แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เอ็นจีโอ หนุนรื้อ กม.พลังงานทุกฉบับ แก้ปัญหาแก๊ส-น้ำมันแพง
วงเสวนาเผยราคาแก๊ส-น้ำมันแพงเป็นเรื่องนโยบาย ขายคนไทยแพงกว่าส่งออก กลุ่มธุรกิจครอบงำตลาด ชี้ต้องรื้อ กม.ทั้งระบบ ค้านบัตรเครดิตพลังงาน ริดรอนสิทธิตามธรรมชาติของปชช.
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet) จัดสนทนาสาธารณะ เพื่อร่วมสร้างความเป็นธรรม "แก๊ส กับ น้ำมัน : ทำไมถึงแพง" ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก จุฬาฯ โดยมี นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กทม. น.ส.สมลักษณ์ หุตานุวัตร เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมสนทนา
มล.กรกสิวัฒน์ เปิดเผยข้อมูลราคาน้ำมันเบนซินไทยกับสหรัฐฯ ว่า มีความแตกต่างอย่างมาก จากข้อมูลเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2555 ที่ระบุว่าราคาน้ำมันเบนซินไทยราคา 43.85 บาทต่อลิตร ขณะที่รัฐ วอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐฯ ราคา 33.60 บาทต่อลิตร, รัฐนิวยอร์ค ราคา 33.53 บาทต่อลิตร
ส่วนประเทศเพื่อนบ้าน จากการสำรวจเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2555 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซินไทยราคา 44.86 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศมาเลเซีย 19 บาทต่อลิตร ประเทศอินโดนีเซีย 31.70 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ ส่วนต่างราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปมีความแตกต่าง ช่องว่างระหว่างกันมากขึ้นจากการผูกขาดโรงกลั่น จาก 5 บาทต่อลิตรในปี 2540 กลายเป็น 23 บาทต่อลิตร ในปี 2555
"ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่ได้แพงอย่างที่คิด จากปี 2551 ราคา 30 บาทต่อลิตร ในขณะที่ปี 2555 มีราคา 19.87 บาทต่อลิตร ประเทศสหรัฐฯ ก็ไม่แพงเท่านี้ ประเทศไทยแพงกว่าประเทศแทบทั้งหมดในอาเซียน นี่เป็นเรื่องของนโยบาย"
มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวสรุปเหตุที่ราคาน้ำมันแพงว่า เกิดจาก
1.กำหนดราคาขายคนไทยแพงกว่าส่งออก ใช้น้ำมันในราคาที่กลั่นจากต่างประเทศ แทนที่จะใช้ราคาที่กลั่นในประเทศไทย ขายเหมือนนำเข้าจากสิงคโปร์ แทนที่จะอิงราคาส่งออกสิงคโปร์ จึงควรมีกลไกตลาด ที่จะได้ราคาที่ถูกต้องและเป็นธรรมสำหรับประชาชน
2.การครอบงำธุรกิจการกลั่น ทำให้บริษัทพลังงานขนาดใหญ่มีอำนาจเหนือตลาด สามารถกำหนดค่าการตลาดได้สูงกว่าที่ควร จาก 1-1.50 บาทต่อลิตร เป็น 2-12 บาทต่อลิตร
3.เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่ออุ้มราคาก๊าซหุงต้มให้ภาคปิโตรเคมี
4.การให้สัมปทานไปถูกๆ ผลประโยชน์จึงตกแก่บริษัทพลังงานอย่างมหาศาล แต่คนไทยต้องใช้น้ำมันและก๊าซแพงกว่าประเทศสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้าน
5.การส่งออกน้ำมันดิบ ทั้งที่ขาดแคลน ทำให้ต้องนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและก๊าซหุงต้มมากกว่าที่ควรเป็น
"สำหรับข้อเสนอ จะต้องสร้างกลไกตลาด แก้กฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ที่ใช้มาเป็นเวลากว่า 40 กว่าปีแล้วไม่แก้ไข"
