นักวิชาการชี้งบ 1.5 หมื่นล้าน พยุงราคายางกก.ละ 100 ไม่แก้ปัญหา
ม.หอการค้าไทยฟันธง “ณัฐวุฒิ” ชงงบครม. 1.5 หมื่นล้าน พยุงราคายางกก.ละ 100 บาท ไม่สำเร็จ แนะเร่งจูงใจต่างชาติตั้งโรงงานแปรรูปส่งออกในไทยแก้ปัญหาระยะยาว
วันที่ 21 ส.ค. 55 ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวนิช ผอ.ศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยการวิเคราะห์ “อนาคตยางพาราไทยภายในเออีซี และทิศทางราคายางพารา” ณ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยว่า ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดอันดับ 2 ของโลก มีเนื้อที่ 18.76 ล้านไร่ ขณะที่อันดับ 1 คือ อินโดนีเซีย มีพื้นที่ 21.93 ล้านไร่ และอันดับ 3 คือ มาเลเซีย มีพื้นที่ 6.58 ล้านไร่ เมื่อรวมพื้นที่ทั้ง 3 ประเทศ มีพื้นที่ปลูกยางมากกว่า 60% ของโลก โดยกลุ่มการศึกษายางระหว่างประเทศได้ศึกษาพบว่า อนาคตประเทศผู้ผลิตยาง เช่น จีน เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย เริ่มสนใจการปลูกในประเทศอื่น เช่น พม่า ลาว กัมพูชา เพราะที่ดินในประเทศไม่เพียงพอ
ส่วนการส่งออกยางของไทยไปประเทศผู้ใช้นั้น ครึ่งแรกปี 55 เทียบกับครึ่งแรกปี 54 ไทยส่งออกยางลดลง 26.8% แต่การส่งออกไปยุโรปลดลงมากที่สุด 50.43% ขณะที่การส่งออกไปอินเดียเพิ่มขึ้น โดยไทยยังส่งออกยางแท่งอันดับ 1 ของโลกที่ 44.07% เพราะตลาดต้องการยางแท่งมากในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่การส่งออกยางแผ่นรมควันและน้ำยางข้นกลับลดลง
ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวต่อว่า ทิศทางราคายางไทยเคยขึ้นสูงสุดเมื่อต้นปี 54 กก.ละ 189.74 บาท เพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น แต่เมื่อยุโรปเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจถดถอยจนทำให้ราคายางอยู่ที่ราคากก.70-85 บาท เนื่องจากไทยผูกโยงกลไกราคายางติดกับความต้องการของต่างประเทศมากเกินไป จนลืมการบริหารจัดการด้านการผลิต ทำให้ราคายางต้องขึ้นอยู่กับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากมองค่าความยืดหยุ่นเมื่อเศรษฐกิจของอเมริกาเพิ่มขึ้น 1% ราคายางของไทยจะเพิ่มขึ้น 4.21% ถ้าเศรษฐกิจของยุโรปเพิ่มขึ้น 1% ราคายางของไทยจะเพิ่มขึ้น 4.42% ปริมาณผลผลิตยางของโลกเพิ่มขึ้น 1% ราคายางของไทยจะลดลง 3.26%
สำหรับทิศทางการคาดการณ์ราคายางของไทยปี 55-60 เกิดขึ้น 3 กรณี ได้แก่ กรณีแย่ ราคายางจะไต่ระดับจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปไม่ฟื้นตัวจากลดลงสูงสุดเหลือกก.ละ 71 บาท ปรับตัวสูงขึ้นเพียง 90 บาท มีแนวโน้มเป็นไปได้ถึง 40% กรณีปกติ วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปเริ่มคลี่คลายขึ้น ราคายางจากลดลงสูงสุดกก.ละ 85 บาท ปรับตัวสูงขึ้น 107 บาท มีแนวโน้มเป็นไปได้ 50% ขณะที่กรณีดี มีเพียง 10% เท่านั้นที่ราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นกก.ละ 120 บาท
“ราคายางปรับตัวตามความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งปี 56 มีแนวโน้มจะถดถอยมากกว่าเดิม อาจทำให้ราคายางไต่ระดับไม่ถึงกก.ละ 120 บาท หากจะลดพื้นที่ปลูกลงคงไม่สามารถทำได้ เพราะเกษตรกรได้ขยายพื้นที่มากแล้ว แต่ยังสามารถจำกัดการปลูกในพื้นที่ใหม่ได้”
ผศ.ดร.อัทธ์ จึงเสนอให้เปลี่ยนกระบวนการควบคุมการผลิตยางทั้งระบบ โดยเฉพาะตั้งไทยเป็นศูนย์กลางยางพารา ดึงนักลงทุนในอาเซียนเข้ามาตั้งโรงงานแปรรูป โดยความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย นอกจากนี้ต้องปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโดยไม่แทรกแซง ผ่านการส่งเสริมอุตสากรรมในประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ยางต่าง ๆ เพื่อช่วยปัญหาราคาและการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ ที่สำคัญต้องเร่งจัดตั้งการยางแห่งประเทศไทย โดยปราศจากนักการเมือง เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการยางของชาติทั้งระบบได้ต่อเนื่อง
แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือ ต้องกระจายตลาดกลางให้เป็นแหล่งรองรับสินค้าในราคายุติธรรม และเสาะหาตลาดใหม่ เช่น กลุ่มรัสเซีย บราซิล เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็ว และมีตลาดล้อยางอันดับต้น ๆ ของโลก และต้องลงทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทั้งระบบ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน และรองรับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกยางในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอางจากสารสกัดเปลือกไม้ยาง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบายอุดหนุนงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อแทรกแซงราคายางให้มีราคากก.ละ 100 บาทนั้น ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การแทรกแซงราคายางในตลาดเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวเท่านั้น อาจทำให้ราคากระเตื้องที่กก.ละ 100 บาทเพียงระยะหนึ่ง แต่หากเกษตรกรต้องการให้ยางมีราคากก.ละ 120 บาทอีก รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องบอกความจริงกับเกษตรกรถึงปัญหาดังกล่าว เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ต่อไปอีก 5 ปี และเร่งผลักดันให้เกิดโรงงานแปรรูปยางในประเทศแทน จะช่วยแก้ปัญหาระยะยาวได้ดี พร้อมย้ำให้จับตาพืชเศรษฐกิจอีก 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว น้ำมันปาล์ม และกาแฟ ที่จะประสบกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำในอนาคตด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 ส.ค. 55) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอครม. เพื่อขออนุมัติกรอบวงเงินสินเชื่อจากธกส. อีก 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้แทรกแซงราคายางให้ได้กก.ละ 100 บาท ภายหลังกลุ่มเกษตรกรชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นราคายางกก.ละ 120 บาท.