แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เงินใต้โต๊ะจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐพุ่ง 30-40% ทำรัฐสูญงบฯ 1–2 แสนล./ปี
นักวิชาการเปิดวงจรนวัตกรรมคอร์รัปชั่นแบบใหม่ หลังกลุ่มทุนกลายเป็นรัฐ คอร์รัปชั่นทางการเมือง การบริหารราชการ - ศก. ขยายตัวเร็วเหมือนวัชพืช จี้ยกเครื่องธรรมาภิบาลหน่วยงานตรวจสอบทุจริตครั้งใหญ่
วันที่ 23 สิงหาคม ศูนย์ศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนา "รู้ทันนวัตกรรมคอร์รัปชั่น" ณ ศูนย์ศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต อาคารสาทรธานี ชั้น 7 โดยมี รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานและผู้อำนวยการโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการพัฒนาธรรมาภิบาล ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ อ.ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม นายศรัณย์ ธิติลักษณ์ นักศึกษาโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการพัฒนาธรรมาภิบาล ม.ราชภัฏจันทรเกษม และนายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการศูนย์ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ภคต.) ร่วมเสวนา
รศ.ดร.สังศิต กล่าวว่า จากเดิมที่กลุ่มทุนและนักธุรกิจเคยอยู่หลังฉากทางการเมือง ใช้เงินซื้ออำนาจทางการเมือง และใช้อำนาจทางการเมืองสร้างเงินให้มากขึ้น และใช้วัฒนธรรมเครือข่ายพวกพ้อง กลายเป็นการคอร์รัปชั่นในการบริหารราชการ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรงเมื่อปี 2540 กลุ่มทุนก็ก้าวออกมาเป็นตัวแสดงบนเวทีทางการเมืองด้วยตัวเอง และเมื่อกลุ่มทุนกลายเป็นรัฐ จึงสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการคอร์รัปชั่นที่องค์กรต่อต้านทุจริตตามกฎหมายยากที่จะติดตามไล่ทันได้ นวัตกรรมการคอร์รัปชั่นไม่ว่าจะเป็นคอร์รัปชั่นทางการเมือง ในการบริหารราชการและในทางเศรษฐกิจ ได้ขยายตัวรวดเร็วเหมือนวัชพืช
"เงินใต้โต๊ะจากโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5-10 ในทศวรรษก่อน เป็นร้อยละ 30-40 ในช่วง 10 ปีหลังนี้ และรัฐต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินจากปีละหลายหมื่นล้านบาท กลายเป็น 100,000 – 200,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนองค์กรภาครัฐแทนที่จะควบคุมการทุจริต ก็กลับมาทุจริตเสียเอง"
รศ.ดร.สังศิต กล่าวต่อว่า หากสังคมไทยต้องการต่อสู้กับการทุจริตอย่างจริงจัง จะต้องปฏิรูปหลักคิดเรื่องการทุจริต ควรให้เป็นมาตรฐานเดียวกับความหมายการคอร์รัปชั่นของประเทศที่เจริญแล้ว รวมทั้งต้องมีการยกเครื่องธรรมาภิบาลของหน่วยงานตรวจสอบทุจริตครั้งใหญ่อีกด้วย
"การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในระดับชาติ นายกรัฐมนตรีต้องแสดงให้เห็นว่ามีเจตจำนงที่แน่วแน่ในการต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ควรปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน ปฏิรูประบบราชการให้สอดคล้องกับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ป้องกันไม่ให้มีการทำลายความเป็นอิสระของสภานิติบัญญัติ ในระดับสังคม ต้องปรังปรุงหลักคิดเรื่องคอร์รัปชั่นให้เป็นมาตรฐานเดียวกับอารยประเทศ และปรับปรุงกฎหมาย กกต. ป.ป.ช. และ ป.ป.ท.โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่น อีกทั้งเพิ่มบทบาทองค์กรธุรกิจในการต่อต้านคอร์รัปชั่นด้วย"
เปิดนวัตกรรมการคอร์รัปชั่นใหม่
ขณะที่นายศรัณย์ กล่าวถึงลักษณะ รูปแบบ กระบวนการและวิธีการของคอร์รัปชั่นเชิงระบบและคอร์รัปชั่นตามระบบ เช่น โครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษคลองด่าน, คดีทุจริตยา, คดียึดทรัพย์ ฯลฯ ล้วนมีลักษณะที่เป็นระบบ มีการวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นขบวนการ แบ่งบทบาทหน้าที่ในการผลักดันและขับเคลื่อนโครงการอย่างเป็นระบบ และสร้างความชอบธรรมของโครงการ เพื่อแสวงหาโครงการใหม่ๆ ต่อไป ซึ่งระบบดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดกระบวนการของนวัตกรรมการคอร์รัปชั่นใหม่ เป็นการคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันและคนจำนวนมากขึ้น และมีขนาดของมูลค่าโครงการที่สูงขึ้น
ด้านดร.รัตพงษ์ กล่าวว่า ตนได้ทำการศึกษาเรื่องทุนนิยมพวกพ้องกับการคอร์รัปชั่น พบว่า ขณะนี้มีการใช้อำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยมีรูปแบบ คือ 1.การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจด้วยการถือครองธุรกิจสัมปทานจากรัฐ และ 2.การมีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์โดยได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบ จึงเรียกทุนนิยมพวกนี้ว่า ทุนนิยมพวกพ้องโดยนายทุนผูกขาด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดปัญหาทุจริตและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมโดยรวมมาตลอด
ดร.รัตพงษ์ กล่าวต่อว่า การจะป้องกันระบบทุนนิยมพวกพ้องในประเทศไทยนั้น ภาครัฐบาลและส่วนต่างๆ จะต้องเสริมระบบคุณธรรมในองค์กร และต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่และนโยบายสาธารณะต่อประชาชน รวมทั้งสร้างกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคม
ส่วนผอ.ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวถึงการคอร์รัปชั่นเชิงระบบในรัฐวิสาหกิจ ว่ามีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง เริ่มด้วยการสร้างเครือข่ายเชิงอุปถัมภ์ เพื่อหวังผลในการควบคุมรัฐวิสาหกิจ ให้ช่วยกันผลักดันนโยบายหรือกระทำการที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง เช่น ฮั้วในการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงแทรกแซงการแต่งตั้งผู้บริหารระดับต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ประเทศชาติในการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคง ประชาชนต้องเสียโอกาสในการได้รับสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม รัฐวิสาหกิจเองก็เสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ
"หากต้องการเห็นรัฐวิสาหกิจมีความเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของระบบเศรษฐกิจได้ จำเป็นต้องหาทางตัดวงจรความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของนักการเมือง นักธุรกิจและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อตัดวงจรการคอร์รัปชั่นเชิงระบบนี้ออกไป"