นำร่องโซนนิ่งเกษตร ข้าว-หอมหัวใหญ่-มันฝรั่ง เพิ่มแรงจูงใจแก้เกษตรกรเมิน
กษ.เผยคืบหน้าโซนนิ่งเกษตร นำร่องข้าว-หอมหัวใหญ่-มันฝรั่ง เพิ่มมาตรการจูงใจแก้ปัญหาเกษตรกรเมิน ให้ปลัดฯนั่งปธ.คณะอนุฯโซนนิ่ง ฝันไกลทดแทนจำนำ-ประกันพืชผล
วันที่ 24 ส.ค. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ถึงเรื่องการจัดทำเขตเศรษฐกิจ หรือ โซนนิ่งว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับโครงสร้างของคณะอนุกรรมการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจใหม่ โดยกำหนดให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ แทนเลขาธิการ สศก.
สำหรับความคืบหน้าแนวทางการจัดทำโซนนิ่งพื้นที่เกษตรในระดับการปฏิบัติแบ่งได้เป็น 3 เรื่อง 1.การโซนนิ่งเพื่อการส่งเสริมการผลิต โดยเชื่อมโยงถึงโครงสร้างพื้นฐานการผลิต เช่น ระบบชลประทาน การพัฒนาที่ดิน เพื่อลดต้นทุนเพิ่มคุณภาพ 2.การโซนนิ่งเพื่อเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดในพื้นที่ (Demand - Supply) โดยจับคู่ปริมาณการผลิตและความต้องการของตลาดให้เหมาะสม เช่น จับคู่การค้าระหว่างผู้ผลิตกับโรงงาน เพื่อให้ขายได้ราคาดีมีคุณภาพ แก้ปัญหาราคาตกต่ำเนื่องจากสินค้าล้นตลาด และ3.การโซนนิ่งเพื่อการป้องกันและไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การกำหนดเขตปลอดโรคระบาดสัตว์ ควบคุมการเคลื่อนย้าย, จำกัดพื้นที่ของการเลี้ยงสัตว์บางประเภท เช่น การเลี้ยงกุ้งน้ำเค็มในน้ำจืด
โดยมีพืชนำร่องในการจัดโซนนิ่ง 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ซึ่งมีแนวทางดังนี้ 1.ข้าว แบ่งโซนนิ่งแยกตามประเภทของข้าว อาทิ ข้าวเพื่อการส่งออก ข้าวเพื่อบริโภค ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่สงวนพันธุ์ เพื่อมีพื้นที่การปลูกข้าวที่เป็นสัดส่วน สามารถดูดูแลพัฒนาพันธุ์และการผลิตได้ เช่น พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ อาจเป็นโซนปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพเพื่อการส่งออกเป็นหลัก 2. หอมหัวใหญ่ จำกัดการนำเข้าเมล็ดพันธุ์เพื่อจำกัดปริมาณการผลิต แก้ปัญหาหอมล้นตลาด ควบคุมราคาให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจได้ และ3.มันฝรั่ง ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ค่อยมีการบริโภคโดยตรง โดยจะสนับสนุนการจับคู่สัญญาการค้าระหว่างผู้ผลิตและโรงงานในพื้นที่โซนนิ่ง ให้ผู้ผลิตมีตลาดโรงงานที่รองรับแน่นอนและขายสินค้าได้ในราคาที่พอใจ
นอกจากนี้อาจมีการส่งเสริมให้มีโซนนิ่งเพื่อการปลูกผักสวนครัวในพื้นที่โครงการบริหารจัดการน้ำของกระทรวงเกษตรฯในแต่ละจังหวัด เพื่อสนองแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ทุกจังหวัดปลูกผักกินเอง
นายอภิชาต กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้บังคับให้เกษตรกรเข้าร่วมการจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตร จึงต้องมีการสร้างแรงจูงใจ โดยรัฐจะเน้นส่งเสริมองค์ประกอบด้านการผลิตการขนส่งและการขายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีหากเกษตรกรคนใดไม่ต้องการปลูกพืชตามโซนนิ่งที่กำหนด รัฐบาลก็จะยังดูแลหาทางเลือกอื่นให้
“หากเกษตรกรเห็นว่า เขตนี้ถ้าปลูกพืชชนิดนี้แล้วได้ราคาดี ขนส่งง่าย มีที่ขาย เช่นมีโรงงานในโซนที่รับประกันเรื่องราคา เกษตรกรก็จะอยากเข้าร่วม ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถคุมโซนการผลิตและทำให้เกษตรกรมีความสุขได้ ต่อไปโครงการจำนำหรือประกันพืชผลอาจไม่จำเป็น”
โดยขั้นตอนต่อจากนี้ กลุ่มจังหวัดต่างๆทั้ง 18 กลุ่มจะต้องไปดูว่าพื้นที่ของตนจะจัดโซนนิ่งสินค้าใด และจะวางแผนดูแลอย่างไรให้เชื่อมโยงกันทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยในส่วนของคณะอนุกรรมการฯจะเร่งปรับปรุงแผนการดำเนินงานที่ลงรายละเอียดต่างๆให้สอดรับกับแนวทางดังกล่าว แล้วจึงนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายฯเพื่อขอความเห็นชอบ จึงจะสามารถประกาศการจัดเขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือ โซนนิ่ง ตามพรบ.เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 ได้
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ นายอภิชาต ออกมาเปิดเผยถึงรายละเอียดการจัดทำโซนนิ่งว่า ในระดับพื้นที่ต้องเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทั้งดินและน้ำเพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่วนภาพรวมต้องสร้างแรงจูงใจ ให้เกษตรกรปลูกพืชที่เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาการทำโซนนิ่งไม่ประสบความสำเร็จ มีเกษตรกรเข้าร่วมไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์