เอกชน โอดแรงงานพิการหายาก ไม่ได้ครบตามโควต้าจ้างงาน
เอกชน เผยสัดส่วนกม.จ้างแรงงานพิการ 100:1 ไม่สอดคล้องธุรกิจ เสนอทบทวนอัตราใหม่ ลดหลั่นตามประเภทกิจการ หวั่นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บ. เจอพิษซ้ำ จนท.กองทุนฯ สวนกลับบอกสัดส่วนปัจจุบันล้าหลังแล้ว
เมื่อเร็วๆ นี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จัดเสวนาเรื่อง “เสียงสะท้อนต่อการจ้างงานคนพิการไทย: สู่ทางออกอย่างยั่งยืน” ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนคิดเห็นเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานรัฐต้องรับคนพิการเข้าทำงาน ในอัตราส่วนลูกจ้างทุก 100 คนต่อคนพิการ 1 คน และมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมา
ดร.ฉัตรชัย ดวงรัตนพันธ์ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ เพราะปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีผู้พิการถึง 1,278,605 คน แต่ประเด็นปัญหาของภาคเอกชนคือ เมื่อไปค้นหารายชื่อผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนไว้ในสารบบของภาครัฐ กลับพบเพียงตัวเลข ข้อมูลลอยๆ ไม่ได้มีการระบุถึงรายละเอียดความพิการว่าอยู่ในระดับใด สามารถทำงานได้หรือไม่ อีกทั้งยังไม่ได้มีการระบุภูมิลำเนาที่ชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนประสบปัญหา ไม่สามารถหาคนพิการมาทำงานได้
“ที่ผ่านมาภาครัฐจะออกกฎหมายอะไรนั้น เอกชนไม่ค่อยได้มีโอกาสรับรู้ แต่ต้องเป็นผู้รับภาระ สัดส่วนการจ้างงานที่กำหนดให้ลูกจ้างทุก 100 คนต้องจ้างคนพิการ 1 คนนั้น เป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับธุรกิจที่มีหลากหลาย เพราะธุรกิจแต่ละประเภทมีตำแหน่งที่เอื้อต่อการทำงานของผู้พิการมากน้อยต่างกัน ฉะนั้นควรจะต้องมีการพิจารณาร่วมกันใหม่กำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนพิการให้ลดหลั่นกันไปตามประเภทธุรกิจ อาจเป็นลูกจ้าง 100 ต่อคนพิการ 1 คน หรือ 200 คนต่อคนพิการ 1 คนก็ว่ากันไป ทั้งนี้ เพื่อให้การจ้างงานคนพิการเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพคนพิการ ไม่ใช่กลายเป็นว่าจ้างคนพิการโดยเน้นแต่ปริมาณ ให้ครบตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น”
นายสมบูรณ์ เจือเสถียรรัตน์ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวถึงมาตรการของภาครัฐในเรื่องการจ้างงานคนพิการว่า เอกชนมีข้อกังวลอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ส่วนใหญ่เป็นการทำงานกับเครื่องจักร ซึ่งหากมีกรณีผู้พิการไทยรับบาดเจ็บเกิดขึ้น เกรงว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทที่รับผลิตสินค้าแบรนด์ดัง ดังนั้นความพร้อมของผู้พิการในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญมาก
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มก็ทำธุรกิจได้ยากลำบาก ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทก็ต้องหนีกันไปอยู่ตามชายแดนแล้ว การที่กฎหมายกำหนดให้เอกชนต้องจ้างผู้พิการเข้าทำงาน สัดส่วนลูกจ้าง 100 ต่อ 1 คน หรือถ้าไม่สามารถหาผู้พิการเข้ามาทำงานได้ ก็ให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ คูณด้วย 365 วันนั้น กำลังจะกลายเป็นปัญหาและเพิ่มภาระให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในปี 2556 อัตราค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้นเป็น 300 บาททั่วประเทศ จึงอยากทราบว่า ทำไมถึงต้องเอา 365 วันมาคำนวณ เพราะถ้าคิดกันจริงๆ แล้วเดือนๆ หนึ่งทำงานอยู่ที่ประมาณ 20 กว่าวันเท่านั้น นอกจากนี้เห็นว่าในช่วงระยะเริ่มต้นของการจ้างงานคนพิการนั้น น่าจะกำหนดสัดส่วนไว้ที่ 300:1 คน เพื่อให้เกิดการปฏิบัติ มีการรับคนพิการเข้าทำงานโดยเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ด้านนายบุญธาตุ โสภา นิติกรชำนาญการ สำนักส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กล่าวว่า การที่กฎหมายกำหนดให้มีการจ้างงานผู้พิการไม่ใช่เรื่องใหม่ มีอยู่ใน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 แต่เป็นไปในลักษณะขอความร่วมมือ ให้มีการจ้างคนพิการ 1 คนต่อจำนวนลูกจ้างทุก 200 คน ซึ่งก็ไม่ได้รับความร่วมมือ ทำให้ต้องมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ขึ้นมาบังคับ ส่วนเรื่องสัดส่วนการจ้างงานนั้นก็ปรับให้อยู่ที่ 1% ซึ่งถ้าเทียบกับในต่างประเทศถือล้าสมัยมาก เพราะบางประเทศในยุโรปกำหนดการจ้างงานคนพิการไว้ที่ 7% ญี่ปุ่น 2%
“ในเรื่องการจ้างงานคนพิการนั้น กฎหมายให้ทางเลือกไว้ว่าถ้าไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานได้ ก็ให้ส่งเงินเข้ากองทุนฯ หรือถ้าไม่ประสงค์จะรับคน หรือส่งเงินเข้ากองทุนฯ อาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการ หรือคนดูแลผู้พิการแทนก็ได้ ดังนั้นต้องพิจารณาหลายๆ มาตราประกอบกัน ส่วนที่ต้องกำหนดส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตราค่าแรงข้นต่ำคูณ 365 วันนั้นก็เพื่อต้องการให้คนพิการมีสภาพการจ้างงานเป็นลูกจ้างประจำ ไม่ใช่รายวัน”นายบุญธาตุ กล่าว และว่า สำหรับการจ้างงานคนพิการนั้น น่าจะมีความชัดเจน เป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อมีแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วยนายจ้าง คนพิการและหน่วยงานรัฐ ขึ้นมาอย่างเป็นทางการเพื่อพัฒนาระบบการจ้างงานคนพิการ
ส่วนน.ส.สุนารี คงสถิตย์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการ กรมการจัดหางาน กล่าวยอมรับว่า กรมจัดหางานยังไม่มีข้อมูลแรงงานที่ชัดเจนว่ามีสัดส่วนคนพิการวัยแรงงานจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากไม่ได้มีหน้าที่จัดทำข้อมูล เป็นแต่รับข้อมูลจากอีกหน่วยงานหนึ่งมาดำเนินการเท่านั้น ซึ่งในแง่ของกฎหมายนั้นการหาหรือจ้างงานคนพิการเข้าทำงาน เป็นหน้าที่ของเจ้าของสถานประกอบการที่ต้องดำเนินการด้วยตนเอง แต่อย่างไรก็ตามกรมการจัดการก็พร้อมที่จะเข้าไปประสานและให้ความร่วมมือกับเจ้าของสถานประกอบการ
ขณะที่นายเพชรรัตน์ เตชวัชรา ประธานมูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราว่า การแลกเปลี่ยนร่วมกันของหลายภาคส่วนในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดี สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเริ่มตื่นตัวในเรื่องการจ้างงานคนพิการมากขึ้น และที่ผ่านมาพบว่าหลายบริษัทแม้จะไม่ได้มีการรับผู้พิการเข้าทำงานโดยตรง แต่ก็ใช้วิธีการส่งเสริมอาชีพให้คนพิการ ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่สามารถทำได้ ส่วนในเรื่องสัดส่วนการจ้างงานคนพิการ 100 ต่อ 1 คนนั้น ตนมองว่าเรื่องนี้มีการถกเถียงกันมานาน สัดส่วนดังกล่าวน่าจะอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ไม่ควรปรับลด เพราะหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศจะพบว่ามีสัดส่วนที่สูงกว่าของไทย