นิด้าเปิดผลสำรวจพฤติกรรมทุจริต พบ 94 % วิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งมากสุด
นิด้าโพล ระบุพฤติกรรมทุจริต วิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง-ซื้อเสียง-จนท.รีดไถเงิน มากสุด แนะทางแก้ต้องใช้ กม.จริงจัง-ลงโทษเด็ดขาด พร้อมเปิดศูนย์ศึกษานิติเศรษฐศาสตร์จับตานโยบายรัฐ
วันที่ 20 สิงหาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "พฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่น" โดยทำการสำรวจประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,873 หน่วยตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 31 ก.ค. – 6 ส.ค. 2555
ผศ.ดร.ณัฐฐา วินิจนัยภาค ผอ.ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน "นิด้าโพล" กล่าวถึงผลการสำรวจพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่น ว่า พฤติกรรมที่ประชาชนคิดว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุด อันดับแรกกว่า 94.55% คือ การวิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่งและซื้อตำแหน่ง อันดับต่อมา 93.86% คือ การรับเงินเพื่อลงคะแนนเสียงให้กับนักการเมือง และอันดับสาม 92.10% คือ การรีดไถจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
สำหรับพฤติกรรมที่ประชาชนพบเห็นมากที่สุด กว่า 85.16% คือ การแซงคิวผู้อื่น และ 82.38% มองว่าคือการขับรถแทรกผู้อื่นโดยไม่มีการต่อแถว และกว่า 70.10% คือ การรับเงินเพื่อลงคะแนนเสียงให้กับนักการเมือง ทั้งนี้ ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า 65.46% ประชาชนคนไทยทุกๆ คน มีหน้าที่ในการต่อต้านปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ส่วนวิธีการที่จะต่อต้านทุจรติคอร์รัปชั่นให้ได้ผลนั้น ประชาชนเห็นว่าควรใช้กฎหมายอย่างจริงจังและดำเนินการลงโทษผู้กระทำการทุจริตอย่างเด็ดขาด รวมทั้งปลูกฝังจิตสำนึก คุณธรรม จริยธรรมให้กับเยาวชนตั้งแต่วัยเด็ก
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิจัยและอดีตกรรมการ ป.ป.ช. และนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกันแถลงจัดตั้งศูนย์ศึกษานิติเศรษฐศาสตร์ขึ้น เพื่อศึกษาด้านนิติเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจรติอย่างเป็นระบบ ตลอดจนมีเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างนักเศรษฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์ เพื่อนำบทสรุปทางวิชาการร่วมกันนี้มาประยุกต์ใช้ในงานของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยที่ศูนย์ศึกษานิติเศรษฐศาสตร์นี้จะจัดตั้งอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ศ.ดร.เมธี กล่าวว่า ประเด็นด้านนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์มีความใกล้ชิดกันอย่างมากและมีมุมมองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นค่อนข้างจะแตกต่าง นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าผู้ที่มีความรู้ทั้งด้านนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ก็มีไม่มากนักในประเทศไทย จึงคาดหวังว่าศูนย์ศึกษานิติเศรษฐศาสตร์ จะสามารถปิดช่องว่างความไม่สมบูรณ์ของการทำงานทั้ง 2 ศาสตร์นี้ได้
ศ.ดร.เมธี กล่าวถึงภารกิจและอำนาจหน้าที่ของศูนย์ศึกษานิติเศรษฐศาสตร์ด้วยว่า จัดตั้งขึ้นเพื่อ
1.ทำวิจัย ซึ่งเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและต้องมีมุมมองของเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์เป็นพื้นฐาน
2.เมื่อมีงานวิจัยหรือองค์ความรู้ในปรากฏการณ์บนพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่เกี่ยวกับประเด็นด้านการต่อต้านการทุจริตแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ การสร้างนโยบาย (Policy Design) และ Policy Implementation ที่มีกรอบหรือทิศทางด้านนโยบาย ซึ่งช่วยส่งเสริมการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านการต่อต้านการทุจริต
3.การทำหน้าที่ในการเข้าไปแทรกแซงนโยบายของรัฐ (Policy Invertvention) ว่ามีความถูกต้องชอบธรรมเพียงใด มีความเบี่ยงเบนออกไปจากทิศทางของกฎหมาย หรือทิศทางของเศรษฐศาสตร์อย่างไรบ้าง
4.สถานะขององค์กรของศูนย์ศึกษานิติเศรษฐศาสตร์จะต้องเป็นองค์กรลักษณะ research based อย่างเด่นชัด