แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
“ถวิล เปลี่ยนศรี” “กลไกราชการไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของนักการเมือง”
“คลื่นใต้น้ำ” ในหน่วยงานราชการไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่ฝ่ายการเมืองยังเป็นหัวขบวนนำทางการบริหารจัดการ ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ องค์กรสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ที่มีปัญหามาตลอด เพราะเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในระดับชาติและเกี่ยวข้องกับความมั่นคง
ก่อนหน้านี้นายถวิล เปลี่ยนศรี หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเกมการเมือง จากเดิมที่ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสมช. ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ถูกย้ายไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ควันยังไม่ทันจาง ไฟก็ลุกขึ้นมาอีกครั้งทันทีหลังจากที่มีการย้ายคนในออก พาคนนอกเข้าสลับกันระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร จากที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกครั้ง และย้ายนาย สมเกียรติ บุญชูรองเลขาฯสมช.มานั่งตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ
การโยกย้ายครั้งนี้มีเสียงร่ำลือสนั่นในวงข้าราชการและการเมืองว่า เป็นการย้ายเพื่อพวกพ้อง เพราะ พล.ท.ภราดร มีความสัมพันธ์สายตรง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก พล.ท.ภราดร มีศักดิ์เป็นหลานของ นายปรีดา พัฒนถาบุตร อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เคยเป็นตำรวจติดตาม ทันทีที่ พล.ท.ภราดร ถูกวางตัวให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการ ก็ถูกมองว่ารัฐบาลจะวางตัวให้เป็นหัวขบวนสมช.คนต่อไป แทน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสมช.
เรื่องทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของจดหมายเปิดผนึกจากอดีตเลขาธิการสมช. 3 คน ประกอบด้วยนายสุวิทย์ สุทธานุกูล นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ และนายถวิล เพื่อให้ยิ่งลักษณ์ ทบทวนการโยกย้ายเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งนี้นายถวิล ได้อธิบายกับทีมงานศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะให้เห็นถึงความเป็นจริงของระบบข้าราชการว่า
“กลไกราชการ ไม่ใช่กลไกที่เป็นเครื่องมือหรือเป็นสมบัติส่วนตัวของนักการเมือง และเราจะปฏิเสธอำนาจของในการเมืองที่ไม่มีคุณธรรม ไม่มีจริยธรรม ไม่มีความเป็นมืออาชีพ”
การวางระบบครือข่ายนักการเมืองเข้ามาทำงานในส่วนของข้าราชการ จะได้รับผลกระทบอย่างไร
ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะอย่าลืมว่าเมื่อฝ่ายการเมืองเข้ามานั้นจะไม่ได้ลงไปทำงานทันที แต่ต้องผ่านฝ่ายบริหารนั่นคือฝ่ายข้าราชการประจำลงไปทำงานให้ก่อน ดังนั้นเขาจึงต้องการวางคนของเขาไว้ในจุดต่างๆเพื่อให้ไว้ใจได้มากที่สุด แต่ในที่นี้ความจริงไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะการวางคนควรจะวางไว้เพื่อให้ประชาชนไว้ใจได้มากที่สุด ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองไว้ใจได้มากที่สุด
ถ้าฝ่ายการเมืองวางตัวบุคคลของตนเป็นระบบเครือข่ายได้สำเร็จ จะเกิดอะไรขึ้นกับองค์กรและประเทศ
เรื่องความมั่นคงประเทศต้องใช้ สมช.เป็นกลไกกำหนดนโยบายวางทิศทาง เมื่อองค์กรมีหัวขบวนนำสะเปะสะปะโดยเฉพาะนำเรื่องความมั่นคงของประเทศที่มีความสำคัญมาก ก็จะส่งผลให้เสียทิศทางในการทำงาน และถ้าพูดถึง องค์กรสมช.ที่มีนายกฯมานั่งเป็นประธานบอร์ดเอง ถือว่าเป็นองค์กรที่มีกลไกในการทำการตกลงในเรื่องสำคัญ หากฝ่ายการเมืองต้องการอย่างไรก็จะต้องทำอย่างนั้น ประเทศก็จะเสียสถานะ แต่เดิมองค์กรมีอิสระในการทำงาน สามารถมีความเห็นแย้ง มีข้อสังเกตที่แตกต่างได้ เพราะต้องเข้าใจว่ารัฐบาลฝ่ายการเมืองที่เข้ามาอยู่นั้น ถึงจะเก่งยังไงเขาก็มีอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่คนที่ทำงานต่อเนื่องคือฝ่ายข้าราชการประจำ อยากให้รู้ว่างานด้านความมั่นคงเหมือนอากาศที่เราหายใจ ถ้าตราบใดยังมีอยู่เราไม่รู้สึก แต่ถ้าขาดไปเมื่อไหร่เราจะรู้สึก เพราะฉะนั้นถ้าเรื่องความมั่นคงถูกชี้นำ ถูกจัดแจงโดยฝ่ายการเมืองไปเสียทุกเรื่องประเทศก็จะกระทบแน่นอน
ขอบเขตงานของสมช. เป็นอย่างไร
หลักๆงานความมั่นคงของ สมช.ไม่ใช่งานทหารเพียงอย่างเดียว ผมเองมีเพื่อนเป็น ผบ.เหล่าทัพอยู่มาก ทหารอาชีพเหล่านี้ทราบดี ว่าการทำงานระหว่าง กองทัพ กับ สมช.มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจน คือ ทหารมีหน้าที่ป้องกันประเทศ ส่วน สมช.เป็นงานความมั่นคงที่ไม่เกี่ยวข้องเฉพาะการป้องกันประเทศแต่เกี่ยวข้องกับการด้านเศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ ลองสังเกตว่าทุกครั้งที่สมช.ไปติดต่อ ประสานงานด้านความมั่นคงต่างประเทศ ผมไม่เคยพบกระทรวงกลาโหม แต่จะไปพบกับรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงสาธารณะ เลขาธิการสมช.มาเลเซีย หรือประเทศต่างๆ ซึ่งงานเหล่านี้จะแยกออกจากงานของกลาโหม งานของทหาร
เมื่องานสมช.ไม่เกี่ยวกับงานด้านการทหาร แต่ทำไมเมื่อก่อนหัวขบวนสมช.จึงมักเป็นทหาร
แต่เดิมธรรมเนียมของการเอาทหารมาทำงานที่สมช.อาจจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลสองด้านด้วยกันคือ 1.เรื่องพัฒนาการของงานความมั่นคง เพราะงานความมั่นคงสมัยก่อนจะมีแง่มุมเดียวคือ การไปรบทัพจับศึก ป้องกันประเทศ ดังนั้นเมื่อก่อนจะเห็นชื่อของท่าน น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ , พล.อ.จรัล จรัล กุลละวณิชย์ หรือแม้แต่ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล
2. เดิมองค์กรสมช.ถูกก่อตั้งขึ้นมาและมีคนเข้ามาทำงานเป็นลูกหม้อ ที่เติบโตมาในสมช.ทำงานมา 20 ปี40ปี อาจจะยังไม่มี แต่หากช่วง 10 ปีย้อนหลังไป คนที่ทำงานเติบโตมาพร้อมกับองค์กรนั้นมันมีแล้ว ซึ่งเขาก็ได้สัมผัสงานด้านความมั่นคงมาโดยตลอด เขาพร้อมที่จะขึ้นมาทำงานเป็นเบอร์หนึ่งขององค์กรได้ การทำงานสมัย พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ท่านได้แสดงเห็นได้ชัดเจนว่าขณะที่ท่านเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมช.นั้น มีรองเลขาธิการสมช. ที่มีความอาวุโสมาก นั่นคือ นายประกิจ ประจนปัจจนึก อดีตเลขาธิการสมช. ซึ่งท่านพล.อ.วินัย ท่านเข้ามาก็ไม่ได้มีความสบายใจเลย เพราะท่านบอกว่าท่านเป็นทหารอาชีพ ท่านอยากจะกลับกระทรวงกลาโหม ท่านยังบอกว่างานสมช.ควรที่จะให้ ลูกหม้อ สมช.เขาเติบโต ด้วยเหตุนี้เองทหารที่เป็นทหารอาชีพ เขาจึงไม่คิดว่าอยากจะมา เพราะเขามีเส้นทางเติบโตในสายทหารเขาได้
ผมจึงบอกเพื่อนที่เป็นทหารอาชีพว่า ทหารบางส่วนเป็นทหารที่ทำให้สถาบันทหารเสื่อม คือไม่สามารถเติบโตในสายงานของตัวเองได้ จึงอยากมาโตในสายงานอื่น เพราะในตำแหน่งเลขาฯสมช.เทียบเท่า ซี11
อะไรคือเหตุผลที่ฝ่ายการเมืองพยายามดัน พล.ท.ภราดร มานั่งรองเลขาธิการ สมช.
