เจ้าสัวซีพี ชี้หมดยุคขายข้าวถูก หนุนไทยผลิตข้าวคุณภาพ ยึดตลาดโลก
“ธนินท์” ชี้วิกฤตปี’56 ย่ำแย่กว่าปัจจุบัน จี้ แบงก์ชาติผ่อนคลาย-เพื่มสภาพคล่องให้เอกชน หนุนรัฐส่งเสริมปลูกพืชพลังงาน แทนข้าว-รุกธุรกิจท่องเที่ยวให้มากขึ้น
วันที่ 20 สิงหาคม ในงานฉลองครบรอบ 92 ปี กระทรวงพาณิชย์ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ว่า ประเทศไทยไม่ควรไปกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อมากจนเกินไป ต้องยอมรับในเรื่องค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่แพงขึ้น เนื่องจากเราไม่สามารถไปควบคุมปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันได้ สิ่งที่ต้องคิดในขณะนี้คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจปี 2555 นายธนินท์ กล่าวว่า ยังไม่ใช่ปีที่ย่ำแย่ที่สุด เชื่อว่าปี 2556 เศรษฐกิจจะย่ำแย่กว่าปีนี้ และยุโรปกับสหรัฐอเมริกา อาจต้องใช้ระยะเวลาเป็น 10 ปีในการฟื้นตัว ทำให้ขณะนี้มองว่า น่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทย คนไทย และการค้าในเอเชียที่จะร่ำรวยขึ้น
“ปัจจุบันประเทศไทยมีเงินทุนสำรองไม่ต่ำกว่า 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ รวยที่สุดในอาเซียน และอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก ขณะที่หนี้ระยะสั้นมีไม่กี่หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ฉะนั้นเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องผ่อนคลาย ปล่อยเงินให้ออกมาสู่ภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อความคล่องตัว ขณะเดียวกันรัฐบาลควรนำเงินออกมาใช้อย่างเต็มที่ โดยส่งเสริมกำลังซื้อภายในประเทศ ส่งเสริมนักธุรกิจ และการลงทุน เช่นการสร้างท่าเรือ ระบบชลประทาน รถไฟรางคู่ความเร็วสูง รวมถึงไปให้เงินกู้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง เพื่อผลิตเอทานอล ทดแทนการน้ำเข้าน้ำมันดีเซล เบนซิน ไม่ใช่ส่งเสริมแต่การปลูกข้าวอย่างเดียว”
นายธนินท์ กล่าวถึงการค้าข้าวทั่วโลก ค้าข้าวแค่ 5% ส่วนอีก 95% ใช้บริโภคภายในประเทศ เพราะฉะนั้น ธุรกิจค้าข้าวไม่ได้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุด ประเทศไทยควรนำที่ดิน 25 ล้านไร่ไปทำเรื่องชลประทานให้สมบูรณ์แบบ และจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อปลูกข้าว ส่วนที่เหลือนำไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีราคาดีกว่าข้าว อาทิ ปาล์ม ยางพาราฯ ไม่ใช่ไปแข่งเรื่องการเป็นแชมป์ข้าวที่มีผลผลิตสูง ขายข้าวราคาถูก ในทางกลับกันต่อไปประเทศไทย จะต้องเป็นแชมป์ เป็นเจ้าโลกในเรื่องการขายข้าวที่มีคุณภาพ
“ส่วนที่นักวิชาการออกมาระบุว่าโครงการจำนำข้าวไม่ดี รัฐบาลขาดทุนแสนล้านบาทนั้น ตนไปศึกษา สอบถามจากบรรดาเกษตรกรแล้วพบว่า โครงการจำนำดีกว่าโครงการประกันราคาแน่นอน เนื่องจากโครงการประกันราคานั้น นักธุรกิจค้าข้าวได้ประโยชน์ เพราะการซื้อถูกและนำไปขายถูกสามารถทำได้โดยง่าย ขณะที่โครงการจำนำนั้น ผู้ได้ประโยชน์คือชาวนา ผู้เสียหายคือ รัฐบาล และนักธุรกิจ ซึ่งตรงนี้เห็นว่า รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือนักธุรกิจค้าขายด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ต้องศึกษาปกป้องความเสียหายจากการรั่วไหลของโครงการด้วย เพราะไม่ว่าจะโครงการจำนำหรือประกันก็พบปัญหานี้ไม่ต่างกัน” นายธนินท์ กล่าว และว่า ในอนาคตประเทศไทยจำเป็นต้องเจรจากับเพื่อนบ้าน เช่น อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา ในเรื่องการค้าขายข้าว เพราะต่อไป "พม่า" จะกลายเป็นประเทศคู่แข่งที่ถาวรของไทยในเรื่องนี้
ส่วนธุรกิจอื่นๆ ที่จะเป็นโอกาสของประเทศไทยในอนาคตนั้น นายธนินท์ กล่าวว่า นอกจากเรื่องการผลิตพืชพลังงานแล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวมีความน่าสนใจ เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของไทย ควรมีการศึกษาวิจัยถึงสิ่งจูงใจให้คนเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะชาวจีน เพราะหากสามารถดึงคนจีนที่ร่ำรวย 10% หรือประมาณ 130 ล้านคนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ จะนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยได้มหาศาล เพราะจากเดิมประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวประมาณปีละ 19 ล้านคน ฉะนั้นเห็นว่ารัฐบาลต้องสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ต้องร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ด้วย
“ขณะเดียวกันอีกหนึ่งธุรกิจที่เห็นว่าไทยติดลมบนแล้ว คืออุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งตนอยากให้รัฐบาลตั้งเป้าในเรื่องการสร้างคนที่มีความสามารถ โดยจับมือกับมหาวิทยาลัย ผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองอุตสาหกรรมประเภทนี้โดยเฉพาะ อย่าไปผลิตนักศึกษาแล้วออกมาไม่มีงานทำ นอกจากนี้เห็นว่าควรเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางภาคอีสาน ภาคเหนือของไทย และควรลดภาษีบริษัทให้อยู่ที่อัตรา 16%-17% ต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง เพื่อดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น”
ที่มาภาพ: อินเทอร์เน็ต