ปฏิรูปนโยบายอาญาแก้ปัญหาใต้ (1) ทบทวน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดึงชาวบ้านมีส่วนร่วม
"กระบวนการยุติธรรมที่มิอาจให้ความเป็นธรรม" เป็นหนึ่งในมูลเหตุของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พูดกันมาเนิ่นนาน แต่มีน้อยครั้งที่ได้แจกแจงแยกแยะว่า "จุดอ่อน" หรือ "ช่องโหว่" ที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมนั้นอยู่ตรงไหน และจะแก้ไขกันอย่างไร
ปุณยวีร์ ประจวบลาภ ผู้ช่วยผู้พิพากษา นิติศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเนติบัณฑิตไทย เขียนบทความเรื่อง "นโยบายทางอาญาที่เหมาะสมสำหรับผู้กระทำความผิดอาญาในจังหวัดชายแดนภาคใต้" อธิบายสภาพปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขเอาไว้ค่อนข้างชัดเจน
ถือเป็นมุมมองจากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายที่มีไม่บ่อยครั้งนัก จึงนับเป็นบทความที่มิควรปล่อยให้ผ่านเลย...
บทนำ
เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานและยากที่จะแก้ไข หากย้อนไปในประวัติศาสตร์ ปัญหานี้ได้เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่สมัยที่ไทยต้องการผนวกรัฐปัตตานี หรือดินแดนแถบชายแดนภาคใต้ของไทยปัจจุบันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ทั้งที่เดิมไทยปกครองรัฐปัตตานีอย่างเป็นประเทศราชโดยให้อำนาจในการปกครองตนเอง ประกอบกับนโยบายชาตินิยมของไทยที่บังคับให้นำภาษา ศาสนา วัฒนธรรมของไทยเข้าไปใช้ในดินแดนของรัฐปัตตานีเดิมซึ่งเป็นรัฐอิสลาม จึงก่อให้เกิดการต่อต้านจากชุมชน
ปัจจุบัน เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรุนแรงและคุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง มีการฆ่าและทำร้ายชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เผาสถานที่ราชการ เผาโรงเรียน และวางระเบิดสถานที่สำคัญหรือเส้นทางคมนาคมต่างๆ ประกอบกับการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล ทำให้ความไม่เข้าใจกันระหว่างส่วนกลางและคนในชุมชนมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบายทางอาญาเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดยังมีปัญหาในหลายด้าน
จากการศึกษาของ คณะกรรมการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (2551: 10-21) และ ผศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย และคณะ ในฐานะคณะทำงานส่งเสริมการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม คณะอนุกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (2549: 31-49) ได้จัดแบ่งปัญหาในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไว้หลายประการ อาทิ
1.การขาดยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรม และขาดการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม ทำให้การดำเนินงานของแต่ละฝ่ายไม่เกื้อหนุนกัน ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นอุปสรรคในการดำเนินงานของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมแต่ละฝ่ายด้วย
2.การข่าวที่ไม่มีความแม่นยำและมีอคติ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อใจและไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งส่งผลกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนในส่วนรวม
3.การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจที่ไม่ชอบตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เช่น การออกหมายจับหรือจับกุมโดยมิได้กระทำผิด การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การค้นโดยไม่มีอำนาจ การสอบสวนที่ผิดขั้นตอนของกระบวนพิจารณาคดีอาญา การไม่อนุญาตให้ประกันตัวตามสิทธิของจำเลยตามกฎหมาย การใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเห็นได้ชัดในกรณีที่เจ้าหน้าที่ยิงถล่มผู้ก่อความไม่สงบที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี หรือการสลายการชุมนุมประท้วงที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส รวมถึงการลักพาตัวบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นต้น
4.ความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดกับประชาชนกระทำความผิด
5.การขาดพยานหลักฐานที่เพียงพอจะนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ เนื่องด้วยพยานบุคคลกลัวอันตราย ไม่กล้าให้ปากคำ ประกอบกับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ยังไม่ค่อยมีการพัฒนาและไม่คำนึงถึงมิติทางศาสนาและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เช่น การผ่าศพและขุดศพเพื่อพิสูจน์ตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ยังมีหลักปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน นอกจากนี้ ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมมาจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้บริสุทธิ์และมิได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงแต่อย่างใด
