อุปสรรคขวาง ยุทธศาสตร์ ‘อาเซียน-จีน’ สุรเกียรติ ชี้อยู่ที่ความกลัว
อดีตรองนายกฯ ย้ำชัด จีนและอาเซียนต้องมองกันและกันเป็นเพื่อน ขอจีนมองอาเซียนทุกประเทศ เหมือนจีนมองไทย พร้อมเสนอแก้ปัญหาทะเลจีนใต้ เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความร่วมมือ พัฒนา บริหารเส้นทางเดินเรือร่วมกัน
วันที่ 25 สิงหาคม ศ.ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว ในงานการนำเสนอผลการวิจัยแห่งชาติ 2555 (Thailand Research Expo 2012) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพ ถึงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ที่จำเป็นต้องมีร่วมกัน เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมืองความมั่นคง
ศ.ดร.สุรเกียรติ กล่าวถึงพลังของจีนทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง มีสูงมาก แม้จีนจะมีเพื่อนมากมายในทวีปต่างๆ ขณะเดียวกันอาเซียนก็มีเพื่อนมากจากทุกค่ายของอุดมการณ์ในโลกนี้เช่นกัน ดังนั้นลักษณะและที่ตั้ง จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องมีบทบาทต่อกัน เพื่อช่วยให้ต่างฝ่ายต่างมีเพื่อน
"ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ไว้วางใจจีน และเป็นตัวอย่างให้เพื่อนอาเซียนได้เห็น ฉะนั้น อาเซียนเองก็ต้องมีการดำเนินการแบบใหม่ที่แสดงให้ประเทศนอกอาเซียนเห็นว่า อาเซียนมีความไว้วางใจจีน ทางกลับกันจีนก็ต้องแสดงให้โลกเห็นว่า จีนไว้ใจอาเซียน"
ส่วนการแสดงออกถึงความไว้วางใจระหว่างอาเซียนกับจีน ทำอย่างไรนั้น อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า 1.การแก้ไขหรือป้องกันปัญหาที่จะมีผลกระทบ หรือที่ฝ่ายหนึ่งถือเป็นกล่องดวงใจ ร่วมกัน เช่น ในอดีตที่ผ่าน จีนเคยเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหากัมพูชา, กรณีโรคไข้หวัดซาร์สระบาด เป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนสามารถประชุมเพื่อช่วยกันขจัดโรค, กรณีไข้หวัดนก, นโยบายจีนเดียว,ภัยพิบัติสึนามิในไทย น้ำท่วมในไทย และน้ำท่วมในจีน เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างการแสดงความ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน
"2. จับมือกันเดินไป เช่น จีนมียุทธศาสตร์ 2 มหาสมุทร ยุทศาสตร์หนึ่งแกนสองปีก การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ เหล่านี้ มีอาเซียนอยู่ตรงกลาง ฉะนั้นความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จีนกับอาเซียนต้องมียุทธศาสตร์ร่วมกัน รวมถึงเรื่องของการใช้แม่น้ำโขง ความสงบสันติภาพ ทะเลจีนใต้ การปราบปรามยาเสพติด จะไม่สำเร็จเลย หากอาเซียนไม่จับมือกับจีนอย่างแนบแน่น ไว้วางใจ และเดินไปข้างหน้า" ศ.ดร.สุรเกียรติ กล่าว และว่า 3.การเพิ่มเพื่อนให้กันและกัน โดยอาเซียนจะช่วยให้จีนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ มีบทบาทเป็นที่ยอมรับจากประเทศต่างๆ
อดีตรองนายกฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเนื้อหอม (พม่า ไทย ลาว เวียดนาม) โดยญี่ปุ่น สหรัฐฯ ได้เข้ามาทำข้อตกลงความร่วมมือกับประเทศเหล่านี้แล้ว อีกทั้งมีการทุ่มงบฯ เป็นแสนล้านบาท เข้ามาพัฒนาในโครงการต่างๆ ฉะนั้นการที่ประเทศมหาอำนาจเข้ามาสนใจอาเซียน ย่อมเป็นสิ่งที่ดี และยังเป็นประโยชน์กับจีนทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้หากจีนและอาเซียนไม่ได้วางยุทธศาสตร์ร่วมกัน
"จีนต้องทำให้อาเซียนที่ยังกลัวอิทธิพลจีน กลับมาร่วมมือกับจีนให้ได้ จีนต้องขจัดเรื่องความกลัวจีนออกไปให้ได้ ขณะเดียวกันอาเซียนก็ต้องทำให้จีนสนใจอาเซียนเหมือนเดิม และมากขึ้นๆ สนใจทั้งในแง่การวางยุทธศาสตร์กับอาเซียน เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้วยกัน"
ทั้งนี้ อดีตรองนายกฯ กล่าวถึงความขัดแย้งเรื่องทะเลจีนใต้ว่า จะกลายเป็นอุปสรรคในการวางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีนร่วมกัน จะเป็นบททดสอบของทั้งจีนและอาเซียน เพราะทุกประเทศไม่สบายใจ แม้กระทั่งไทยที่ไม่ได้มีพื้นที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากยังเป็นอยู่เช่นนี้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็ต้องพัง สรุปง่ายๆ จีนจะเสียเพื่อน
"การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง น่าจะทำได้ด้วยการพัฒนาร่วมกันกับทุกประเทศที่มีสิทธิเรียกร้อง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเส้นเขตแดน ด้วยการให้ทุกประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ เข้ามาเจรจาหารือว่า จะบริหารเส้นทางการเดินเรือบริเวณทะเลจีนใต้ร่วมกันได้หรือไม่ เปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความร่วมมือ แม้บางคนมองว่า ปัญหาทะเลจีนใต้เป็นเรื่องทวิภาคี แต่ความขัดแย้งแต่ละคู่ที่มีผลต่อภูมิภาคอย่างใหญ่หลวง ทำให้แก้ปัญหาด้วยการเจรจาทวิภาคีไม่ได้"
สุดท้าย ศ.ดร.สุรเกียรติ กล่าวตั้งคำถาม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เอเชียจะมีเครือข่ายที่ส่งเสริมการหารือ แบบใช้การทูตแบบไม่เป็นข่าว (Silent Diplomacy) เพื่อเสริมให้มีการคุยกันได้ เพราะมิเช่นนั้น คุยกันตรงๆ เรื่องจุดยืน เส้นเขตแดนก็จะไม่มีใครยอมใคร