เปิดศูนย์สิ่งทอ ผสานภูมิปัญญา-เทคโนฯ ยกระดับเอสเอ็มอี-โอทอป นำร่องชม.
ส.สิ่งทอฯ นำร่องสร้างศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย จับภูมิปัญญาผ้าแต่ละภาคผสานเทคโนโลยี รุกวิจัย-เพิ่มมูลค่า-สิ่งเสริมตลาด นำร่องภาคเหนือที่เชียงใหม่ หวังยกระดับเอสเอ็มอี-โอทอป
เร็วๆนี้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดตัวศูนย์ภูมิภาคสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จ.เชียงใหม่ โรงแรมเดอะปาร์ค อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยนายฤทธิพงษ์ เตชะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเปิดงานว่าภาคเหนือมีศักยภาพการผลิตสินค้าทั้งธุรกิจรายย่อยและโอทอป ซึ่ง เชียงใหม่ต้องมีแผนสร้างตราสินค้าเป็นของจังหวัด และสร้างภาคีเครือข่ายสิ่งทอร่วมกับจังหวัดอื่นๆในภูมิภาค
นายประสงค์ นิลบรรจง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เผยว่าการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเพื่อเป็นที่ฝึกอบรมและให้คำแนะนำแก่ผู้ผลิตรายย่อย ผู้ประกอบการ รวมถึงชาวบ้านที่สนใจเรื่องผ้าฝ้าย ผ้าไหม และสิ่งทออื่นๆ เนื่องจากปัจจุบันไม่เพียงแค่ในกรุงเทพฯและเชียงใหม่ แต่ทั่วทุกภาคของไทยเริ่มมีผู้ประกอบการมากขึ้น ดังนั้นหลังจากตั้งศูนย์ภูมิภาคที่ภาคเหนือเป็นที่แรกแล้ว จะมีโครงการสร้างศูนย์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ต่อไป
“การทอผ้าเป็นรากเหง้าคนในแต่ละภาคอยู่แล้ว หากปรับปรุงประยุกต์อย่างเหมาะสม ก็จะเกิดความนิยม และสร้างมูลค่าได้ทั้งในตลาดไทยและตลาดสากล” นายประสงค์กล่าว
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่าผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายเล็ก โดยเฉพาะในกลุ่มหัตถกรรมของแต่ละภูมิภาค ยังขาดองค์ความรู้และการสร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ตามโดยเปรียบเทียบแล้อุตสาหกรรมและหัตถกรรมสิ่งทอในภาคเหนือ มีการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังต้องการให้ส่งเสริมกิจกรรมการตลาด และเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายผู้ประกอบการ ตลอดจนนำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัย มาพัฒนาสินค้ารวมถึงรับรองคุณภาพด้วย ซึ่งสถาบันฯ จะทำหน้าที่ส่งเสริมยกระดับและพัฒนาอุตสาหรรมสิ่งทอไทยทั้งระบบ ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้าเสรี
“หวังให้ศูนย์แห่งนี้ทำให้สิ่งทอและเครืองนุ่งห่มของภาคเหนือ เกิดการพัฒนาศักยภาพพร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และก้าวสู่เวทีการค้าเสรีในตลาดสากล” นางสุทธินีย์ กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์ภูมิภาคสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จังหวัดเชียงใหม่ จะให้บริการด้านต่างๆ ได้แก่ 1.งานบริการวิจัยพัฒนาสูตรและผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพและมูลค่าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ทั้งอุตสาหกรรมและหัตถกรรมสิ่งทอพื้นบ้าน โดยใช้เทคโนโลยีการออกแบบผสมผสานกับเทรนด์ของสีและความต้องการตลาดประยุกต์และตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และมีการบริการวิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอและให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อการพัฒนาสินค้าให้ตรงตามมาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2.บริการด้านฝึกอบรมต่างๆ เช่น แนวโน้มผ้า สี เทรนด์แฟชั่น และการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์
3.ส่งเสริมการตลาด ด้วยการจับคู่ธุรกิจ พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มระดับนานาชาติ และงานแสดงสินค้าอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ .