โจทย์ข้อยาก ศปก.จชต. บูรณาการ "ความคิด" ก่อนดีไหม?
แม้จะยังไม่เริ่มงานอย่างเป็นทางการ แต่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) ที่รัฐบาลตั้งขึ้นใหม่เพื่อกระชับสายการบังคับบัญชาและบูรณาการการทำงานของ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานนั้น ก็ต้องเจอกับบททดสอบหนักๆ ไปแล้วพอสมควร
บททดสอบด้านหนึ่ง คือ สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ซึ่งต้องบอกว่ารุนแรงหนักหน่วงขึ้น เกิดเหตุร้ายถี่ขึ้นในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน (ภายหลังแถลงข่าวตั้ง ศปก.จชต.เมื่อวันพุธที่ 8 ส.ค.2555) ซึ่งไม่ว่าผู้ก่อเหตุจะจงใจให้เชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวก่อตั้ง ศปก.จชต.หรือไม่ ทว่ามันก็ได้ลดความน่าเชื่อถือขององค์กรแห่งนี้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มงาน
เพราะถึงจะประกาศตั้ง ศปก.จชต.พร้อมแถลงข่าวใหญ่โต แต่กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ก็ไม่แม้แต่จะหยุดชะงักการสร้างสถานการณ์เพื่อรอฟังข่าวแถลงชิ้นนี้
ประกอบกับอาการ “เต้นตามเสียงระเบิด" ของรัฐบาล แทนที่จะนั่งลงอธิบายกับสังคมว่าเกิดอะไรขึ้นที่ชายแดนใต้ มีปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้งในช่วงเวลานั้น แล้วรัฐบาลมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีแก้ไขอย่างไร ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่การณ์กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลเพิ่งตื่นขึ้นมาจัดตั้งองค์กรใหม่ กำหนดโครงสร้างใหม่เพื่อเดินหน้าทำงาน ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับกลายๆ ว่าที่ผ่านมาไม่ได้สนใจปัญหา และการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาล้มเหลว ไร้เอกภาพ ไม่บูรณาการ
นั่นหมายถึงชัยชนะของกลุ่มขบวนการที่ก่อเหตุรุนแรงนั่นเอง!
บททดสอบอีกด้านหนึ่ง คือการเผชิญหน้ากับกระแสคัดค้านต่อต้านแนวนโยบายการจัดตั้ง ศปก.จชต.จากหลายฝ่าย และแนวคิดแนวทางในภารกิจดับไฟใต้ที่ผู้รับผิดชอบแต่ละคน แต่ละหน่วยงานยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งไม่ใช่แค่ "เห็นต่าง" ธรรมดา แต่ยัง "แตกต่าง" กันสุดขั้วด้วย
โดยเฉพาะความหวาดระแวงว่า ศปก.จชต.จะเข้าไปครอบงำการทำงานของทั้งฝ่ายความมั่นคง ภายใต้การนำของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และซีกงานพัฒนาภายใต้การนำของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือรวบงานทั้งสองด้านเข้าด้วยกันแล้วบัญชาการเองทั้งหมด ขณะที่ ศปก.จชต.มีภาพของ “ทหาร” ยืนทะมึนอยู่เบื้องหลัง เพราะผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ก็เป็นอดีตทหารนาม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่มีชื่อเป็นแคนดิเดตเลขาธิการศูนย์ฯ ก็ล้วนเป็นนายทหารระดับสูงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) หรือ พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กอ.รมน.
สภาที่ปรึกษาฯประกาศจุดยืนค้าน ศปก.จชต.
การออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ศปก.จชต.ที่ชัดเจนและส่งผลสะเทือนแรงที่สุดในช่วงที่ผ่านมา ก็คือการแถลงข่าวของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สปต.ที่ได้เรียกประชุมด่วนเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ส.ค.2555 ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา และเปิดแถลงข่าวทันที
ท่าทีของ สปต.คือ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้ง ศปก.จชต.และให้ทำหนังสือถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยแจกแจงเหตุผลเอาไว้ 5 ข้อดังนี้
1.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (กฎหมาย ศอ.บต.ที่กำหนดให้มี สปต.และองค์กรอื่นๆ ในภารกิจด้านการบริหารและการพัฒนาแก้ไขปัญหาชายแดนใต้) เป็นกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ผ่านกระบวนการทำประชาพิจารณ์หลายระดับ ในการปฏิบัติ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นประโยชน์และไม่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. นับตั้งแต่ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มีผลบังคับใช้และมีการจัดตั้ง ศอ.บต.รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติฝ่ายพลเรือนในระยะเวลา 1 ปีเศษที่ผ่านมา แผนงานโครงการกำลังก้าวหน้าเข้าสู่ระบบ เป็นที่ยอมรับ และอยู่ในความศรัทธาความต้องการของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลต่อการบริหารและแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3.การที่จะให้มีระบบซีอีโอ (ผู้มีอำนาจสูงสุดในการสั่งการ) ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรวบอำนาจให้ฝ่ายทหารเป็นผู้มีอำนาจบัญชาการทั้งฝ่ายพลเรือนด้วย จะไม่เป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหา เนื่องจากปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน และจะต้องมีความรอบคอบในการแก้ไข จึงจะส่งผลดีในระยะยาว
4.บทบาทภารกิจหน้าที่รับผิดชอบรักษาความมั่นคงและแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในมิติกองกำลัง ควรเป็นของกองทัพภาคที่ 4 หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ส่วนบทบาทภารกิจความรับผิดชอบด้านการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติพลเรือน การกำหนดยุทธศาสตร์และการบูรณาการแผนงานโครงการต่างๆ ควรเป็นหน้าที่ของ ศอ.บต. ขณะที่การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตชุมชนเมือง เป็นบทบาทหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งมีความชัดเจนตามที่กฎหมายและ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 กำหนดไว้แล้ว
จากข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าวดังนั้น พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 จึงไม่ได้ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (กฎหมายของ กอ.รมน.) หรือเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยแต่ประการใด
ศปก.จชต.ซ้ำซ้อน กพต. "ขู่ลาออก-ฟ้องศาลปกครอง"
5.คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 น่าจะเป็น "ศูนย์ปฏิบัติการ" ที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจะต้องผลักดันให้กระทรวงต่างๆ มีความเข้มแข็งทั้งกำลังคนและงบประมาณ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาความสงบภายใน รวมทั้งการบำบัดทุกข์บำรุงสุข
ประกอบกับ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มีเจตนารมณ์หลักในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จึงควรรับฟังเสียงจากประชาชนเจ้าของพื้นที่ ไม่ใช่เป็นการพิจารณาและสั่งการมาจากส่วนกลางอย่างเดียว การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) โดยรวมกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 17 กระทรวง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เลขาธิการ ศอ.บต.ฯลฯ เป็นการซ้ำซ้อนกับ กพต.ซึ่งมี พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ รองรับอยู่แล้ว ทำให้เกิดการก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ระหว่างกัน และจะนำไปสู่ปัญหาที่ซ้ำซ้อนมากยิ่งขึ้น
ในตอนท้ายของการแถลงข่าว สมาชิก สปต.ยังระบุว่าหากรัฐบาลไม่รับฟังข้อเรียกร้อง ทางสมาชิก สปต.ทั้ง 49 คนอาจแสดงจุดยืนด้วยการลาออกทั้งคณะ และจะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองอีกด้วย
วุ่นหนัก! "กมธ.ทหาร"ท้วงนโยบายดับไฟใต้ สมช.
นอกจากการแสดงจุดยืนคัดค้าน ศปก.จชต.กันอย่างโจ๋งครึ่ม ทั้งๆ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลและเปิดตัวกันใหญ่โตที่ศูนย์กลางอำนาจของประเทศแล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ ความคิดและแนวทางที่ยังต่างกันสุดขั้วของบุคลากรที่อยู่ในหน่วยงานที่รับผิดชอบปัญหา
แม้แต่กลุ่มนายทหารใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าด้วยกันเอง ก็ยังมี 2 แนวคิดหลักๆ กลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของ พล.ท.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 4 เชื่อว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ปฏิบัติการเป็นหลักอยู่ในพื้นที่ คือกลุ่มที่ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ไม่เกี่ยวกับขบวนการค้ายาเสพติดและน้ำมันเถื่อน
ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อในเรื่อง “ภัยแทรกซ้อน” ว่าเป็น “ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ” ของการสร้างสถานการณ์ไฟใต้ และเชื่อว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนมาใช้ประโยชน์ในการปลุกระดมมวลชนแนวร่วมเท่านั้น แต่เบื้องหลังจริงๆ คือได้ประโยชน์จากธุรกิจเถื่อน ค้ายาเสพติด ค้าน้ำมันหนีภาษี
จัดเป็น 2 แนวคิดที่ดูจะสวนทางกันอย่างสิ้นเชิงทั้งๆ ที่อยู่ในค่ายสิรินธรด้วยกัน!
ขณะที่อีกความเคลื่อนไหวหนึ่ง ได้มีการจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งมี สมช.เป็นเจ้าภาพ โดยนโยบายฉบับนี้ต้องถือเป็น "คัมภีร์" สำหรับทุกหน่วยงานที่ต้องยึดถือในภารกิจดับไฟใต้ เพราะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และรัฐสภารับทราบแล้ว
ทว่าเมื่อตรวจสอบลึกลงไปกลับพบว่า แม้แต่สมาชิกรัฐสภาเองก็ยังมีความเห็นขัดแย้งและสวนทางกับนโยบายที่ประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลัก 9 ข้อ และแนวปฏิบัติตามนโยบาย 34 ข้ออย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ทุกฝ่ายน่าจะเห็นตรงกันหมดแล้วในมิติของกรอบนโยบายยุทธศาสตร์ที่จะก้าวเดิน
เมื่อไม่นานมานี้ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษานโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ในคณะกรรมาธิการการทหาร วุฒิสภา (กมธ.ทหาร) ได้สรุปผลการศึกษานโยบายดังกล่าวออกมา และจัดทำเป็นรายงานเสนอ กมธ.ทหาร ซึ่งทาง กมธ.ทหาร ที่มี พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ เป็นประธาน ก็เห็นชอบตามร่างรายงานดังกล่าว โดยเนื้อหาของรายงานได้ "ท้วงติง-เห็นแย้ง" กับนโยบายฯหลายประการ ได้แก่
1.เนื้อหาของนโยบาย แม้มีสาระสำคัญครอบคลุมงานด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้พอสมควร แต่มีการใช้ถ้อยคำหรือวลีที่มีความกำกวม ซึ่งอาจตีความหมายได้หลายอย่าง และเสี่ยงต่อการถูกนำไปกล่าวอ้างของฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรง เช่น คำว่าอัตลักษณ์ การสร้างสมดุลของโครงสร้างอำนาจ และการกระจายอำนาจ เป็นต้น
ค้านพูดคุยสันติภาพ "เน้นปราบปราม - ไม่เอาปกครองพิเศษ"
2.ประเด็นสำคัญที่อาจกลายเป็นเงื่อนไขซึ่งควรให้ความสนใจ มี 6 ประเด็น ซึ่ง กมธ.ทหารมีความเห็นประกอบ คือ
- เรื่องอัตลักษณ์ หากมีการใช้ถ้อยคำหรือวลีพิเศษ อาจจะถูกนำไปบิดเบือนหรือใช้เป็นเงื่อนไขกล่าวอ้างได้ การเน้นเรื่องอัตลักษณ์มากเกินไปอาจกลายเป็นเงื่อนไขได้ในอนาคต จึงควรใช้ถ้อยคำซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไป หากจะใช้ถ้อยคำหรือวลีใดเป็นพิเศษ จะต้องมีการอธิบายความหมายให้ชัดเจน
นอกจากนั้นยังมีการใช้คำว่า "พหุสังคม" ซึ่งเหมือนการเปรียบเทียบระหว่างคนไทยพุทธกับคนไทยมุสลิม ทั้งที่ยังมีศาสนาอื่นๆ อีก และนโยบายฉบับนี้เปรียบเสมือนกำหนดให้ศาสนาอื่นต้องปฏิบัติต่อศาสนาอิสลาม ในขณะที่ไม่ได้กำหนดให้ศาสนาอิสลามต้องปฏิบัติต่อศาสนาอื่น
- เขตปกครองพิเศษหรือรูปแบบการปกครองพิเศษ กมธ.เห็นว่ารูปแบบการปกครองที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว หากจะใช้รูปแบบการปกครองพิเศษมาบังคับใช้เฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนการกระจายอำนาจนั้น ปัจจุบันมีอยู่แล้ว เช่น อบต. เทศบาล อบจ.
- การแทรกแซงขององค์กรระหว่างประเทศ มีการยกประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว ทั้งที่เหตุรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรง การใช้ถ้อยคำหรือวลีในนโยบายฉบับนี้อาจนำไปใช้กล่าวอ้างได้
- การใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร ควรเปลี่ยนจากคำว่า "การเมืองนำการทหาร" เป็นคำว่า "การเมืองควบคู่กับการทหาร" เพราะในบางสถานการณ์อาจจำเป็นต้องใช้การทหารนำการเมือง บางสถานการณ์อาจจะต้องใช้การเมืองนำการทหาร หรือใช้การเมืองและการทหารควบคู่กันไป
- กระบวนการเจรจาสันติภาพ ผู้ก่อเหตุรุนแรงยังดำรงเป้าหมายในการต่อสู้ และไม่ต้องการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ดังนั้นฝ่ายรัฐต้องใช้มาตรการปราบปรามให้ได้เสียก่อน ประกอบกับในนโยบายแม้ไม่ได้ใช้คำว่า "เจรจา" แต่มีถ้อยคำที่บ่งบอกหรือแสดงให้เห็นถึงกระบวนการสร้างสันติภาพด้วยการพูดคุยหรือการเจรจา ซึ่งอาจทำให้การตีความหรือการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติมีความแตกต่างกันได้
- การกำหนดเงื่อนไขของความรุนแรง ยังไม่ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หากกำหนดกรอบของปัญหาไม่ตรงตามสถานการณ์ จะทำให้การแก้ปัญหาไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เมื่อความรุนแรงยังคงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง นโยบายด้านการพัฒนาจะต้องสอดคล้องกับนโยบายด้านความมั่นคงด้วย ส่วนการระบุเงื่อนไขของความรุนแรง ได้ให้น้ำหนักภัยแทรกซ้อน เช่น ขบวนการค้ายาเสพติด ขบวนการค้าน้ำมันหนีภาษี และผู้มีอิทธิพล มากกว่าผู้ก่อเหตุรุนแรง รวมทั้งตำหนิการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐและการบริหารงานของภาครัฐด้วย
ในส่วนข้อเสนอแนะของ กมธ.ทหาร รายงานระบุว่า แม้นโยบายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และไม่สามารถปรับแก้ได้ แต่จากการพิจารณาศึกษาของ กมธ.พบข้อสังเกตหลายประการที่อาจทำให้การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ดังนั้นจึงควรให้นำข้อสังเกตของ กมธ.ไปประกอบการพิจารณาสำหรับปรับแก้นโยบายในครั้งต่อไป เพื่อให้มีความชัดเจน สมบูรณ์ และเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
"ยุทธศักดิ์" สั่ง สมช.วางโครงสร้าง ศปก.จชต.หวั่นขัดกฎหมาย
สำหรับความเคลื่อนไหวของ ศปก.จชต.ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะยังสาละวนกับเรื่องโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และตัวบุคคลที่จะดึงมาทำาน โดยเฉพาะในแง่อำนาจหน้าที่ ดูจะมีหลายฝ่ายกังวลเพราะเกรงจะขัดต่อกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ที่วางโครงสร้างการทำงานแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ทั้งในมิติด้านความมั่นคงและพัฒนาเอาไว้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว
ความเคลื่อนไหวของ ศปก.จชต.ช่วง 15 วันที่ผ่านมาจึงพอสรุปได้ดังนี้
- นายกรัฐมนตรีมีดำริให้เปลี่ยนชื่อ ศปก.จชต. เป็น "ศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ ศปก.กปต. เพื่อป้องกันความสับสนหรือถูกมองว่าซ้ำซ้อน แต่ในการแถลงข่าวครั้งต่อๆ มาของผู้เกี่ยวข้อง ก็ยังใช้ชื่อเดิมอยู่
- พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตรวจสอบโครงสร้าง ศปก.จชต.ว่าต้องปรับปรุงสิ่งใดเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน และการทำงานไม่ขัดต่อกฎหมาย ขณะที่ ศอ.บต.อาจทำงานไม่เต็มที่ตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ ซึ่งตรงนี้ต้องช่วย ศอ.บต.ให้มากขึ้น เพราะ ศอ.บต.ดูแลงานพัฒนาของทุกกระทรวงที่ลงไปในพื้นที่ว่าลงไปเต็มที่หรือไม่ ถามว่า 17 กระทรวงที่ทำงานกับ ศอ.บต.นั้นลงไปจริงหรือไม่ ผู้อำนวยการ ศอ.บต.ไปบีบรัฐมนตรีได้หรือไม่ ศปก.จชต.จะเป็นคนช่วยและประเมินคุณค่าให้ ศอ.บต.ว่ากระทรวงนี้ลงไปน้อยหรือมาก และจะเข้าไปประสานกับกระทรวงเหล่านั้นให้ลงพื้นที่ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ว่ารับงบประมาณไปแล้วใช้ไม่เต็มที่
- พล.อ.ยุทธศักดิ์ ฉายภาพการทำงานของ 2 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบปัญหาภาคใต้ว่า งานของ ศอ.บต.กับงานของ กอ.รมน.มีกฎหมายรองรับของตัวเองอยู่แล้ว แต่การทำงานในวันนี้และเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วมีสิ่งที่ทำให้เกิดช่องว่าง ไม่เชื่อมโยงกัน ศปก.จชต.ก็จะเป็นตัวเชื่อมและประสานสองหน่วยงานนี้เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้ แต่ไม่ใช่เข้าไปสั่งการหรือทำงานแทน
- พล.อ.ยุทธศักดิ์ ยังชี้แจงกรณี สปต.แถลงคัดค้าน ศปก.จชต.และขู่ลาออกว่า ได้ให้แม่ทัพภาคที่ 4 เข้าไปประสานงานและชี้แจง อย่างไรก็ดี ร่างโครงสร้าง ศปก.จชต.ยังไม่แล้วเสร็จ หน้าที่ของ ศอ.บต.ก็ยังไม่ได้กำหนด แต่กลับมีการแถลงข่าวว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ และยังอ้างว่าจะนำ กอ.รมน.เข้าไปคุม ศอ.บต. ขอเรียนว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นจึงต้องชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน และเห็นว่า ศปก.จชต.จะช่วยงาน สปต.ได้ สิ่งใดที่ติดขัดหรือทำไปแล้วมีปัญหาก็ขอให้บอก ศปก.จชต.
- พล.ต.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า ศปก.จชต.ถือเป็นองค์กรเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหาภาคใต้เพื่อช่วยกรองงานให้นายกรัฐมนตรี มีขั้นตอนในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยนายกฯไม่ต้องมาลงรายละเอียดด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการกรองงานให้นายกฯ ทั้งนี้ ศปก.จชต.จะดูแลทุกเรื่องที่กระทบต่อการปฏิบัติงานของ กอ.รมน.และ ศอ.บต. แต่ไม่สามารถสั่งการได้ เพราะจะต้องอาศัยอำนาจของนายกฯ สำหรับองค์กร ศปก.จชต.นั้น ขณะนี้ยังเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี ยังถึงขั้นเป็นพระราชบัญญัติ แต่หากมีความแน่นอนมั่นคงที่จะใช้ต่อเนื่อง และอาจยกระดับขึ้นมาเป็นพระราชบัญญัติต่อไป
- พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า พร้อมับฟังความเห็นของ สปต.และนำมาพิจารณา เพราะตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มาตรา 4 กำหนดไว้ชัดเจนว่าให้ สมช.ต้องรับฟังความเห็นของ สปต.
