เผย อปท.ทั่ว ปท.ถังแตก-ก่อหนี้รวมหาเสียงส่วนตัว ไร้ระบบตรวจสอบ
เวทีธรรมาภิบาลท้องถิ่น จุฬาฯ เผย อปท.ทั่วประเทศถังแตก-ใช้เงินผิด ก่อหนี้หาเสียงส่วนตัว 15ปีกระจายอำนาจแต่ระบบตรวจสอบล้มเหลว เสนอให้ระดับผู้ว่าฯเซ็นต์อนุมัติเงิน-ชาวบ้านร่วมสอดส่อง
วันที่ 23 ส.ค.55 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมและธรรมาภิบาลท้องถิ่น จัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถอดรหัสการก่อหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรณีองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำก่ำ จ.นครพนม โดยนายจรัส สุวรรณมาลา และนายวีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมนำเสนอข้อมูล นายวีระศักดิ์เปิดเผยว่าปัจจุบัน อปท.ทั่วประเทศประสบปัญหาหนี้สินจำนวนมาก แต่รัฐบาลไม่มีข้อมูลการจัดการหนี้สิน อปท.
ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดที่ศึกษารวบรวมได้ในปีงบประมาณ 2552 พบว่า แยกเป็นเทศบาลตำบลมีหนี้ 96.7 ล้านบาท เทศบาลเมืองมีหนี้ 20.5 ล้านบาท และเทศบาลนครเฉลี่ยมีหนี้ระยะยาวกว่า 80.8 ล้านบาท
“ตัวอย่างที่ อบต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม กู้เงินปี 2548 ระบุนำไปลงทุนโครงการต่างๆในอปท.โดยที่นายอำเภอและธนาคารกรุงไทยอนุมัติเงินกู้ 14 ล้าน แม้จะไม่มีระเบียบให้ อบต.กู้เงินลักษณะนี้ ต่อมาเกิดปัญหาเพราะไม่ได้ใช้ในโครงการตามที่ระบุในเอกสารขอกู้ แต่ใช้หาเสียงช่วงปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ต่อมาผู้บริหาร อบต.เปลี่ยนชุด ทำให้เกิดภาระผูกพักเป็นหนี้พร้อมดอกเบี้ยกว่า 22 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ”
นายวีระศักดิ์ เสนอให้มีระบบตรวจสอบด้านธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น และให้กรมส่งเสริมการปกรครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง อปท. ขณะเดียวกันควรเสริมสร้างอำนาจประชาชนให้เข้มแข็งเพื่อตรวจสอบการใช้เงิน ซึ่งจะช่วยให้ท้องถิ่นมีธรรมาภิบาลในการกู้เงินไปใช้ในโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชนเท่านั้น
นายพิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่ารูปแบบการกู้เงินเพื่อนำไปลงทุนในโครงการที่ไม่ได้ประโยชน์หรือนำไปหาเสียงนั้นเกิดขึ้นทั่วประเทศ เช่น กู้ไปทำโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งศาลาป่าช้า ใช้เครื่องบินไร้คนขับตรวจมลพิษ ทำรถไฟฟ้าโมโนเรล ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักการเมืองใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงทุก อปท. ทำให้มีการเบิกจ่ายเงินใช้ประโยชน์เพื่อขยายฐานเสียง โดยแต่ละโครงการใช้เงินมหาศาลและไม่สามารถประเมินผลตอบรับได้
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเครื่องมือระบบงบประมาณ ระบบบัญชี การรายงานผล ตั้งแต่ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นตลอด 15 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่การกำหนดนโยบายหรือการกำกับส่งเสริม ทำให้ อปท.อยู่นอกเหนือการตรวจสอบจากทุกหน่วยงาน วิธีแก้ปัญหาควรให้ประชาชนในท้องถิ่นรับรู้ข้อมูลและร่วมตรวจสอบได้ และควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนอนุมัติเงินของอปท.ในจำนวนไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่หากผู้ว่าฯ ไม่เข้าใจปัญหาหรือวินัยการเงินการคลังระบบทุกอย่างก็เป็นเหมือนเดิม .
::: ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต