พล.ต.อ.วรพงษ์ สุ่มตรวจเข้มจุดรับจำนำ หวั่นสอดไส้ขายข้าวเก่า
พล.ต.อ.วรพงษ์ แจงมาตรการป้องกันทุจริตจำนำข้าว ส่ง จนท.คุมเข้ม-สุ่มตรวจคลังกลาง 800 จุด หวั่นปลอมปนข้าว ด้านผู้เชี่ยวชาญ หวั่นยกระดับราคาข้าวตลาดโลก 10% โรงสี-ชาวนาทุกข์หนัก
พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษาสัญญาบัตร 10 (สบ 10) กล่าวกับศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา ถึงผลการทำงานภายหลังที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว การเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันสาธารณภัย ได้มีคำสั่งให้จัดตั้งการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว การเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันสาธารณภัย และการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณองค์กรส่วนท้องถิ่น (ศตข.) เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบทั้ง 3 ด้านว่า ในส่วนการป้องกันทุจริตในการรับจำนำข้าวได้เบาะแสถึงการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ประจำจุด การโกงความชื้นและการออกใบประทวนที่ไม่ถูกต้อง
"โดยปกติทุกจุดรับจำนำจะมีเจ้าหน้าที่จากองค์การคลังสินค้า (อคส.) และเจ้าหน้าที่จากองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.) อยู่ประจำจุดละ 4 คน แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีหลายพื้นที่เจ้าหน้าที่ไม่อยู่ประจำจุด เท่ากับว่า ไม่ได้ทำหน้าที่ จึงเกิดการเขียนความชื้นด้วยการวัดจากตาเปล่า แล้วออกใบประทวนให้ชาวนาโดยไม่ถูกต้อง เมื่อเกิดปัญหานี้ จึงจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปประจำจุดรับจำนำทุกจังหวัดในโครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากโรงสี โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่กว่า 3,000 นาย"
พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวต่อว่า จากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำจุด พบเบาะแสเพิ่มเติมที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีกรณีโรงสีที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการไปหลอกลวงชาวนาให้มาขายข้าวให้ เมื่อโรงสีไม่สามารถออกใบประทวนให้ได้ ชาวนาก็ไม่ได้รับเงิน ซึ่งมีชาวนาเสียหายหลายราย ประเมินค่าเสียหายได้กว่า 20 ล้านบาท ในส่วนจังหวัดสกลนคร พบว่าเจ้าหน้าที่ออกใบประทวนเป็นเท็จ และพบการฮั้วกินเปอร์เซ็นต์กันระหว่างโรงสีและชาวนา ซึ่งกรณีนี้กำลังเร่งดำเนินการสอบสวนอยู่
"จังหวัดที่มีปริมาณข้าวมากๆ จะพบเบาะแสทุจริตมากเช่นกัน ขณะนี้ได้ส่งรายชื่อผู้ที่มีเบาะแสและเกี่ยวข้องทั้งหมดให้เข้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบแล้ว และมีการสุ่มตรวจในคลังกลางเก็บข้าวกว่า 800 แห่ง ว่าปริมาณข้าวยังอยู่ครบถ้วนตามสัญญาและตรงตามคุณภาพหรือไม่ ทั้งนี้ ผลของการตรวจสอบจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ในห้องแล็บ จึงจะทราบว่ามีสิ่งเจือปนหรือไม่"
พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวด้วยว่า มาตรการการป้องกันเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการจัดการกับทุจริตรับจำนำข้าว จากนี้จะเน้นให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเข้มในการเฝ้าประจำจุดรับจำนำ สังเกตทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอนอย่างละเอียดตั้งแต่ชาวนานำข้าวมาขาย โรงสีนำข้าวเก่าหรือใหม่ไปส่งคลังกลาง รวมทั้งตรวจประวัติเกษตรกร เพื่อไม่ให้มีปัญหาการสวมสิทธิ์
"ขณะนี้เป็นมาตรการขึ้นแรกเริ่ม กำลังวางระบบในการป้องกันและสุ่มตรวจ เมื่อพบว่าใครทำผิดก็ดำเนินคดี แต่ยังเหลือคลังกลางอีกหลายแห่งที่ยังตรวจไม่หมด เพราะการสุ่มตรวจแต่ละพื้นที่ต้องใช้เวลา 1-2 วัน คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 เดือนจึงจะตรวจสอบครบ"
ยกระดับราคาข้าว 10% เคราะห์ซ้ำชาวนา-โรงสีไทย
สำหรับกรณีที่ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ชาติ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาว จะลงนามข้อตกลงจัดตั้งสมาพันธ์ข้าวอาเซียน โดยมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพข้าวและราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปีนั้น แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญในวงการข้าว กล่าวว่าไม่รู้ว่านำข้อมูลแนวคิดที่ไหนมาพูดและจะใช้เครื่องมืออะไรมาจัดการ
แหล่งข่าวคนเดิม กล่าวเพิ่มเติม โดยยกกรณีกลุ่มโอเปค ที่เคยจะมีนโยบายจำกัดการผลิตน้ำมัน เพื่อปั่นราคาตลาดและราคาส่งออก ทุกๆ 6 เดือน ซึ่งประเทศสมาชิกอย่าง อิหร่าน คูเวต และประเทศต่างๆ ในโอเปคก็เบี้ยวหมด ยกเว้นประเทศซาอุดิอารเบียเพียงประเทศเดียวที่ไม่ทำตาม เพราะมีน้ำมันมาก เป็นประเทศที่รวยและสามารถอุ้มโอเปคได้ และขณะนี้ไทยกำลังพยายามทำตัวเป็นซาอุดิอารเบียด้านข้าว แต่คงเป็นไปได้ยาก เพราะเราจนกว่าเขามาก
"แทนที่ประเทศซาอุดิอารเบียจะนำน้ำมันไปขายแล้วเก็บเป็นเงินดอลลาร์เขาก็เก็บไว้ใต้ดินได้ ไม่เสื่อม ไม่เสียหาย มีแต่ราคาขึ้น นี่คือข้อแตกต่างของการจะรวมตัวขึ้นราคาข้าวกับราคาน้ำมัน การจะตั้งราคาขึ้นพร้อมกันไม่มีประโยชน์อะไร ส่วนสำคัญที่จะตามมา คือ ปัญหาจะตกอยู่ที่โรงสีและชาวนา เนื่องจากผู้ส่งออกเป็นผู้กำหนดราคาต่างประเทศ เมื่อกำหนดได้ก็จะกลับมาบีบคอตลาดภายใน ทั้งโรงสีและชาวนาจะเป็นทุกข์หนักขึ้น"