“ปราโมทย์” แขวะกบอ. ทำโครงสร้างน้ำไทยพัง –ปชช.ให้จับตาล๊อกสเปกจีนทำทีโออาร์
“ปราโมทย์” แขวะคนเดียวในกบอ. ทำโครงสร้างระบบจัดการน้ำพังทั้งประเทศ นักอุทกฯ เชื่อมั่น 7 แผนคนไทยทำได้ไม่ต้องพึ่งบารมีต่างชาติ ภาคปชช. จับตาล๊อกสเปกจีนทำทีโออาร์น้ำ
วันที่ 17 ส.ค. 55 สมาคมนักอุทกวิทยาไทย จัดประชุมวิชาการ “วิพากษ์การจัดการน้ำและอุทกภัยของรัฐบาล” ณ สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เปิดเผยว่า ภาครัฐได้ศึกษาข้อมูลด้านการบริหารจัดการน้ำไว้มากมาย จึงไม่จำเป็นต้องให้บริษัทต่างชาติมีส่วนร่วม เพราะเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำได้ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีได้ไปศึกษาดูงานต่างประเทศและเห็นว่ามีการบริหารจัดการน้ำที่ดี เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่มีศักยภาพจึงไม่อยากปิดกั้นโอกาส เลยให้บริษัททั้งในและต่างประเทศเสนอความคิดเห็นได้
“การรับฟังความคิดเห็นยังไม่มีเงื่อนไขทางการเงินใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่ต้องการรับทราบกรอบความคิดเท่านั้น ซึ่งภายในวันที่ 31 ม.ค. ปีหน้าเราจะนำความคิดเห็นทั้งหมดมากลั่นกรอง เพื่อจัดทำกรอบดำเนินการอีกครั้ง”
ด้านนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในอดีตขาดประสิทธิภาพ เพราะไม่มีผู้นำและความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ดี จนปัจจุบันได้ดำเนินการขุดลอกคูคลองใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่กลับไม่สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายเงินได้ ขณะที่แนวคิดการขับเคลื่อนแผนแม่บทไม่ตอบสนองการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ส่วนขั้นตอนการดำเนินการก่อนการประกวดราคานั้น รัฐบาลได้ก้าวข้ามขั้นตอนสำคัญทางกฎหมาย นั่นคือ การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในโครงการต่าง ๆ (อีไอเอ) แสดงถึงการไม่เคารพสิทธิชุมชนภายใต้ม.67 และ 68 ของรัฐธรรมนูญปี 50
“ขณะนี้หน่วยราชการที่เกี่ยวกับน้ำถูกทำลายหมด ซึ่งผมก็สงสารเพราะเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งนั้นที่ไม่กล้าพูด ท่านจะเอาอย่างไรก็เอา แม้กระทั่งรมว.เกษตรฯ ยังให้ถามข้อมูลเกี่ยวกับน้ำจากกบอ. ที่ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แต่กระทรวงเกษตรฯ กรมชลประทานกลับไม่มีตำแหน่งและสิทธิในการกระจายข่าวสาร” อดีตอธิบดีกรมชลประทานกล่าว
ดร.สุบิน ปิ่นขยัน นักอุทกวิทยาและวิศวกรชลศาสตร์ไทย กล่าวว่า แผนงานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามี 7 แผน งบประมาณ 3 แสนล้านบาท และแผนงานพื้นที่อื่นอีก 17 ลุ่มน้ำ มี 6 แผน งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท มีลักษณะงาน ดังนี้ 1.การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและดิน และฝายต้นน้ำ 2.การจัดทำผังการใช้ที่ดิน 3.การปรับปรุงพื้นที่การเกษตร 4.การปรับปรุงสภาพลำน้ำและคันริมแม่น้ำ 5.การสร้างอ่างเก็บน้ำ 6.การระบายน้ำหลาก หรือทางผันน้ำ และ7.การบริหารจัดการน้ำ
โดยงานประเภทที่ 1-4 นักวิชาการไทยสามารถทำได้อย่างดี ส่วนข้อ 7 อาจต้องอาศัยความร่วมมือผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศด้วย ส่วนงานประเภทที่ 5 วิศวกรไทยและผู้รับเหมาก่อสร้างสามารถทำได้ดีเช่นกัน ขณะที่งานประเภทที่ 6 ซึ่งเป็นงานขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และกำหนดให้เสร็จภายใน 3-5 ปี ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกวิทยา และวิศวกรรมชลศาสตร์ เพื่อศึกษาการไหลของน้ำตลอดลุ่มน้ำ โดยการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งมีนักวิศวกรชลศาสตร์ไทย 4-5 คนที่มีประสบการณ์การพยากรณ์น้ำท่วมในปี 54 และคำนวณการไหลได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จึงมั่นใจว่าบุคลากรไทยเพียงพอและทำได้ดีกว่าต่างชาติ
ขณะที่ดร.บัญชา ขวัญยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน กล่าวว่า รัฐบาลเน้นการพัฒนาสิ่งก่อสร้างมากเกินไปจนลืมการบริหารจัดการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ โดยการหยุดการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ควบคู่กับการฟื้นฟู นอกจากนี้ควรเชื่อมโยงการบริหารจัดการอุทกภัยกับการแก้ปัญหาภัยแล้งควบคู่กัน รวมถึงเกณฑ์การบริหารน้ำหลากที่เขื่อนเจ้าพระยา ขาดการแก้ปัญหาตั้งบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำลำคลองจริงจัง ที่สำคัญการจ่ายค่าชดเชยพื้นที่รับน้ำนองกลับเป็นการแก้ปัญหาไม่สิ้นสุด แต่ควรควบคุมการใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นหลัก เช่น ควบคุมการปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่เกิน 2 ครั้ง
นางสมลักษณ์ หุตานุวัตร ผู้แทนอาสาฝ่าน้ำท่วม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับบริษัทต่างชาติ ในการทำทีโออาร์ทำให้ช่วงต้นนักวิชาการที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจออกมาคัดค้านนโยบาย แต่เมื่อรัฐบาลเปิดประตูให้นักธุรกิจไทยเข้ามีส่วนร่วมได้ สุ้มเสียงของนักวิชาการเหล่านี้ได้เอนอ่อนไปทางรัฐบาล จึงเกิดความกังวลด้านความไม่ชอบธรรมการเบิกจ่ายงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้รัฐบาลได้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำและการชลประทานระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกับกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน จึงตั้งข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนใช้วงเงินจากผลงานย้อนหลัง 10 ปี เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ จากคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอต้องเคยมีผลงานด้านการออกแบบระบบการพัฒนา แหล่งน้ำขนาดใหญ่ งานออกแบบหรือก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หรืองานออกแบบหรือก่อสร้างระบบป้องกันหรือแก้ไขปัญหาอุทกภัยแล้งในช่วงระหว่าง ปี 45-55 ในไทยหรือในต่างประเทศ มูลค่าการก่อสร้างต้องไม่น้อยกว่าสามหมื่นล้านบาท
อีกทั้งกรณีผู้ยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มนิติบุคคลในลักษณะ Consortium หรือ Joint Venture มูลค่าผลงาน ดังกล่าวให้นับรวมผลงานของแต่ละนิติบุคคลเข้าด้วยกัน แต่ผลงานที่จะนำมานับรวมเข้าด้วยกันอย่างน้อยต้องมีมูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่าผลงานละสองพันล้านบาท อาจเอื้อต่อจีนเข้ามารับหน้าที่หลักโครงการบริหารจัดการน้ำในไทยได้ ทั้งที่ไทยมีบริษัทและองค์ความรู้ที่ดีมากมาย.