงานในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่
การสืบสวนสอบสวนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการพิสูจน์พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จึงควรต้องมี "ศูนย์ประสานงานเพื่อพิสูจน์พยานหลักฐาน" แต่การรวบรวมพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงมิติทางศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีของคนในพื้นที่ด้วย เช่น การขุดศพและผ่าศพเพื่อค้นหาสาเหตุการตาย อาจขัดกับความเชื่อของศาสนาอิสลาม
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสัมมนาคณะผู้รู้ศาสนาอิสลามในประเทศไทยในหัวข้อ "อิสลามกับแนวทางในการสร้างความสามัคคีและสันติสุข" เมื่อวันที่ 25-26 มี.ค.2550 ณ โรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ จ.สตูล [3] ได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่า "การผ่าศพและการขุดศพเพื่อชันสูตรหาข้อเท็จจริงความเป็นบุคคล สาเหตุการตาย เพื่อหาความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้คำวินิจฉัยของผู้รู้ทางศาสนาและได้รับอนุญาตจากญาติของผู้เสียชีวิต อนึ่ง ในกรณีศพนิรนาม การดำเนินการให้อยู่ในดุลยพินิจของสำนักจุฬาราชมนตรี"
ดังนั้น การขอความร่วมมือจากผู้รู้ทางศาสนาก่อนมีการพิสูจน์ศพนั้น เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐพึงกระทำเพื่อมิให้ล่วงละเมิดต่อข้อห้ามของศาสนา ทั้งทำให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะไม่ถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาประการหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ต้องให้ผู้รู้ทางศาสนาเป็นผู้มีคำวินิจฉัยอาจกระทำไม่ได้สะดวกนัก เพราะการฆ่าเกิดขึ้นทุกวันในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนผู้รู้ทางศาสนาอาจมีไม่เพียงพอ และบางครั้งหากรอช้า การพิสูจน์สภาพศพอาจเกิดความยากลำบากมากขึ้นด้วย
ตั้ง สนง.ดาโต๊ะยุติธรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
6.นโยบายทางอาญาด้านการดำเนินคดีในชั้นศาล
เนื่องจากการดำเนินคดีในชั้นศาลมีความล่าช้า จึงควรเพิ่มอัตรากำลังของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และทนายความให้เหมาะสมกับปริมาณคดี ถ้าเป็นไปได้ควรมีบุคลากรที่มีเชื้อสายมลายู โดยเฉพาะทนายมุสลิมที่จำเลยมักให้ความไว้วางใจว่าจะให้ความยุติธรรมแก่ตนได้ รวมถึงต้องมีการอบรมบุคลากรให้มีความเข้าใจถึงสภาพปัญหา ไม่มีอคติต่อผู้กระทำผิดด้วย
นอกจากนี้ ต้องนำระบบการบริหารจัดการคดีมาใช้ เช่น การสืบพยานหลักฐานล่วงหน้าก่อนฟ้อง รวมทั้งนำระบบการเบี่ยงเบนคดีออกจากระบบมาใช้บังคับให้เป็นรูปธรรม เช่น การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมชุมชน โดยการปรับความเข้าใจระหว่างผู้กระทำความผิดกับผู้เสียหาย เพื่อช่วยไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาท นอกจากจะเป็นการลดปริมาณคดีแล้ว ยังสร้างทัศนคติที่ดีระหว่างกันอีกด้วย
พ.ต.ท.สันติ อัลอิดรุส (2550: 221) ได้ให้ข้อเสนอว่า ควรมี "สำนักงานดาโต๊ะยุติธรรม" ดำเนินการในเรื่องการประนีประนอมยอมความของชาวบ้าน ระหว่างผู้กระทำความผิดกับผู้เสียหายที่นับถือศาสนาอิสลามด้วยกันเอง
สำนักงานดาโต๊ะยุติธรรมนั้น คงมีลักษณะคล้ายคลึงกับการใช้กระบวนการยุติธรรมชุมชน เป็นวิธีการที่น่าสนใจในการที่จะมาปรับใช้กับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะดาโต๊ะยุติธรรมมีความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวมุสลิม และเป็นบุคคลที่ประชาชนในสังคมให้ความเคารพนับถือ
การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ย่อมครอบคลุมถึงการฟื้นฟูผู้กระทำความผิด และให้ผู้กระทำความผิดสามารถกลับสู่สังคมได้ โดยต้องให้ความเข้าใจในทางศาสนาที่ถูกต้องแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ให้หลงเชื่อกับความคิดที่นำศาสนามาเป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง และชุมชนต้องยอมให้อภัยและให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดในการกลับตัวเป็นคนดีด้วย
อย่างไรก็ตาม การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะต้องมีการปรับทัศนคติของบุคคลในสังคม และในสภาพปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงเช่นนี้ สังคมย่อมมีความโกรธแค้นผู้กระทำความผิด อาจต้องมีคนกลางเพื่อช่วยประสานรอยร้าวระหว่างชุมชนกับผู้กระทำความผิด โดยคำนึงถึงสันติสุขในพื้นที่เป็นสำคัญ
7.นโยบายทางอาญาในการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
นโยบายในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจะพิจารณาเฉพาะกรณีของผู้กระทำความผิด หรือผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยไม่มีหลักฐานการกระทำความผิด และกลุ่มที่อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง โดยจะต้องมีการเยียวยาแก่บุคคลเหล่านี้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเท่าเทียมกัน โดยรัฐต้องศึกษาถึงความเดือดร้อนของบุคคลเหล่านี้ รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิทางกฎหมาย เช่น สิทธิในการได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติรัฐมิได้เอาใจใส่กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเท่าที่ควร เพราะได้ยึดถือการป้องกันอาชญากรรมยิ่งกว่าการดูแลเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เน้นการช่วยเหลือแก่ประชาชนด้วย
บทสรุป
การกำหนดนโยบายทางอาญาที่เหมาะสมสำหรับผู้กระทำความผิดอาญาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยต้องกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุม การควบคุมตัว การสอบสวน การพิจารณาคดีในชั้นศาล รวมถึงการช่วยเหลือฟื้นฟูแก่ผู้กระทำความผิด โดยไม่เน้นเพียงการควบคุมอาชญากรรมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามหลักนิติธรรมด้วย
อย่างไรก็ตาม การกำหนดนโยบายสำหรับผู้กระทำความผิดนั้นเป็นไปค่อนข้างยาก เพราะความผิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมักเป็นความผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับความมั่นคง ดังนั้นการกำหนดนโยบายทางอาญาจึงต้องคำนึงถึงมิติความแตกต่างทางด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา วัฒนธรรม และศาสนาด้วย รวมถึงต้องเข้าใจความเป็นมาของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ในอดีต และปัจจัยต่างๆ ที่เกื้อหนุนให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น
หากรัฐกำหนดนโยบายโดยไม่มีความเข้าใจรากเหง้าของปัญหา แทนที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ จะกลับกลายเป็นเชื้อไฟให้การกระทำความผิดทางอาญามีความรุนแรงมากขึ้นเพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของภาครัฐได้
การเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงต้องอาศัยการฟังความของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อรัฐจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องในการจัดทำนโยบายทางอาญาและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ทั้งทำให้เกิดประสิทธิผลในการบังคับใช้อย่างดียิ่ง
นอกจากนี้ นโยบายทางอาญาที่ดีย่อมไม่อาจประสบความสำเร็จได้หากขาดบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจึงต้องประสานการทำงานระหว่างกัน โดยร่วมมือกันเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและให้ความคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหาอย่างเป็นธรรม ให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาในการแก้ข้อกล่าวหา ทั้งต้องให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาเช่นเดียวกับสิทธิที่ผู้ต้องหาทั่วไปพึงได้รับ
ดังนั้น การกำหนดนโยบายทางอาญาที่เหมาะสมสำหรับผู้กระทำความผิดอาญาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย จึงต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ประกอบกัน และคำนึงถึงสันติสุขในพื้นที่เป็นสำคัญ เพื่อความสงบเรียบร้อยที่ยั่งยืนของสังคมไทย
----------------------------------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ :
[1] ผศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย และคนอื่นๆ, การดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้: ปัญหาและแนวทางแก้ไข (ฉบับสมบูรณ์) (กรุงเทพ: สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2549), หน้า 45-46.
[2] พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 17 บัญญัติว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่”
[3] สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, คณะกรรมการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้, รายงานผลการสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2551), หน้า 64-65.
อ่านประกอบ : ปฏิรูปนโยบายอาญาแก้ปัญหาใต้ (1) ทบทวน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดึงชาวบ้านมีส่วนร่วม
http://www.isranews.org/south-news/Academic-arena/45-2009-11-15-11-18-09/15838--1-.html
บรรยายภาพ : เรือนจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)