วงเสวนาชี้ ตร.โชว์ผลงานนำผู้ต้องหาทำแผน-แถลงข่าว เสี่ยงละเมิดสิทธิมนุษยชน
จนท.ตำรวจ วอนสังคมเข้าใจ ไม่ได้อยากนำผู้ต้องหาทำแผน-แถลงข่าว แต่ปฏิเสธผู้บังคับบัญชาที่อยากดังไม่ได้ ด้านนักวิชาการ แนะ วางแนวทางให้ชัดเรื่องใดควรทำ-ไม่ควรทำแผน หลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิ
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนาเรื่อง “การนำผู้ต้องหาคดีอาญาไปนำชี้ที่เกิดเหตุและแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทำอย่างไรไม่ให้ละเมิด” ที่ห้องเสวนา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีนายเจษฎา อนุจารีย์ รองประธานสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ นายบรรเจิด สิงคเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ประธานอนุกรรมการตรวจสอบและละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านกฎหมายและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม กรรมการสิทธิมนุษยชน ร่วมเสวนา
นายไพบูลย์ กล่าวว่า กล่าวว่ากรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำผู้ต้องหาไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ หรือแสดงแผนประทุษกรรม อาจเปิดโอกาสให้ประชาชนที่โกรธแค้นผู้ต้องการุมประชาทัณฑ์ ขณะที่การนำผู้ต้องหาไปแถลงข่าว เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 30 ในเรื่องความเสมอภาค มาตรา 35 สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และมาตรา 39 ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีอาญา ที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนคำพิพากษาถึงที่สุด จะต้องปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้
“ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนให้เหมาะสม อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย โดยการแถลงข่าวไม่จำเป็นต้องนำตัวผู้ต้องหาออกมาแถลงด้วย ส่วนการนำชี้ที่เกิดเหตุ สมควรเลือกทำเฉพาะคดีที่สำคัญ จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานในชั้นศาลเท่านั้น”
นายบรรเจิด กล่าวถึงการนำผู้ต้องหาไปนำชี้ที่เกิดเหตุว่า มีประเด็นต้องคิดคือจะทำอย่างไรไม่ให้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้ประสิทธิภาพของกระบวนการทางอาญาลดน้อยถอยลง ซึ่งโดนส่วยตัวเห็นว่า ควรมีทำแผนเฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้ได้พยานหลักฐาน พยานแวดล้อมที่ครบถ้วน กระบวนการยุติธรรมเป็นที่ยอมรับ และไม่ก้าวล่วงสิทธิส่วนบุคคลจนเกินสมควร ทั้งนี้ จะต้องมีการวางแนวทางให้ชัด เรื่องใดควรทำหรือไม่ควรทำแผน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ตรงกัน
ส่วนเรื่องการแถลงข่าวนั้น นายบรรเจิด กล่าวว่า แม้บางเรื่องจะเป็นประโยชน์สาธารณะที่สังคมต้องรับรู้ แต่จะต้องพิจารณาถึงสมดุลในเรื่องของการรับรู้กับการเคารพสิทธิส่วนบุคคลด้วยว่าอยู่ตรงไหน การแถลงข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ควรต้องตัดทิ้งไป ขณะที่การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งว่า มีสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมธรรมนูญ แต่สื่อจะต้องตระหนักถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดของกฎหมายด้วยเช่นกัน ทั้งนี้มองว่า ส่วนหนึ่งที่สื่อมวลชนไทยยังมีปัญหา เนื่องจากองค์กรสื่อที่ทำหน้าที่ควบคุมกันเองนั้น ยังไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษได้
ด้านนายเจษฎา กล่าวถึงการนำเสนอข่าวที่เน้นความรวดเร็ว ทำให้บางครั้งพบว่ามีภาพที่แสดงอัตลักษณ์ หรือสถานที่ที่เกี่ยวโยงกับผู้เสียหาย ผู้ต้องหาหลุดออกไปสู่สาธารณะ ซึ่งตรงนี้นับว่าเป็นปัญหา และหากมีการร้องเรียนเข้ามายังสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ ก็จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ถ้ากระทำผิดจริงจะส่งเรื่องให้ต้นสังกัดดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ สภาวิชาชีพฯ ไม่ได้มีอำนาจดำเนินการ หรือลงโทษแต่อย่างใด เพราะการรวมตัวของสมาชิกเป็นการรวมตัวโดยสมัครใจ
ส่วนการนำเสนอข่าวอย่างไรไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น นายเจษฎา กล่าวว่า หลักการง่ายๆ คือสื่อต้องใช้หลักการธรรมชาติ เอาใจเขามาใส่ใจเรา หากตนเองหรือญาติต้องถูกนำตัวไปแถลงข่าว ทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิดจะยอมรับสภาพดังกล่าวได้หรือไม่
ขณะที่นายสมหมาย กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะหาจุดสมดุลว่า การรายงานข่าวแค่ไหนถึงจะพอดี เรื่องนี้คงต้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันคิด ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สื่อ อัยการ และศาลด้วย ส่วนสื่อที่มีปัญหาในเรื่องการเสนอข่าวประเภทนี้ น่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ประเภทข่าวเบา (Soft News) มากกว่าหนังสือพิมพ์ข่าวหนัก (Hard News) ซึ่งถ้าสามารถลดการแข่งขันที่รุนแรงในการนำเสนอข่าวลงได้ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ยศ พ.ต.ท หลายรายลุกขึ้นแสดงความเห็น โดยมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เรื่องการชี้ที่เกิดเหตุนั้น เห็นว่ายังจำเป็นต้องทำ ในกรณีที่คดีไม่มีประจักษ์พยาน และเพื่อหาพยานแวดล้อมเพิ่มเติม เพราะเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ต้องรวบรวมหลักฐานทุกอย่าง เพื่อพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหามีความผิดจริง ฉะนั้น เห็นว่าการนำชี้ที่เกิดเหตุนั้นสมควรเลือกทำเฉพาะคดี ตามความจำเป็น
ส่วนการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวนั้น อยากให้มองว่าตำรวจนั้นมีอยู่ 2 ประเภทคือ ผู้ปฏิบัติ หรือคนทำคดีจริงๆ กับผู้บังคับบัญชา ที่ไม่ได้ทำคดี แต่ชอบเป็นข่าว อยากดัง ซึ่งในส่วนของผู้ปฏิบัตินั้น ไม่อยากให้มีการแถลงข่าว และไม่ชอบการแถลงข่าวเลย เนื่องจาก 1.ต้องการเร่งทำคดีให้เสร็จสิ้น 2.เกรงว่าเมื่อเนื้อหาในคดีถูกเผยแพร่ออกไปมาก จะทำให้ฝ่ายผู้กระทำความผิดไหวตัวทัน พยายามหาข้อต่อสู้มาใช้ในการต่อสู้คดี และ 3.เกรงว่าจะมีการข่มขู่พยาน
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นผู้น้อยต้องปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชา ก็มองว่าถ้าจะมีการแถลงข่าว สมควรพิจารณาเป็นรายกรณีไป เพราะในแง่หนึ่งบางคดีก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นการทำให้ผู้ที่คิดจะเป็นโจรรู้ว่า ไม่ว่าจะงัดเทคนิคระดับใดมาใช้ตำรวจก็สามารถรู้เท่าทันและตามจับได้ แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สื่อ จะต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง ตามเขตอำนาจที่มีอยู่