ส่วนความเคลื่อนไหวในแง่การติดตามสถานการณ์รายวัน มีประเด็นที่เป็นข่าวและติดตามต่อเนื่องเพียงกรณีเดียว คือกรณีที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ สั่งให้ตรวจสอบการขออนุญาตเข้าเมืองของชาวกัมพูชาที่นับถือศาสนาอิสลาม เพราะเข้ามาเยอะมาก และเกรงจะส่งผลกับสถานการณ์ชายแดนใต้
สิ่งที่อยากเห็น กับไอเดีย "พล.ท.ภราดร"
จากคำชี้แจงของผู้รับผิดชอบระดับต่างๆ พอสรุปได้ว่า ศปก.จชต.นั้น จะเป็นเพียง "องค์กรพิเศษ" ที่ตั้งขึ้นมา "กรองงาน" และกระชับการปฏิบัติของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ซึ่งโมเดลดังกล่าวแตกต่างจากความคาดหวังที่หลายๆ ฝ่ายอยากเห็น
โดยเฉพาะการกำหนด "ยุทธศาสตร์" การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้ใช้ยุทธศาสตร์อะไรกันแน่ ให้น้ำหนักงานด้านการพัฒนา การให้ความเป็นธรรม และงานด้านความมั่นคงอย่างไร ซึ่งการกำหนดน้ำหนักความสำคัญจะส่งผลต่อทิศทางการกำหนดงบประมาณและการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ แม่นตรงสู่เป้าหมายด้วย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ลำดับความสำคัญระหว่าง กอ.รมน. กับ ศอ.บต. ถ้าครึ่งๆ กลางๆ จะไม่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และต้องยอมรับว่าแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลจะใช้ทิศทางไหนยังไม่กำหนดชัด ถ้าถามว่ารัฐบาลที่แล้วคิดอย่างไร เราสื่อสารค่อนข้างชัด คือถือว่างานการพัฒนา การสร้างโอกาส และการอำนวยความยุติธรรมเป็นหัวใจที่ต้องทำ
"ทิศทางมันต้องชัด รัฐบาลชุดที่แล้วบอกว่าเอาการพัฒนานำ รัฐบาลนี้แกว่งไปแกว่งมา บางครั้งอยากจะหวนกลับไปให้ทุกอย่างอยู่ที่ กอ.รมน. คำพูดของฝ่ายการเมืองบอกจะย้อนไปให้แม่ทัพดูแล หรือให้ฝ่ายความมั่นคงดูแล ก็ต้องให้มันชัดไปเลย ผมไม่เห็นด้วยกับแนวทางนั้น แต่ถ้าจะไปทิศทางนั้นก็ต้องเป็นการตัดสินใจของรัฐบาล และรัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าอยู่ครึ่งๆ กลางๆ จะทำงานไม่ได้ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายพัฒนาก็ทำยาก ฝ่ายความมั่นคงก็ทำยาก อยากให้ชัดไปเลย"
ขณะที่ พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม นายทหารนักยุทธศาสตร์ชื่อดัง เห็นว่า รัฐไทยยังไม่มีนโยบายยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่แท้จริงเป็นกรอบการดำเนินงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเพียงยุทธศาสตร์รอง หรือยุทธศาสตร์เฉพาะเรื่อง เช่น การใช้กำลังทหาร ตำรวจเพื่อรักษาความปลอดภัย หรือการเยียวยาเพื่อคืนความเป็นธรรม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการบรรเทาปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหา
อย่างไรก็ดี มีคำอธิบายจาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร รองเลขาธิการ สมช. ซึ่งเป็นกำลังหลักในการจัดวางโครงสร้าง ศปก.จชต. ที่เปิดเผยกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เรื่อง ศปก.จชต.นั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย แต่เอาไปพูดกันเสียจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ หน้าที่ของ ศปก.จชต.พูดง่ายๆ ก็คือเป็นมือไม้ให้กับ กปต.หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็นประธาน และขณะเดียวกันก็คอยสนับสนุนหน่วยปฏิบัติส่วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต.
"แน่นอนว่างานความมั่นคงต้องให้ กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพ ส่วนงานพัฒนา ศปก.จชต.ก็จะช่วย ศอ.บต.ในการผลักดันให้ทุกกระทรวง ทบวง กรมลงไปทำงาน แต่เมื่อมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ศปก.จชต.ก็จะคอยมอนิเตอร์และรวบรวมข้อมูลรายงานนายกรัฐมนตรีและผู้บังคับบัญชา พร้อมทั้งมีทีมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนด้วย โครงสร้างก็จะเป็นแบบนี้ ขณะนี้ยังติดเพียงปัญหาเล็กๆ น้อยๆ คาดว่าอีกไม่นานจะเรียบร้อย" พล.ท.ภราดร กล่าว
คำถามปิดท้ายบทความนี้ก็คือ ในเมื่อยุทธศาสตร์ยังไม่ชัด ทิศทางยังพร่ามัว ผู้ปฏิบัติก็ยังมีความคิดแตกต่างกันไปคนละทางสองทาง...
งานแรกของ ศปก.จชต.น่าจะบูรณาการความคิดกันก่อนดีใหม่?
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การแถลงข่าวของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ส.ค.2555 (ภาพโดย สุเมธ ปานเพชร)