ไทยรวยตอนคนอื่นจน ดร.โกร่ง ชี้ไม่มีอะไรดีกว่านี้ แนะเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ประธาน กยอ.แนะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไทยจำเป็นต้องเร่งลงทุน เพื่อชดเชยการชะลอตัวของการส่งออก เลิกคิดเราเป็นประเทศขาดดุลมาตลอด ทั้งที่เราเป็นประเทศเกินดุลบัญชีเกินสะพัดมานานถึง 15 ปีแล้ว
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ "จุดเปลี่ยนการค้าโลก : ไทยจะเดินอย่างไร" ในโอกาสร่วมฉลองครบรอบ 92 ปี กระทรวงพาณิชย์ ว่า ขณะนี้ เราอยู่ในทางสามแพร่งมาถึงจุดที่เราเลือกจะเลี้ยวซ้ายหรือขวาดี เพราะโลกข้างหน้านั้นเป็นเหว มีแค่ซ้ายกับขวา เท่านั้นที่จะไปได้ เพราะหัวจักรที่สำคัญตลอดมา นั่นก็คือสหรัฐอเมริกา ยังไม่ฟื้นง่ายๆ
"ขณะที่ยุโรป ก็ผิดธรรมชาติ เอาคนแข็งแรง มาผูกขากับคนอ้วน ลูกเล็กเด็กแดงแล้วบอกเดินไปด้วยกัน ซึ่งพอเดินไปสักพักก็ไปไม่ไหว ล้มลุกคลุกคลาน ถูลู่ถูกังกันไป และเหตุที่ไม่ไหวเพราะใช้เงินต่างสกุลเดียวกัน ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันต่างกัน ซึ่งเมื่อนิ้วแต่ละนิ้วไม่เท่ากัน ไอ้พวกนิ้วก้อย นิ้วโป้งก็ไปไม่ไหว แข่งขันไม่ไหว ก็ขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ดังนั้น ยุโรปรอวันระเบิดเท่านั้นเอง ยกเว้นแต่ว่าตัดนิ้วร้าย นิ้วเน่าออกไปรักษา ให้กลับไปใช้ค่าเงินเก่าของประเทศนั้นๆ และลดค่าเงินลง แต่ถ้าใช้เงินสกุลยุโรปอยู่อย่างนี้จะพลอยกันล้มทั้งแผง"
ดร.วีรพงษ์ กล่าวอีกว่า เมื่อสถานการณ์สหรัฐฯ ยุโรปเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ตลาดโลกซบเซา และกระทบต่อมามาถึงบ้านเราพี่ใหญ่ในภูมิภาคนี้ นั่นคือประเทศจีน ที่พึ่งตลาดอเมริกา ยุโรป เป็นหลัก แต่ทั้งนี้ จีนก็ยังคงระมัดระวัง ดูแลผลประโยชน์ของชาติได้อย่างดีเยี่ยม เร่งการลงทุนในประเทศหนักมาก โดยเฉพาะในภาครัฐ เพื่อทดแทนรายรับจากการส่งออก
สำหรับประเทศไทย ประธาน กยอ. กล่าวว่า มีการติดต่อการค้ากับประเทศที่อยู่ทางภาคตะวันออกของอ่าวไทย 70% ส่วนประเทศทางฝั่งภาคตะวันตก หรืออันดามัน เพียง 30% ทั้งนี้ เพราะค่าขนส่งไปทางฝั่งตะวันตกแพงกว่า ซึ่งถ้ามีการสร้างท่าเรือทวายจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมหาศาล สัดส่วนทางการค้าทั้งสองด้านของประเทศไทยจะได้ทัดเทียมกัน
" เมื่อที่ตั้งของไทยติดกับพระเอกของโลก อย่างจีน เห็นว่าไทยได้เปรียบมากที่สุด เพราะเป็นประตูของอาเซียนในภูมิภาคนี้ ผมจึงเห็นว่า โครงการแรกที่ไทยต้องรีบสนับสนุนคือเชื่อมโยงมาบตาพุด แหลมฉบัง กับทวาย ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จจะทำให้สัดส่วนการค้าด้านตะวันตกของไทยขยายตัวมหาศาล ตลาดการค้าสินค้าไทย จะขยายไปยังอินเดีย ตะวันออกกลางมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจุดสำคัญที่เปลี่ยนโฉมการค้าของไทย ในช่วงระยะเวลา 20-30 ปีข้างหน้า"
ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ กล่าวต่อว่า ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งลงทุน เพื่อชดเชยการชะลอตัวของการส่งออก และต้องไม่คิดว่าเราเป็นประเทศขาดดุลมาตลอด ทั้งที่เราเป็นประเทศเกินดุลบัญชีเกินสะพัดมานานถึง 15 ปีแล้ว ตั้งแต่หลังยุคเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง รวมๆ แล้วประมาณ 1 ล้านล้านบาท
"การเร่งที่จะสร้างเครื่องอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญ เพราะเอกชนไทยอยากลงทุนมาก แต่มาถึงจุดที่ไม่สามารถไปต่อได้ ระบบการขนส่งยังล้าหลัง ดังนั้น ต้องประกาศวันนี้ ตัดสินใจเดี๋ยวนี้ เพราะต้องรออีก 6 ปีกว่าจะเสร็จ "
ดร.วีรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันนี้ไทยเงินออมมาก เรารวยตอนคนอื่นจน ไม่มีอะไรดีกว่านี้ แค่พูดเรื่องรถไฟความเร็วสูง โครงการน้ำท่วม ทุกประเทศวิ่งกันขาขวิด หูดับตับไหม้แล้ว เพื่อให้ได้งานไปจุนเจือการว่างงานในประเทศ
"ถ้าตอนประเทศไทยมีเงินแล้ว ประเทศอื่นรวย ไม่สนุกเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเห็นว่า ประเทศไทยเร่งลงทุนสร้างเครื่องอำนวยความสะดวกพื้นฐานทั้งถนน รถไฟ สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก ระบบการขนส่งตอนนี้ดีที่สุด"