บอร์ดกสทช. ผ่านร่างทดลองออกอากาศวิทยุชุมชน เพิ่มกำลังส่ง 500 วัตต์
“สุภิญญา” เผยบอร์ดกสทช. ผ่านร่างทดลองออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ เตรียมประกาศลงราชกิจจาฯ เพิ่มกำลังส่ง 500 วัตต์ เสาสูง 60 ม. ระยะส่ง 20 กม. ส่วนปัญหาหนุนทุนวิทยุชุมชนไม่สรุป
วันที่ 23 ส.ค. 55 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงานกสทช.) จัดประชุมชี้แจงต่อประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และระยะเวลาการแจ้งรายละเอียดที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม ณ โรงแรม พูลแมน บางกอก คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ
สืบเนื่องจากม. 82 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ได้บัญญัติว่าเมื่อมีการแต่งตั้งกสทช.แล้ว ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลใดที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่อยู่ในวันที่กฎหมายดังกล่าวบังคับ ให้แจ้งการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ รวมถึงเหตุความจำเป็นในการครอบครองตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาตามที่กสทช.กำหนด เพื่อกสทช.ตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ ตามหลักเกณฑ์ฯ ที่กสทช.กำหนด โดยมีผลบังคับใช้เมื่อ 16 มิ.ย. 55
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกสทช. กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมใช้คลื่นความถี่ตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2543 แต่เมื่อกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้จำเป็นต้องประกาศให้ทุกฝ่ายได้รับรองสิทธิการใช้คลื่นความถี่สาธารณะ โดยให้แจ้งรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ผ่านการยื่นแบบจถ. พร้อมเอกสารภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศบังคับใช้ ซึ่งผู้ได้รับการจัดสรรหรือใช้คลื่นความถี่จะมีสิทธิตามระยะเวลาสัญญาสัมปทานที่เหลืออยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการแสดงความคิดเห็นของผู้รับการจัดสรรหรือใช้คลื่นความถี่ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการตามกฎหมายกำหนด มีเพียงบางรายที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนเท่านั้น เพราะหวั่นว่าจะละเมิดสิทธิขององค์กรได้
ทั้งนี้ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช. ถึงความคืบหน้าการแก้ไขร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และร่างประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การทดสอบมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงสำหรับการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ซึ่งร่างดังกล่าวกลุ่มวิทยุชุมชนที่ได้รับการออกใบอนุญาตชั่วคราวก่อนหน้ากว่า 6,000 แห่ง จะต้องเข้าสู่หลักเกณฑ์ด้วยนั้น ได้เรียกร้องให้ปรับเงื่อนไขการเพิ่มกำลังส่งและเสาส่งสัญญาณให้มีความสูงมากกว่าเดิม
โดยน.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ร่างประกาศฯ ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากบอร์ดใหญ่กสทช. เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) ในการปรับเงื่อนไขกำลังส่งวิทยุชุมชนจากเดิม 100 วัตต์ เป็น 500 วัตต์ เสาส่งสัญญาณสูงจากเดิมไม่เกิน 40 ม. เป็น 60 ม. ครอบคลุมรัศมีจากเดิม 15 กม. เป็น 20 กม. ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำของกำลังส่งสัญญาณระหว่างพื้นที่ราบกับสูงชันนั้นอาจเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งต้องดูในรายละเอียดทางเทคนิคอีกครั้ง เพราะขณะนี้กสทช. ออกเพียงหลักเกณฑ์ใหญ่บังคับใช้เท่านั้น โดยหลังจากนี้จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
สำหรับการอุดหนุนเงินทุนจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (บอร์ดกทค.) มาบริหารจัดการวิทยุชุมชนนั้น ขณะนี้ยังถกเถียงกันถึงความเหมาะสม เพราะบอร์ดกทค. มองว่าเงินที่ถ่ายโอนมาให้หน่วยงานควรใช้เฉพาะกิจการของโทรคมนาคมเท่านั้น ขณะที่กิจการกระจายเสียงกลับไม่มีเงิน เพราะยังไม่มีการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ จึงยังไม่มีเงินจากการประมูลคลื่นความถี่ โดยส่วนตัวเห็นว่าควรแบ่งเงินทุนจากโทรคมนาคมอย่างน้อย 25% มาบริหารจัดการตามสัดส่วนที่เหมาะสม
กรรมการกสทช. ยังกล่าวถึงกรณีพระสงฆ์ออกมาเรียกร้องให้กสทช. ปรับหลักเกณฑ์บังคับการเรียกคืนคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียงหลักกว่า 500 แห่งภายในระยะเวลา 3 ปี ตามสูตร 3-5-7 เพื่อนำคลื่นดังกล่าวมาจัดสรรให้กับการบริการสาธารณะ โดยเฉพาะการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมนั้น ต้องยอมรับว่าบอร์ดใหญ่กสทช. ได้มีมติเสียงข้างมากเลือกระยะเวลาการเรียกคืนคลื่นความถี่ดังกล่าวภายใน 5 ปีตามสูตร 5-10-15 แล้ว ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่ต้องยอมรับในมติเสียงข้างมาก อย่างไรก็ตามจะพยายามดำเนินการอย่างเป็นกลาง เพื่อเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากที่สุด.