กรมน้ำฯ แจงสร้างเขื่อนผันน้ำโขง อุดรฯ-กาฬสินธุ์-ขอนแก่น ชาวบ้านหวั่นกระทบซ้ำรอย
กรมทรัพยากรน้ำ วางแผนสร้างเขื่อน-ผันน้ำโขง อุดรฯ-กาฬสินธุ์-ขอนแก่น ระบุช่วยพื้นที่เกษตร-แก้จน ชาวบ้านในพื้นที่ร้องเผยข้อมูลโครงการชัดเจน ผลดี-เสีย-การชดเชย หวั่นกระทบซ้ำรอยโขง ชี มูล
เร็วๆนี้ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมในพื้นที่ลำปาวตอนบน (จ.อุดรธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น) ของโครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤต 19 พื้นที่ เพื่อทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการ (FS) ศึกษาการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอกู่แก้ว จ.อุดรธานี
โดยนายสุพจน์ เจียระนัยปรีเปรม วิศวกรแหล่งน้ำผู้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ กล่าวว่า พื้นที่ศักยภาพด้านการเกษตรของอีสานมีกว่า 71 ล้านไร่ แต่มีขีดจำกัดในการกระจายแหล่งน้ำให้เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพแหล่งน้ำในอีสาน ทั้งการปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมให้เต็มศักยภาพ การผันน้ำหรือเติมน้ำจากแหล่งน้ำหรือพื้นที่อื่นสู่พื้นที่ที่ขาดแคลน การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อนำสู่การสร้างระบบเครือข่ายน้ำทั้งอีสาน โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำระดับรายตำบลโดยผ่านการทำท่อส่งน้ำลงใต้ดินและขุดลอกคูคลองชักน้ำขนาดเล็ก และระดับใหญ่ ระยะที่สองคือการผันแม่น้ำโขงจากปากแม่น้ำเลย จ.เลย เข้าสู่เขื่อนห้วยสามหมอ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ
“เราจะพัฒนาในรูปแบบธนาคารน้ำ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง หรือเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีแผนจะสร้าง เช่น เขื่อนห้วยสามหมอ ที่ชัยภูมิ ที่จะมีความจุมากกว่าเขื่อนภูมิพลหลายเท่า จะเป็นตัวพักน้ำและกระจายน้ำสู่แหล่งน้ำสายย่อยหรือธนาคารน้ำระดับลุ่มน้ำ เข้าสู่ธนาคารน้ำระดับไร่นากระจายน้ำทั่วทั้งพื้นที่เกษตรอีสาน” นายสุพจน์กล่าว
ด้านนายทองหล่อ ทิพย์สุวรรณ ชาวบ้านตำบลนาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี กล่าวว่าไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการจัดเวทีประชุมครั้งนี้ แต่เห็นจากใบประชาสัมพันธ์และข้อมูลที่ติดไว้ที่ อบต.จึงรู้ว่าที่นาของตนอยู่ในแผนโครงการ จึงชวนเพื่อนบ้านที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการมาเข้าร่วมรับฟัง เพราะกังวลว่าจะสูญเสียที่นาจากการขุดลอกขยาย โดยส่วนตัวเห็นด้วยถ้าเป็นการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรจริง แต่จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้ก่อนว่าจะขุดเท่าใด หากเกิดผลกระทบจะมีการชดเชยการสูญเสียอย่างไร แต่ที่ผ่านมาแทบไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย
“ต้องบอกรายละเอียดให้ชัดว่าจะทำอย่างไรขุดลอกลำน้ำกว้างลึกเท่าไหร่ ผลกระทบต่อที่นาจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่จะทำแต่ฝ่ายรัฐอย่างเดียว ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมคิดและตัดสินใจด้วย กลัวเสียที่นาที่ทำกินจากการขุดลอก เพราะเคยเห็นผลกระทบจากโครงการโขง ชี มูล และที่ลำน้ำพะเนียง จ.หนองบัวลำภูมาแล้ว” นายทองหล่อกล่าว .
::ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต