คนรักหลักประกันสุขภาพเคลื่อนไหว “ไม่ร่วมจ่าย 30บ. แต่พร้อมบริจาค”
คนรักหลักประกันสุขภาพนัดเคลื่อนไหวทั่วประเทศ แสดงจุดยืน “ไม่ประสงค์ร่วมจ่าย 30 บาทรักษาโรค แต่พร้อมบริจาค” ระบุขัดแย้งนโยบายลดเหลื่อมล้ำ-คนจนจริงลำบาก-เงินไม่ได้พัฒนาระบบ
วันที่ 17 ส.ค.55 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศ แถลงข่าว “ไม่ประสงค์จะร่วมจ่าย 30 บาท ตามวงเล็บ 21 แต่พร้อมบริจาคโดยสมัครใจ” สืบเนื่องมาจากกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ร่วมจ่ายสมทบในการใช้บริการ
โดย นางสุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าการเร่งรัดนำนโยบายเก็บค่าธรรมเนียมที่หน่วยบริการทุกครั้งที่ไปรับบริการครั้งละ 30 บาท ขัดแย้งกับนโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ” เพราะจะส่งผลกระทบต่อคนจนถึงคนจนที่สุด มากกว่าคนที่มีรายได้ประจำ ถึงแม้จะมีการยกเว้นคนบางกลุ่มที่ยากจน และคนที่ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ แต่ก็ทำให้ประชาชนไปรับบริการด้วยศักดิ์ศรีที่ต่างกัน เพราะต้องชี้แจงทุกครั้งว่าไม่พร้อมจ่ายเพราะยากจนหรือเป็นกลุ่มที่ยกเว้น
นางกชนุช แสงแถลง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กรุงเทพฯ กล่าวว่าข้อกล่าวอ้างของรัฐบาลว่าการเก็บค่าบริการจะช่วยพัฒนาหน่วยบริการและลดการไปใช้บริการเกินจำเป็น นั้นไม่จริง เพราะจากข้อมูลเมื่อปี 2546 รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บค่ารักษาพยาบาลครั้งละ 30 บาท ทั้งหมด 1,073 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมดที่รัฐต้องจัดสรรเข้าระบบ จึงไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพสถานบริการ ซึ่งต้องใช้การจัดการงบประมาณผ่านค่าใช้จ่ายรายหัว เพื่อยกระดับพัฒนาระบบคุณภาพการรักษาและการบริการประกอบกับการลดรายจ่ายที่เกินจำเป็น
“การใช้บริการแบบฟุ่มเฟือยที่รัฐกล่าวอ้างก็ไม่จริง เพราะจากสถิติการมาใช้ผู้บริการระหว่างปีที่ร่วมจ่าย 30 บาทต่อครั้ง กับปี 2550 เป็นต้นมาที่ไม่มีการร่วมจ่าย ก็ไม่มีความต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่คนมาใช้บริการมากขึ้นเพราะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นได้มากขึ้นตามภาวะความเจ็บป่วยที่สูงขึ้น นอกจากนี้การจะไปโรงพยาบาลก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ต้องจ่ายเอง เช่น ค่าเดินทาง”
นายชโลม เกตุจินดา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ กล่าวถึงผลการจัดสมัชชารับฟังความคิดเห็นในภาคใต้ว่าไม่เห็นด้วยกับการกลับมาเก็บ 30 บาท และมีความกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการกับประชาชน ที่จะเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างกลุ่มคนที่ได้รับการยกเว้นหรือกลุ่มที่ต้องร่วมจ่าย
ทั้งนี้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยืนยันว่าหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิประชาชนไทยที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างเสมอหน้าด้วยเกียรติศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน มีสิทธิ “ประสงค์ไม่ร่วมจ่าย 30 บาทตามวงเล็บ 21 แต่พร้อมบริจาคโดยสมัครใจ" โดยให้มีการตั้งกล่องบริจาคที่โรงพยาบาลต่างๆเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานสถานบริการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จะร่วมกันเคลื่อนไหวทั่วประเทศเพื่อแสดงเจตน์จำนงไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ พร้อมรวบรวมรายชื่อยื่นต่อผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด โดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือและอิสานจะเคลื่อนไหวในวันที่ 22 ส.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านโยบายร่วมจ่ายสมทบ 30 บาทรักษาโรคตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) จะดีเดย์ใช้ทั่วประเทศ 1 ก.ย.55 ตั้งแต่โรงพยาบาลระดับชุมชนขึ้นไป โดยประชาชนจะต้องจ่ายเฉพาะกรณีรับยา และมีการยกเว้นผู้ควรได้รับการสงเคราะห์ 21 กลุ่ม ซึ่ง สปสช.เตรียมแจกคู่มือบัตรทอง 3 ล้านฉบับ
ทั้งนี้การประกาศบุคคลยกเว้นไม่ต้องจ่าย 30 บาท ดังกล่าว สรุปแยกเป็น 5 หมวดใหญ่ๆ คือ 1.ผู้มีรายได้น้อย 2.กลุ่มวัย อายุ สภาพร่างกาย ใจ จิต 5 ประเภท เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เด็กที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมต้น 3.กลุ่มคนที่ทำประโยชน์ให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอื่นๆ 12 ประเภท เช่น อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหารผ่านศึก 4.กลุ่มเฉพาะ/พื้นที่เฉพาะ 2 ประเภท ได้แก่ นักบวชในพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามรวมถึงครอบครัว และประชาชนในเขต จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ พังงาและภูเก็ต 5.กลุ่มที่นอกเหนือจากข้อยกเว้นอื่นๆ 1 ประเภท ได้แก่ บุคคลที่แสดงความประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการ (21) .