6.ผู้ต้องหามักต้องการทนายความมุสลิมซึ่งมีจำนวนจำกัด ทนายความจึงมีภาระทางคดีมากและต้องเลื่อนคดีอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้ง ศาลไม่มีการบริหารจัดการคดีที่เหมาะสม เช่น การสืบพยานล่วงหน้าก่อนฟ้อง การพิจารณาพิพากษาคดีในวันหยุดราชการ และการบริหารงานสืบพยาน เป็นต้น
ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการกำหนดนโยบายทางอาญาที่ผิดพลาด และส่งผลให้การดำเนินการตามนโยบายไม่สัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติด้วย ดังนั้นบทความฉบับนี้จึงมุ่งที่จะศึกษาและวิเคราะห์เพื่อแสวงหานโยบายที่เหมาะสมสำหรับผู้กระทำความผิดอาญาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และบรรเทาความเดือดร้อนของคนในท้องถิ่น
นโยบายทางอาญาที่เหมาะสม: เหตุผลสนับสนุนและข้อโต้แย้งทางวิชาการ
นโยบายทางอาญานั้น ครอบคลุมถึงนโยบายที่รัฐพึงปฏิบัติตั้งแต่ก่อนเกิดการกระทำความผิดอาญาเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น หรือลดจำนวนอาชญากรรมลงให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ตลอดจนนโยบายในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเมื่อเกิดการกระทำความผิดอาญาขึ้นแล้ว เพื่อดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดอย่างเป็นธรรมและป้องปรามการกระทำความผิดดังกล่าวมิให้เกิดขึ้นซ้ำอีก
ในเบื้องต้นนั้น การกำหนดนโยบายทางอาญาที่เหมาะสมต้องคำนึงถึงบริบททางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี และศาสนาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย อีกทั้งบุคลากรทุกภาคส่วนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องร่วมมือกันและทำงานอย่างประสานสอดคล้องกันเพื่อดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีประสิทธิภาพ โดยจะพิจารณาตามลำดับของปัญหาทางด้านนโยบายทางอาญาที่เกิดขึ้น 7 ประการ ดังนี้
1.การกำหนดนโยบายทางอาญาในภาพรวม
การกำหนดนโยบายทางอาญานั้น มีความขัดแย้งของแนวคิดด้านการปราบปรามอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพ (Crime Control Model) และการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม (Due Process Model) โดยฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงเด็ดขาดในการป้องกันอาชญากรรม ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้คำนึงถึงหลักการตามกฎหมายและหลักนิติธรรม เคารพในสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน อย่างไรก็ตาม การกำหนดนโยบายทางอาญาไม่จำเป็นต้องมุ่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งโดยตรง หากแต่ผสมผสานแนวคิดทั้งสองประการเข้าด้วยกันได้ และต้องจัดความสมดุลระหว่างการใช้แนวคิดทั้งสองด้าน
เดิมการใช้นโยบายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นิยมใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหามาก โดยเฉพาะการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่โดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้เกิดปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวนและกำหนดนโยบายทางอาญาใหม่ที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีการโต้แย้งอยู่เสมอว่าการกำหนดนโยบายทางอาญาโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนนั้นไม่อาจกระทำได้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะปัญหาภาคใต้มีความรุนแรงและผู้กระทำความผิดเป็นผู้ที่ถูกครอบงำด้วยความเชื่อทางศาสนาที่ถูกบิดเบือน จึงสามารถกระทำการที่รุนแรงได้ทุกรูปแบบโดยยึดถือว่าเป็นการต่อสู้ตามแนวทางของศาสนาเพื่อปกป้องศาสนา เห็นได้ชัดในกรณีที่มีการฆ่าตัดคออย่างโหดเหี้ยม หรือการวางระเบิดเผาโรงเรียนโดยไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ทางฝ่ายบริหารจึงมักกำหนดนโยบายที่ใช้กำลังในการแก้ไข โดยเฉพาะการที่รัฐบาลไม่ยอมยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งยังมีการต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.นี้ต่อไปเรื่อยๆ ทั้งที่บุคคลหลายกลุ่มเรียกร้องให้มีการยกเลิกเพราะกระทบต่อความเป็นอยู่ปกติของประชาชนในพื้นที่มากเกินไป
นอกจากนี้ การกำหนดนโยบายทางอาญาต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ที่ประสบกับปัญหาความรุนแรงโดยตรง รวมถึงรับฟังความคิดเห็นขององค์กรภาคเอกชนและองค์กรที่เป็นกลางด้วย มิใช่ภาครัฐกำหนดนโยบายโดยไม่สนใจความคิดเห็นขององค์กรอื่นใด ซึ่งจะกลายเป็นนโยบายที่ไม่สามารถใช้ได้ผลจริง เพราะความไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งในปัญหา ดังเช่นนโยบายต่างๆ ที่ผ่านมาของทุกรัฐบาลไม่อาจแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้อย่างแท้จริง และกลับเป็นชนวนสร้างความโกรธแค้นให้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมากขึ้น จนสร้างสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อมีการกำหนดนโยบายทางอาญาที่ดีแล้ว การปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดไว้ย่อมมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การดำเนินการตามนโยบายทางอาญาที่กำหนดไว้จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการประสานงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับประชาชน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อปัญหาร่วมกัน และกระตุ้นให้ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกันกับภาครัฐ
ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์ทางอาญาต้องสามารถบรรลุผลเพื่อให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ รวมถึงให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และทำงานสอดคล้องร่วมกันอย่างเป็นระบบโดยคำนึงถึงความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติส่วนรวม
2.นโยบายทางอาญาด้านข้อมูลข่าวสารในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม
ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนย่อมเป็นอุปสรรคต่อการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ดังนั้นรัฐจึงต้องสร้างเครือข่ายด้านการข่าวที่เป็นกลางและควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านการข่าวของภาครัฐ เพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเที่ยงธรรม ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน เช่น การจับกุมผู้กระทำความผิดผิดคน อันเนื่องมาจากข่าวสารที่ผิดพลาด
นอกจากนี้ ต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชนในท้องถิ่น เผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนแก่ชุมชนเพื่อให้สามารถปกป้องสิทธิของตนเองในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ อีกทั้งรัฐต้องให้ความช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ โดยเฉพาะผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ต้องได้รับทราบข้อมูลและสิทธิของตนในการดำเนินคดีตามกฎหมาย
ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553-2557 ของกระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมประชาสัมพันธ์เชิงรุกด้านการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้รู้ข่าวสารที่ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่นำเสนอมาข้างต้น
อย่างไรก็ตาม การได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรมนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะไม่มีมาตรฐานใดที่อาจรับรองได้ว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้จริง ทั้งประชาชนอาจไม่ยอมรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของทางราชการ อันเนื่องจากความไม่เข้าใจกันที่สั่งสมมานาน และความไม่เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นการจะทำให้ประชาชนเชื่อใจจึงต้องอาศัยระยะเวลายาวนาน
3.นโยบายทางอาญาด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
นโยบายทางอาญาด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน นับว่าเป็นนโยบายที่สำคัญและภาครัฐควรคำนึงถึงเป็นลำดับต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวางโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเพียงพอ ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลเสียหายต่อผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ทำให้เขาสูญเสียอิสรภาพโดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม
ดังนั้นนโยบายทางอาญาด้านนี้จึงมุ่งเน้นถึงการปฏิบัติงานของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด ทั้งเป็นเจ้าพนักงานที่ใกล้ชิดกับผู้ถูกกล่าวหามากที่สุดอันอาจกระทำการที่เป็นล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาได้ง่าย
สำหรับนโยบายทางอาญาในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนั้น แบ่งได้เป็นหลายประการ ได้แก่
3.1 การจับกุม บางครั้งไม่อาจแยกการจับกุมกับการเชิญตัวมาสอบปากคำได้ เพราะเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการเดียวกัน และมักใช้การข่มขู่หรือบังคับโดยนำกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจหลายนายปิดล้อมบ้านของผู้ที่ต้องการจับกุม นอกจากนี้เมื่อมีการเรียกบุคคลใดไปแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่แจ้งให้ญาติของผู้นั้นทราบ ทำให้ญาติเกิดความกังวลใจ รวมถึงด้วยเหตุที่การข่าวของภาครัฐไม่มีความแม่นยำและน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยผิดพลาดเสมอ
ดังนั้นควรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐชี้แจงต่อญาติพี่น้องของผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่ถูกเชิญตัวให้ทราบถึงข้อเท็จจริงและเหตุผลของการถูกเชิญตัว รวมทั้งแจ้งให้ทราบถึงสถานที่ที่นำตัวผู้นั้นไปสอบปากคำด้วย ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคนที่เสมอภาคเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ควรรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนแน่นอนก่อนมีการเชิญตัวผู้ต้องสงสัย ทั้งจะต้องใช้การจับกุมที่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่การบังคับขู่เข็ญ
3.2 การควบคุมตัวและการปล่อยชั่วคราว การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมักกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ทั้งเป็นการควบคุมตัวไว้โดยไม่มีกำหนด โดยควบคุมจนกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ข้อมูลที่ต้องการจากตัวผู้ถูกควบคุม ทำให้บางครั้งเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวทั้งที่ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้นั้นต่อไปได้
ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงควรควบคุมตัวโดยกระทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อันจะเป็นแนวทางหนึ่งในการลดทอนความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้
3.3 การค้น การใช้อำนาจค้นนั้น เจ้าหน้าที่มักกระทำโดยไม่มีอำนาจ และใช้ความรุนแรงในการค้นบ้านเรือนของราษฎร ทั้งใช้กำลังที่เหนือกว่าข่มขู่ให้เจ้าของบ้านที่ถูกค้นเกิดความกลัว จึงควรต้องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบสิทธิของประชาชนผู้บริสุทธิ์จนเกินสมควร
3.4 การใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ ปัญหาการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่นั้นเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นสืบสวนสอบสวนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมักใช้กำลังทำร้ายผู้ต้องสงสัยให้รับสารภาพหรือใช้การข่มขู่ ซึ่งเป็นหลักการที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และบางครั้งพบว่าผู้ต้องสงสัยนั้นมิใช่บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่มีความเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้บุคคลนั้นรับสารภาพ
การกำหนดนโยบายในเรื่องนี้จึงต้องให้ยุติการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพหรือให้บอกข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ต้องการ เพราะถือเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจกระทำได้ ทั้งขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย
นอกจากนี้ จากการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (2551: 49) ได้เสนอให้ตั้ง "คณะกรรมการร่วมในการซักถาม" โดยให้มีผู้นำชุมชนและฝ่ายพลเรือนร่วมฟังการซักถามด้วย ซึ่งเป็นแนวทางที่ดี เพราะเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในการดำเนินคดี
3.5 การลักพาตัวบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม การลักพาตัวบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในกรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นบุคคลที่ช่วยเหลือให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมเกิดความเสื่อมเสีย ประชาชนขาดความมั่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของตน
การลักพาตัวบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไม่ควรเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เกิดจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมด้วยกันเอง แต่อยู่คนละฝ่ายกัน บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมในทุกๆ ส่วนควรหันหน้ามาร่วมมือช่วยเหลือกัน โดยเน้นการทำให้ความจริงปรากฏและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ดึงดันที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมประกอบกันด้วย
โดยภาพรวมของนโยบายทางอาญาด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ปัญหาที่เกิดในกระบวนการยุติธรรมมักเกิดจากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานมีทัศนคติในแง่ลบต่อผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิด จึงได้ปฏิบัติต่อผู้นั้นอย่างไร้มนุษยธรรม นโยบายทางอาญาในด้านนี้จึงต้องเน้นการปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ดำเนินคดีด้วยใจเป็นกลาง และแสวงหาคำตอบร่วมกัน มิใช่มีจุดมุ่งหมายที่เน้นการจับกุมผู้ต้องสงสัยให้มากที่สุดเท่านั้น หากแต่ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาด้วย
---------------------------------โปรดติดตามอ่านต่อตอนที่ 2 ------------------------------
บรรยายภาพ : เรือนจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)