ขณะที่นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมาย รวมถึงกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจ ซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค
นายอิฐบูรณ์ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 กำหนดให้คณะกรรมการปิโตรเลียม เป็นผู้ทำความตกลงราคาขายก๊าซธรรมชาติในราชอาณาจักรกับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม แต่ปัจจุบันประธานกรรมการปิโตรเลียม คือ ปลัด กระทรวงพลังงาน คือ ประธาน บมจ.ปตท ซึ่งก็คือ ประธาน บมจ.ปตทสผ. และเป็นผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมโดยตรง อีกทั้งถือหุ้นอยู่กับผู้รับสัมปทานอื่นๆ โดยได้รับโบนัสเป็นผลตอบตอบแทนอันเป็นที่มาของโครงสร้างราคาก๊าซที่ไม่เป็นธรรม
ด้านน.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาด้านพลังงาน พบว่า มีกติกาที่ไม่เอื้อให้ระบบความเป็นธรรมเกิดขึ้น กับพลังงานทุกรูปแบบและพลังงานทดแทน แต่กลับเขียนไว้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้มีอำนาจรัฐ ทั้งที่รัฐเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากรให้ประชาชนคนไทยทุกคน ผู้ที่รับผิดชอบทั้งเชิงกำกับ สั่งการ ประกาศ ตรวจสอบ กระทั่งอำนาจตุลาการไม่มีความรู้ด้านพลังงานที่ลึกซึ้งพอที่จะตรวจสอบได้ ทั้งนี้ สื่อมวลชนกระแสหลักไม่เปิดโอกาสให้ความคิดและข้อมูลความจริงที่แตกต่างได้นำเสนอสู่สาธารณะ
"สิ่งที่เลวร้ายที่สุดขณะนี้ คือ บัตรเครดิตพลังงาน แทนที่จะให้ประชาชนได้ใช้พลังงานอย่างเต็มที่ตามทรัพย์สินของประชาชนที่ควรได้รับอยู่แล้ว กลับมากำกับโดยใช้นโยบายประชานิยม" น.ส.สมลักษณ์ กล่าว และว่า ทางออกที่เป็นธรรมและถมช่องว่างขณะนี้ นักวิชาการต้องมีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพ เปิดเผยข้อมูลความจริงว่าทรัพยากรของประเทศไทยตอนนี้มีเหลือเท่าไหร่ และใครนำไปทำอะไรบ้าง ส่วนนักกฎหมายต้องพร้อมใจกันลุกขึ้นมาแก้กฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรและพลังงานทุกฉบับ และกระจายอำนาจพลังงานให้ท้องถิ่นจัดการทรัพยากรน้ำมันของตนเอง
ส่วนส.ว.รสนา กล่าวถึงปัญหาพลังงานที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การมุ่งเน้นนโยบายที่ผิดภายหลังจากการแปรรูปพลังงาน เนื่องจากพลังงานเป็นฐานของระบบเศรษฐกิจ เมื่อถูกแปรสภาพจากสาธารณูปโภคพื้นฐานไปเป็นกระบวนการทำกำไรมหาศาล จึงเกิดปัญหา โครงสร้างผิดเพี้ยนและไปบิดเบี้ยวมาก
"ขณะนี้ ปตท.มีลักษณะกึ่งรัฐ กึ่งเอกชน เป็นหน่วยธุรกิจที่มีขนาดงบประมาณและมูลค่าการซื้อขายสูง เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าของทั้งประเทศ จึงกลายเป็นสึนามิทางเศรษฐกิจ ใหญ่เกินกว่าที่รัฐบาลจะยอมให้ล้ม แต่เหมือนสนับสนุนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การสนับสนุนหน่วยธุรกิจนี้ เหมือนการสนับสนุนให้ปลูกต้นยูคาลิปตัส ที่นับวันยิ่งทำลายทรัพยากรอื่นๆ ให้หมดไป ถามว่าจะยอมให้เป็นอย่างนั้นหรือ" ส.ว.รสนา กล่าว และว่า สภาพของปัญหาและความขัดแย้งด้านนโยบายพลังงานนี้ เป็นปัญหาเชิงนโยบาย แม้การแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายด้านพลังงานจะทำได้ยาก แต่ก็มีความจำเป็น ต้องไม่ปล่อยให้เป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดเพียงกลุ่มเดียว แต่ต้องแก้เพี่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