ผมขอย้อนลำดับเหตุการณ์ตำแหน่งต่างๆ ในองค์กรสมช. ตั้งแต่ที่ เลขาธิการสมช.เป็นทหารโดย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยการ ซึ่งเป็นเพื่อน ท่านทักษิณ ได้นั่งเป็นเลขาธิการสมช.ท่านก็ได้โอน พล.ท.ภราดร ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็น โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่ไม่เคยแถลงเลยสักครั้ง ถามว่าเขาเคยผ่านงานด้านความมั่นคงมาอย่างโชกโชนหรือไม่ ก็ไม่มี เข้าใจว่าตั้งแต่ตอนนั้นพล.ท.ภราดร ก็เข้ามานั่งตำแหน่งรองเลขาธิการสมช.คนที่3 โดยใช้ช่องทางของ ท่านทักษิณ ซึ่งในขณะและเมื่อเข้ามาเป็นรองเลขาธิการสมช.แล้วก็ยังมีความพยายามที่จะชูบทบาท รอง3ขึ้นมา ในขณะที่ผมเป็นลูกหม้อ เขาพยายามที่จะตีความใช้เรื่องความเป็นอาวุโสอันดับหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลวไหลและผิดระเบียบชัดเจน แต่ก็ยังพยายามทำขึ้นมา ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อจะสืบทอดตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แทนผม แต่เมื่อ รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาผมก็ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อทางผู้ใหญ่เห็นว่า พล.ท.ภราดร เข้ามานั่งตำแหน่งรองเลขาฯสมช.อย่างไม่ถูกต้องก็ย้ายกลับ และเอาคนของ สมช.ขึ้นมา ซึ่งเรื่องของเรื่องคือการคืนความถูกต้อง
แต่ถ้าจะมองอีกเหตุผลหนึ่งคือ องค์กรสมช.เป็นองค์กรที่ตัดสินและมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญต่างๆในประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าเอาคนของตัวเองไปตั้งไว้ได้ ก็จะสามารถกำหนดทิศทางในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงได้ ซึ่งตรงนี้ถามว่าดีไหม ก็จะดีแน่สำหรับคนที่แต่งตั้งเข้าไป แต่จะดีต่อประเทศจริงหรือไม่ เพราะสิ่งที่ถูกต้องคือทุกอย่างควรจะเป็นกลไกที่เป็นอิสระบนพื้นฐานวิชาชีพ ไม่ใช่เป็นกลไกที่สั่งได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็นำหุ่นยนต์ไปตั้งไว้ก็ได้ ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นกันชัดเจนเช่น เรื่องนาซ่า เรื่องกัมพูชา ที่จะมีการปรับกำลังต่างๆ ถ้าถามว่าเลขาฯสมช.ที่เขาสามารถสั่งได้ เท่ากับว่าอะไรแล้วก็แล้วไปจะทำอะไรก็ทำไป แต่ถ้าเป็นพวกเราที่เขาเติบโตมากับสายงานมีความเชี่ยวชาญ เขาจะต้องคิดทุกด้าน และอะไรที่ค้านได้ก็จะค้าน จะไม่ปล่อยให้มันผ่านเลยไป โดยจะต้องคำนึงว่าเรื่องประโยชน์ประเทศเป็นหลัก
ได้รับเสียงสะท้อนจากข้าราชการสมช.บ้างหรือไม่ หลังจากมีการล้วงลูกทางการเมืองมากขึ้น
