สป.ระบุ ก.อุตส.อาจผิด “มติ ครม.เลิกใช้แร่ใยหิน” ชูต้นแบบไต้หวันห่วงคนงาน-ผู้บริโภค
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมระบุ ก.อุตส.อาจผิด “มติ ครม.ที่ให้เลิกใช้แร่ใยหิน” เตรียมชง รบ.ไม่ต้องรอ 5ปี ยกไต้หวันเป็นแบบห่วงสุขภาพแรงงาน-ผู้บริโภค หลังพบมะเร็งปอดพุ่ง เอกชนโชว์วัสดุทดแทน
ศ.เมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวเปิดการ “สัมมนาติดตามความก้าวหน้าและข้อเสนอแนะการจัดการอันตรายจากแร่ใยหินไครโซไทล์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค” ว่าคณะทำงานฯ ได้ศึกษานโยบายการยกเลิกแร่ใยหินไต้หวัน พบว่าไต้หวันมีเหมืองแร่ใยหินซึ่งผลิตใช้ในประเทศและส่งออก ตั้งแต่ปี 2495-2553 และพบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมาแต่ปี 2522 รัฐบาลไต้หวันจึงศึกษาอย่างจริงจังพบว่ามะเร็งเยื้อหุ้มปอด (เมโสเธลิโอมา แอสเบสโตซิส) และมะเร็งปอด เกิดกับผู้ที่สัมผัสแร่ใยหินเท่านั้น
โดยไต้หวันเริ่มมีผู้ใช้แรงงานเรียกร้องค่าชดเชยจากการเจ็บป่วยรายแรกในปี 2548 และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ รับบาฐจึงทยอยประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินมาตั้งแต่ปี 2532และจะยกเลิกทั้งหมดได้ในเดือน ก.พ.55 ส่งผลให้ลดการนำเข้าจาก 35,000 ตันต่อปีเมื่อปี 2529 เหลือเพียง 1,500 ตันช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ดร.สุปรีดิ์ กล่าวอีกว่าที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่า จะทำข้อเสนอให้เสร็จภายในต้นเดือน ก.ย.นี้เพื่อส่งให้ ครม.พิจารณา ได้แก่ 1.ข้อเสนอใหม่เพื่อติดตามความก้าวหน้าหลังมีมติ ครม.ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เนื่องจากพบว่ากระทรวงอุตสาหกรรมอาจจะทำผิดมติ ครม.ที่ให้ศึกษาโทษของแร่ใยหิน 2.จัดทำข้อสังเกตให้ภาครัฐเป็นหน่วยงานตัวอย่างที่เริ่มต้นการใช้สินค้าที่ไม่มีแร่ใยหิน เนื่องจากพบว่าภาคเอกชนใช้เทคโนโลยีเติมสารทดแทนได้แล้ว ซึ่งปัจจุบันพบว่าหน่วยงานของรัฐไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ปลอดแร่ใยหินได้ 3.ทำข้อเสนอเพื่อเตรียมมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการรื้อถอน
น.ส.ทรงศิริ จุมพล นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กล่าวว่าจากการสำรวจการติดฉลากในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินในเขต กทม.และปริมณฑล หลังประกาศมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2553 ในผู้ผลิตและจำหน่าย 27 ราย พบว่าเกือบทั้งหมด 70% มีการติดฉลาก แต่ยังพบว่าฉลากยังไม่เป็นไปตามกำหนด เช่น ขนาดและสีตัวอักษร หรือข้อความ และพบว่ามีผู้ประกอบการ 2 รายยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้ว โดย สคบ.ได้เตือนและจะติดตามการปรับปรุงต่อไป ทั้งนี้ประกาศเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากนั้นมีบริษัทเอกชนได้ยื่นฟ้องศาลปกครองให้มีการเพิกถอน โดยอ้างว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องอันตรายและทำให้สินค้าได้รับผลกระทบ ซึ่งล่าสุดศาลตัดสินเบื้องต้นว่า สคบ.สามารถแจ้งเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะได้รับจากผลิตภัณฑ์ เพราะเป็นอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมวัตถุมีพิษตามอำนาจของกรมอุตสาหกรรมโรงงาน
นายบุญส่ง ปิติสุขฤกษ์ บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายยกเลิกผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินมาตั้งแต่ 2547 ซึ่งเป็นไปตามประกาศเตือนจากองค์การอนามัยโลก และเพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคและแรงงานในภาคการก่อสร้าง โดยศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัสดุอื่นทนแทนจนประสบความสำเร็จพัฒนาใยสังเคราะห์พลาสติกทดแทนแร่ใยหินได้ แม้มีต้นทุนสูงกกว่าเดิม 10% แต่มีคุณสมบัติดีกว่าเดิมคือมีความยืดหยุ่น เหนียวกว่าแร่ใยหิน .