ปาฐกถา : สุรเกียรติ ชี้หัวใจ 'ประชาคมอาเซียน'อยู่ที่การส่งเสริมสันติภาพ-ความมั่นคง
"หากดูแลเสาหลักการเมืองความ มั่นคงไม่ได้
ไม่ต้องไปคุย เรื่องประชาคมอาเซียนให้ใครฟัง
นี่คือสิ่งท้าทายของอาเซียน -ประเทศไทย..."
เมื่อเร็วๆ นี้ กองทัพเรือ จัดงานประชาคมอาเซียนกับการเตรียมความพร้อมของกองทัพเรือ ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ โดยมี ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ประชาคมอาเซียน 2558"
ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เริ่มต้นกล่าว โดยปูพื้นถึงที่มาของประชาคมอาเซียน โดยสังเขปว่า เริ่มต้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดย 5 ประเทศหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย ลงนามกันที่กรุงเทพฯ
จากนั้นในช่วงที่ใกล้สงครามเย็นสิ้นสุด และสิ้นสุดลงไปแล้วประเทศบรูไน เวียดนาม ลาวและพม่า ก็ตามมาตามลำดับ ทำให้พอมองเห็นภาพได้ว่า เหตุผลแรกที่อาเซียนก่อตั้งขึ้นมา เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ด้วยความเชื่อในลัทธิโดมิโน ในช่วงนั้น หลายประเทศมีความขัดแย้งกัน เช่น อินโดนีเซียมีปัญหากับมาเลเซีย และมาเลเซียก็มีปัญหากับฟิลิปปินส์ จากความระหองระแหงมาสู่การรวมตัว เกิดเวทีที่ได้พูดคุยกันมากขึ้น ซึ่งก็นับว่าประสบความสำเร็จ
กล่าวถึง ประชาคมอาเซียน 3 เสาหลัก เกิดขึ้นตอนผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เนื่องจากถูกกระตุกจากเหตุการณ์ภายนอก โดยเฉพาะการที่ตึกเวิลด์เทรดถล่ม ทำให้เกิดความร่วมมือ เพื่อป้องกันกลุ่มก่อการร้าย
พิมพ์เขียวในเสาหลักแรก ด้านการเมืองและความมั่นคง ที่จะกระชับความร่วมมือ เสมือนว่าเป็นประชาคมเดียวกัน ประเทศเดียวกันนั้น ผมมองว่ามิติด้านการเมืองและความมั่นคง เป็นมิติที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเป็นมิติที่มีการพูดคุย ศึกษาและเตรียมตัวน้อยกว่าด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ทั้งที่มิตินี้เป็นพื้นฐานที่จะทำให้ประชาคมเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นได้
"ถ้ายังรบกันอยู่ มีปัญหากันอยู่ หากทะเลจีนใต้เกิดมีบล็อกเขตแดนขึ้นมา จะไปโม้โอ้อวดกับใครได้ว่าเราจะลดภาษี จะค้าขายกันอย่างเสรี จะเดินเรือเสรี บริการเสรี เสรีไม่ได้หรอก นำของเข้าไปขายยังไม่ได้เลย หากเป็นเช่นนี้ ความมั่นใจจากประเทศนอกอาเซียนจะลดน้อยถอยลง นี่คือเหตุผลที่บอกว่า การเมืองและความมั่นคงมีความสำคัญอย่างยิ่ง"
หลักสำคัญที่เป็นหัวใจของประชาคมอาเซียนอยู่ที่ การส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง เน้นการอยู่รวมกันและแก้ข้อขัดแย้งอย่างสันติวิธี ซึ่งก็มีกฎบัตรอาเซียน ที่ระบุถึงข้อกำหนดและการคลี่คลายปัญหาต่างๆ
มีกฎบัตร ระงับข้อพิพาทแบบสันติวิธี ?
แต่ก็เป็นสิ่งท้าทายว่า เมื่ออาเซียนมีกฎบัตรแล้ว การระงับข้อพิพาทแบบสันติวิธีระหว่างแต่ละคู่ของอาเซียนจะทำได้หรือไม่ !!
ความท้ายทายประการต่อมา ได้แก่ การสร้างกฎเกณฑ์และค่านิยมร่วมกันด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ในขณะที่ 10 ประเทศในอาเซียนมีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนกัน จะพากันเดินไปทิศทางไหนที่จะไม่แตกกันได้
ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ยกกรณีการฆ่าชาวโรฮิงยาในเมียนม่า อาเซียนซึ่งยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายใน พร้อมๆ กับยึดหลักค่านิยมและสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย จึงเป็นความท้าทายของเสาหลักการเมืองและความมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง
เช่นเดียวกับ ภัยคุกคามระหว่างประเทศ เขตแดน การทำสงคราม และภัยคุกคามแบบใหม่ อาทิ การก่อการร้ายทางทะเล การลักลอบส่งอาวุธ ลักลอบค้ายาเสพติด อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ โรคระบาด ภัยพิบัติธรรมชาติ ต้องไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป ต้องยึดหลัก "อาเซียน คือ เรา"
"ที่ผ่านมาเราประชุมกันเยอะ มีกรอบความร่วมมือเยอะ มีทิศทาง มีรายละเอียด แต่สปิริตของอาเซียนที่ว่า อาเซียน คือ เรา นั้น วันนี้ไปถึงขั้นนั้นหรือยัง ความกระตือรือร้นในการช่วยเหลือกันระหว่างประเทศยังมีน้อย"
อย่างด้านการจัดการภัยพิบัติ มีองค์กรที่เป็นศูนย์ความช่วยเหลือกด้านมนุษยธรรมอาเซียน แต่ปัญหาคือเราเน้นการรับข้อมูล อำนวยความสะดวกในการตอบสนอง หลักคือให้แต่ละประเทศช่วยเหลือตัวเองก่อน ยังมีความหวาดระแวงกันอยู่ เช่น กรณีประเทศไทย กับสนามบินอู่ตะเภา
"ผมว่าประเทศไทยเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นศูนย์กลางการให้ความช่วยเหลือในกรณีผลจากภัยพิบัติ หากไม่ไว้ใจสหรัฐอเมริกา ก็ควรจะคุยหลายๆ ประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ทำเพื่อมนุษยธรรม นี่เป็นบทบาทที่ดีและจำเป็น แต่เพราะเราไมได้มีปัญหาแคลงใจแค่ระหว่างประเทศ เราระแวงกันเองในประเทศด้วย นี่คือสิ่งท้าทายที่ต้องขจัดให้ได้"
ศก.ไทยเปิดแบบปิดๆ
พิมพ์เขียวเสาหลักต่อมา ด้านเศรษฐกิจ กับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราคงไม่ได้ทำทุกเรื่องเหมือนยุโรป คงไม่มีสกุลเงินเดียวกัน แต่จะเปิดเสรีทางการค้า การบริการ การลงทุน แรงงานที่มีฝีมือและเปิดเสรีเรื่องการเคลื่อนย้ายของทุน เรื่องการธนาคารการจะเปิดกว้างมากขึ้น และมีเป้าหมายสู่การเป็นธนาคารแห่งอาเซียน ที่สามารถประกอบธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มรูปแบบในทุกประเทศของอาเซียน
"แต่ประเทศไทยเปิดแบบปิดๆ เวลาไปเจรจากับใคร ชอบบอกว่าเปิดเสรีเท่าที่กฎหมายไทยเปิด คนก็ปรบมือเฮ แต่พอมาดูแล้วกฎหมายไทยปิด เช่น สาขาแพทย์ ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งเป็นภาษาไทย"
ในส่วนพิมพ์เขียวฉบับสุดท้าย เสาหลัก ด้านสังคมวัฒนธรรม ที่มุ่งเน้นด้านการศึกษา สาธารณสุข สื่อมวลชน และสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียน ให้ร่วมกันอย่างมีความร่วมมือ ประชาชนกินดีอยู่ดี ปลอดโรคภัย ประการสำคัญ ต้องมี "ประชาคมในหัวใจ"
ฉะนั้น องค์ความรู้เรื่องอาเซียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ความร่วมมือทั้งภายใน และภายนอกอาเซียนต้องเกิดขึ้นได้อย่างเข้มแข็ง
หากกล่าวถึง สิ่งที่ท้าทายของอาเซียน สำหรับความท้าทายจากภายในอาเซียนเอง
ประการแรก ขาดความเป็นประชาคมในหัวใจ การประชุมทั้งหลายในอาเซียนส่วนใหญ่มาจากราชการ กระบวนการตัดสินใจทั้งหลายมาจากภาคราชการ ภาคประชาสังคมไม่ได้รู้เรื่องด้วย จึงไม่มีความเป็นเจ้าของอาเซียน
ประการต่อมา อาเซียนขาดนโยบายร่วม ไม่มีนโยบายต่างประเทศ นโยบายความมั่นคงและนโยบายการป้องกันร่วมกัน ไม่มีจุดยืนร่วมกันทั้งในเอเปก (ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) และอาเซม (การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป Asia-Europe Meeting : ASEM) ซึ่งที่จริงแล้วก็เกิดขึ้นได้ยาก ด้วยประวัติศาสตร์และผลประโยชน์ของชาติ ทั้งนี้ ยังขาดการพบปะพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ และขาดความแน่นแฟ้นในภาคประชาสังคม
สิ่งที่ท้ายทายอาเซียนที่สุด ผมมองว่า มี 2 ข้อ คือ
1.ปัญหาทวิภาคีที่ขัดแย้งกันระหว่างประเทศต่างๆ ใหญ่ที่สุด คือ ระหว่างไทยและกัมพูชา เรื่องเส้นเขตแดนทั้งทางบกและทางทะเล หากมไม่สามารถตกลงระงับข้อพิพาทกันโดยสันติวิธีได้ การค้าเสรีในอาเซียนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
"เมื่อไหร่ที่นำเรื่องการเมืองภายในของทั้ง 2 ประเทศออกจากเส้นเขตแดนได้ ปัญหาเหล่านี้ก็จะสามารถคุยกันได้ ระหว่างกรมสนธิสัญญาทางกฎหมาย กรมแผนที่ทหารและผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย เพราะเรื่องเส้นเขตแดน หากมีน้ำมัน คนหรือทรัพยากรร่วมกัน ก็สามารถพัฒนาร่วมกันได้ แล้วให้นักกฎหมายระหว่าประเทศเจรจาต่อไป โดยทำข้อตกลงว่าการพัฒนาร่วมกันจะไม่กระทบต่อสิทธิ์เรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น ผมคิดว่าแนวนี้น่าจะเป็นแนวที่อยู่กันได้ และทั่วโลกก็ทำอย่างนี้"
2.เรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นความท้าทายกึ่งภายนอก-ภายในอาเซียน ที่มีข้อพิพาท มีผลประโยชน์สำคัญระหว่างประเทศมหาอำนาจได้แก่ จีนและสหรัฐอเมริกา
ทั้งหมดนี้ หากดูแลเสาหลักเรื่องการเมืองความมั่นคงไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปคุยเรื่องประชาคมอาเซียนให้ใครเขาฟัง และนี่คือสิ่งท้าทายของอาเซียน และสิ่งท้าทายของประเทศไทย...
ท้ายที่สุดแล้วหากให้มองว่าในปี 2558 องค์กรอาเซียนจะเป็นแบบใด ก็คงตอบได้ว่า องค์กรอาเซียนก็คงจะเป็นแบบอาเซียนๆ ไม่ใช่แบบยุโรป แต่ก็จะมีความร่วมมือด้านต่างๆ มากขึ้น และต้องเรียนรู้การทำงานในทุกด้าน ที่เป็นการทำงานแบบอาเซียน...
สิ่งที่ท้าทายสำหรับสังคมไทย คือ
1.องค์ความรู้ของประชาคม ความรู้ในแต่ละเสาหลักมีเพียงพอแล้วหรือยัง
2.องค์ความรู้ของประเทศอาเซียน เราไม่รู้จักใครเป็นใครในอาเซียน เราไม่รู้จักนโยบายสำคัญๆ ของประเทศในอาเซียน ความรู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้านยังน้อยมาก เรารู้จักเรื่องอ่อนไหวของตะวันตกมากกว่าของประเทศในอาเซียน
3.การเตรียมตัวของภาครัฐและเอกชน แต่ละกระทรวง ทบวง กรม ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ต้องสร้างความเข้าใจให้บุคคลากร และเดินสู่เป้าหมายอย่างบูรณาการ ที่ผ่านมาการดำเนินงานของเราแบ่งเป็นกระทรวงๆ ไม่ได้แบ่งเป็นเรื่องๆ ยกตัวอย่าง เรื่องทัวร์และการท่องเที่ยว ปัจจุบันเน้นท่องเที่ยวด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชน การค้า ทรัพยากรธรราติ วัฒนธรรมและความมั่นคง แต่ยังไม่มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานกลาง องค์กรท้องถิ่นและภาคเอกชน
"ถึงเวลาแล้วที่ต้องเตรียมตัวเป็นเรื่องๆ และมีเจ้าภาพของเรื่องนั้น เช่น เรืองความมั่นคงทางทะเล เกี่ยวกับหน่วยงานใดบ้าง ใครต้องทำอะไรในทุกๆ ระดับ"
ห่วงรากหญ้า เอสเอ็มอี
ภาพที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ รากหญ้า เอสเอ็มอี (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม Small and Medium Enterprises: SMEs) องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบลก็ต้องมีความรู้เรื่องประชาคมอาเซียน ต้องทำให้อาเซียนเป็นอาเซียนระดับชาวบ้าน ให้รู้ว่าโอกาสและปัญหาคืออะไรบ้าง
สิ่งที่กังวลที่สุด คือ สังคมไทยที่ไม่มีพลังจะกำหนดยุทธศาสตร์อะไร เพราะความขัดแย้งที่มีมา 6-7 ปี เรากำลังสับสนหลายอย่าง เมื่อมีความขัดแย้งให้จบลงที่ประชามติ
แต่ทั่วโลกความขัดแย้งไม่ได้จบลงที่ประชามติ เช่น กรณีภาคใต้ ประชามติคงไม่ใช่ทางออก
คำว่าประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึงเสียงข้างมากอย่างเดียว แต่หมายถึงการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส ธรรมาภิบาลและหลายๆ อย่าง ประชาธิปไตยเห็นต่างใช้เสียงข้างมากได้ แต่ความขัดแย้งในสังคมที่ลงลึกนั้น ใช้เสียงข้างมากแก้ปัญหาไม่ได้ ทุกที่ในโลกที่มีปัญหาความขัดแย้งต้องแก้ที่สังคม ให้สังคมเกิดความเข้าใจก่อน เช่น เรื่องปรองดอง ต้องมีประชาเสวนาหาทางออก แล้วค่อยจบที่สภาฯ กระบวนการนี้จะทำให้ความไว้วางใจเกิดได้มากขึ้น ความหวาดระแวงลดน้อยลง ความขัดแย้งก็จะค่อยๆ ลดลง
ฉะนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในเรื่องอาเซียน 2558 ในขณะที่สังคมไทยยังมีความแตกแยกกันอย่างนี้ จะทำอย่างไรให้สังคมไทยมีพลังในทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันทั้ง 3 เสาหลัก....
สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับสังคมไทย ก็คือ สังคมไทยเอง !!!