ผมมีประสบการณ์ทั้งในแง่ของข้าราชการชั้นผู้น้อย และเห็นการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองมาตลอด ตั้งแต่ตอนนั้นผมว่ามันไม่ถูกต้อง และเมื่อบัดนี้ผมเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หัวหน้าหน่วยขึ้นมาผมรู้ดี เพราะผมรู้จักลูกน้องผมดีทุกระดับชั้น คนที่เขาทำงาน แยกออกเป็นสองส่วน คนที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อุตสาหะ พากเพียร คนพวกนี้ปฏิเสธ ระบบการแทรกแซง การใช้อำนาจด้วยความไม่เป็นธรรม เพราะพวกนี้เติบโตมาด้วยความเป็นมืออาชีพ ถ้าพูดถึงเรื่องผลกระทบข้าราชการที่เป็นมืออาชีพในสมช. เขาสะท้อนออกมาว่าต้องการระบบคุณธรรม ผมรับประกันว่า 80-90% ข้าราชการในสมช.มีผลกระทบต่อขวัญกำลังใจ ส่วนที่สองคือพวกที่ประจบทำงานเอาหน้า เอาตำแหน่ง กลุ่มคนพวกนี้ก็จะชอบระบบการล้วงลูกเพราะคนเข้ามาทำงานใหม่จะไม่รู้ไม่เห็นความเป็นไปในองค์กร แต่คนเหล่านี้จะมีเพียงแค่ 10เปอร์เซ็นต์ขององค์กรเท่านั้น
กรณีที่อดีต 3บิ๊กสมช.จดหมายเปิดผนึก ถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านมติ ครม. ที่มีมติอนุมัติรับโอน พล.ท.ภราดร นั่งรองเลขาธิการ สมช.และโอนย้าย นายสมเกียรติ บุญชู รองเลขาธิการ สมช.ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมีที่มาอย่างไร
จดหมายเปิดผนึกเกิดขึ้นจากสิ่งที่อดีตเลขาธิการสมช.ทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นายสุวิทย์ สุทธานุกูล นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ และ ผม ที่เติบโตมาด้วยการเป็นลูกหม้อ อยู่ในสมช.มาคนละไม่ต่ำกว่า 30ปี พวกเรามามองร่วมกันว่าการที่มีคนจากภายนอกเข้ามาแล้วมาตัดโอกาสการเติบโตของคนข้างในองค์กร เป็นการทำลายขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถทุ่มเท และเต็มใจในการขับเคลื่อนการทำงานได้ และการที่คนนอกเข้ามานั้น ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันคามสำเร็จขององค์กร เพราะองค์กรหนึ่งย่อมจะมีจิตวิญญาณ มีสปิริต ในตัวองค์กรที่ถูกถ่ายทอดมาในรุ่นต่อรุ่น และงานด้านความมั่นคงเป็นงานสำคัญของประเทศต้องการคนที่ฝึกปรือคนที่ฝึกฝนคน ที่มีประสบการณ์ในงานเหล่านั้นมา อดีตเลขาฯสมช. จึงทำหนังสือขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าระบบราชการที่ไม่มีระบบคุณธรรมกำกับทำให้เสียหายทั้งในภาพรวม และเห็นว่ากรณีคุณสมเกียรติ ที่ถูกสับเปลี่ยนนั้นไม่เป็นธรรม การเอาคนข้างนอกเข้าไปไม่เป็นธรรมอยู่แล้วแต่นี่ยังกลับเอาคนข้างในออกอีก ยิ่งเป็นการซ้ำเติม ถ้าเป็นอย่างนี้องค์กรจะมีความมั่นคงเป็นรูปเป็นร่างอยู่ได้อย่างไร
หลังจากทีส่งจดหมายเปิดผนึกไปได้รับการติดต่อกลับมาหรือไม่
ไม่มีการตอบกลับมาเลย แต่เรารู้ตั้งแต่ทีแรกแล้วว่าคงไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ก็อยากทำให้เรื่องทุกอย่างได้ปรากฏขึ้นเหมือนกัน เพราะอย่างน้อยคุณสมเกียรติ จะได้รับรู้ถึงความเห็นอกเห็นใจของเพื่อนร่วมวิชาชีพ และจะได้รู้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มองเห็นความไม่เป็นธรรม และเรื่องแบบนี้ทำได้อย่างเดียวคือ การขอร้อง