รบ.โหมโรง “กองทุนตั้งตัวได้” 5 พันล้าน อุ้มนศ.จบใหม่ ดึงหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจร่วม
รบ.ดัน “กองทุนตั้งตัวได้” 5 พันล้าน สร้างอาชีพนศ. ดึงหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจสร้างความรู้ นักวิชาคาดอาจขยายกลุ่มเป้าหมายสู่ชาวบ้าน
วันที่ 23 ส.ค. 55 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี มีการจัดงาน “หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ : เส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการ” โดยมีการเสวนาเรื่อง "หนูอยากได้ตังค์ทำธุรกิจ" โดยมีนายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี , นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาและตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยรุ่นใหม่ ร่วมเสวนา
นายโอฬาร กล่าวถึง โครงการกองทุนตั้งตัวได้ งบประมาณ 5 พันล้านบาท ว่า เป็นกองทุนฯที่สนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการรายย่อยรุ่นใหม่ในระดับอุดมศึกษา-อาชีวศึกษา รวมทั้งบัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษาไม่เกิน 5 ปี ให้สามารถกู้ยืมเงินเพื่อประกอบธุรกิจของตนได้ โดยโครงการกองทุนฯดังกล่าวจะผนวกเข้ากับกลไกของ “หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ” หรือ UBI (หน่วยงานภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา-สกอ. มีหน้าที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมธุรกิจและผู้ประกอบการรายใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะนักศึกษาตลอดจนคนทั่วไป)ในสถานศึกษาทั้ง 56 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยอบรมและให้คำแนะนำนักศึกษาและบัณฑิตศิษย์เก่าของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆให้สามารถสร้างอาชีพของตนได้
โดยกองทุนฯดังกล่าวเปิดกว้างให้นิสิตนักศึกษา และบัณฑิตใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ไม่เหมือนใครและมีโอกาสเติบโตได้ขอยืมเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ โดยจะต้องเสนอแผนธุรกิจที่เป็นรูปธรรมให้คณะกรรมการกองทุนฯพิจารณาสนับสนุน ซึ่งนักศึกษาสามารถขอความช่วยเหลือในการสร้างและทำแผนธุรกิจ เช่น การจัดทำแผนการตลาด การหาช่องทางการขาย การทำบัญชี การออกแบบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ จากหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถานศึกษาของตนได้ ทั้งนี้การให้ยืมเงินในโครงการกองทุนดังกล่าวจะมาจาก 3 ส่วน ส่วนแรกคือการกู้ยืมเงินจากธนาคารของรัฐโดยไม่ต้องมีโฉนดค้ำประกัน ส่วนที่สอง คือ เงินจากกองทุนฯที่รัฐบาลให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรืออาจไม่คิดดอกเบี้ย และส่วนที่สามคือเงินของผู้ประกอบการเอง
นพ.กำจร กล่าวว่า กองทุนตั้งตัวได้จะช่วยสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้มากขึ้น โดยมีหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจคอยดูแล โดยเมื่อมีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนตั้งตัวได้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะอยู่ในช่วงเดือน ต.ค. จะเปิดให้ผู้นักศึกษาและบัณฑิตที่สนใจยื่นใบสมัครขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ โดยผู้สมัครควรรับคำแนะนำจากหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจเสียก่อนเพื่อให้กองทุนฯสามารถสนับสนุนบุคคลเหล่านั้นได้เต็มที่
นายโอฬาร ยังเปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า สำหรับความคืบหน้าของการขับเคลื่อนกองทุน ภายในสองสัปดาห์นี้จะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายกองทุนฯซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากนั้นจึงจะตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯต่อไป โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปรายละเอียดของการให้กู้ยืมเงินกองทุนฯ เช่น วงเงินให้กู้ต่อราย ภายในเดือนก.ย.นี้
ด้านผศ.คำรณ พิทักษ์ ผ.อ.ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ม.สงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า โครงการกองทุนตั้งตัวได้มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจโดยตรง เนื่องจากศูนย์ฯมีเป้าหมายหลักในการให้ความช่วยเหลือในการทำธุรกิจแก่นักศึกษาและศิษย์เก่า อย่างไรก็ดีแม้บทบาทของศูนย์ฯจะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับชุมชนเนื่องการประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่ทำผ่านสถานศึกษาในระดับจังหวัดเท่านั้น แต่การช่วยเหลือด้านธุรกิจรายย่อยของศูนย์ฯไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงนักศึกษา แต่ประชาชนทั่วไปหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์ยังสามารถเข้าขอความช่วยเหลือได้
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในระยะยาวกองทุนฯอาจขยายโอกาสการให้กู้ยืมเงินสร้างธุรกิจจากกลุ่มนักศึกษาไปสู่ประชาชนกลุ่มอื่นๆต่อไป
ด้านนางธมนวรรณ สุวรรณโฮม ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เกลือสปาขัดผิว ศิษย์เก่าม.รามคำแหง ซึ่งผ่านการอบรมจากศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ม.รามคำแหง กล่าวว่า มีความสนใจขอกู้ยืมเงินจากกองทุนตั้งตัวได้เพื่อต่อยอดธุรกิจ อย่างไรก็ดีหากอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินสูงหรือเท่ากับธนาคารทั่วไปคงไม่สนใจกู้ เนื่องจากตนเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ไม่มีทุนทรัพย์มาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เรื่องกองทุนตั้งตัวได้และการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจวิสาหกิจ มีการจัดแสดงและขายผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจต่างๆทั่วประเทศมาแล้ว โดยได้รับความสนใจจากนักศึกษาสถาบันต่างๆและประชาชนเข้าชมงาน