เก็บตกเวทีเจนีวา "ขจัดเลือกปฏิบัติเชื้อชาติ" ไทยเจอซักหนัก "คดีโลกร้อน-รุกป่า-ไฟใต้"
ระหว่างวันที่ 9-10 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้แทนรัฐบาลไทยได้เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณารายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ซึ่งนำเสนอต่อ คณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (ICERD Committee) ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - CERD) ซึ่งไทยเป็นภาคีสมาชิก โดยการประชุมมีขึ้นที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในการนี้ พันธมิตรเฝ้าระวังการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ขององค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) 18 องค์กร ได้จัดทำ "รายงานคู่ขนาน" เรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมด้วย
เนื้อหาในรายงานคู่ขนาน หรือ "รายงานเงา" เป็นการเสนอปัญหาและการปฏิบัติต่อชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งมีชนเผ่าพื้นเมืองแบ่งออกตามกลุ่มภาษาได้ 5 กลุ่ม และมีกลุ่มชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง และแรงงานข้ามชาติด้วย
รายงานระบุว่า แม้ประเทศไทยจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ และการปรับปรุงการปฏิบัติต่อประชากรกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทยไปแล้วบ้างอย่างน่าชื่นชม หากแต่ยังคงมีสภาพปัญหาที่เป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เช่น กรณีบุคคลไร้สัญชาติ สิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาล สิทธิในการเดินทางของชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ
สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองตามแนวชายฝั่ง สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งและการลงคะแนนเลือกตั้ง สิทธิในการแต่งงาน สิทธิในการเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมต่ออัตลักษณ์ทางภาษา เช่น การศึกษาด้วยภาษาแม่หรือภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม การจับกุม ควบคุมตัว การส่งกลับ รวมทั้งปัญหาการคัดกรองบุคคลโดยดูจากลักษณะทางชาติพันธุ์ (Racial Profiling) ในการปราบปรามอาชญากรรม ได้แก่ การค้ายาเสพติด การตัดไม้ทำลายป่าต่อชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ และต่อชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น
ทั้งนี้ สภาพปัญหาที่ระบุถึง มีตั้งแต่การใช้ภาษาในแง่ของการสร้างภาพเหมารวมและเลือกปฏิบัติ เช่น คำเรียก "ชาวเขา" โดยปฏิเสธที่จะใช้คำว่า "ชนเผ่าพื้นเมือง" ไปจนถึงประเด็นทางกฎหมาย เพราะแม้ว่าประเทศไทยได้พยายามจัดทำกฎหมายการขึ้นทะเบียนและนโยบายเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติที่มีต่อชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ ปี 2550 แต่ก็ยังคงไม่มีพระราชบัญญัติ นโยบาย หรือแผนการปฏิบัติเฉพาะเจาะจงเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติที่ยังดำรงอยู่
นอกจากนั้น ยังมีการนำคดีความต่างๆ ที่เคยปรากฏเป็นข่าว ซึ่งฝ่ายรัฐกระทำต่อชนเผ่าพื้นเมืองไปนำเสนอด้วย เช่น การคำนวณค่าปรับตามความเสียหายต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (คดีโลกร้อน) ซึ่งส่งผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย กรณีการบังคับไล่รื้อชาวกะเหรี่ยงอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน การจับกุม ควบคุมตัว และส่งกลับคนเข้าเมือง รวมถึงนโยบายและสงครามปราบปรามยาเสพติด และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งในพันธมิตรเฝ้าระวังการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ซึ่งไปร่วมประชุมนำเสนอรายงานคู่ขนานต่อคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (ICERD Committee) ที่กรุงเจนีวา กล่าวว่า การพิจารณารายงานครั้งนี้มีความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ส่งรายงานต่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เลยนับแต่เข้าเป็นรัฐภาคีเมื่อปี 2546 รายงานฉบับนี้ของรัฐบาลจึงเป็นรายงานฉบับแรก รวมกับรายงานที่ต้องนำเสนอทุกๆ 2 ปีอีกสองฉบับ ทั้งหมดเป็น 3 ฉบับ
นางสาวพรเพ็ญ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการ ICERD ได้ตั้งข้อสังเกตและถามคำถามกับตัวแทนรัฐบาลไทยหลายข้อ เช่น กรอบใหญ่ของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบนั้นให้ความสำคัญต่อการให้ความหมายของกลุ่มประชากรต่างๆ ในประเทศไทยซึ่งมีปัญหาในเรื่องการเคารพอัตลักษณ์ของประชากรแต่ละกลุ่ม แต่ไทยยังไม่ดำเนินการในเรื่องนี้ พร้อมชี้ว่ารัฐไทยเลือกดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญไทยเท่านั้น ทั้งๆ ที่กฎหมายระหว่างประเทศซึ่งรัฐไทยรับเป็นภาคีสมาชิกมีความสำคัญอย่างมากที่รัฐไทยจะต้องนำกลับไปปรับใช้ ไม่ใช่ตีความแคบเท่ากับกฎหมายในประเทศ แต่ต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อนำมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนไปบังคับใช้และปฏิบัติได้จริง
ที่สำคัญรัฐไทยได้ตั้งข้อสงวนไว้ในข้อ 4 ซึ่งระบุว่า "รัฐบาลเชื่อว่าจะต้องปฏิบัติ (ตามอนุสัญญาฯ) ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องปฏิบัติ" และว่า "ข้อบัญญัติดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อกฎหมายใหม่ที่ผ่านการรับรองในราชอาณาจักร" ซึ่งคณะกรรมการ ICERD เห็นว่าทำให้ไม่สามารถนำจิตวิญญาณของการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญาฯที่รัฐไทยเป็นภาคีสมาชิกมาปฏิบัติได้จริง จึงเห็นควรให้ยกเลิกข้อสงวนดังกล่าว
นอกจากนั้น ยังมีคำถามเรื่องมาตรการการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ ไม่ให้มีการปราบปรามการก่อความไม่สงบอย่างเหวี่ยงแห และมีลักษณะของการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ขอให้มีการตรวจสอบ "แบล็คลิสต์" เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการคัดกรองบุคคลโดยดูจากลักษณะทางชาติพันธุ์ (Racial Profiling) ด้วย
คณะกรรมการ ICERD ยังได้แนะนำให้รัฐบาลไทยจัดทำข้อมูลแบบแยกประเภทกลุ่มประชากรต่างๆ ในประเทศไทยให้ชัดเจน ทั้งเพศ อายุ เพื่อให้มีข้อมูลประชากรสำหรับการรายงานต่อยูเอ็นในครั้งต่อไปเพื่อเปรียบเทียบการพัฒนาในแง่มุมต่างๆ อย่างชัดเจนขึ้น และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
ขณะเดียวกัน ก็มีคำถามเกี่ยวกับการดำเนินการของกฎหมายป่าไม้ที่มีการจับกุมชนเผ่าพื้นเมืองในข้อหาบุกรุกป่า การคิดค่าภาวะโลกร้อน และมีข้อติติงเรื่องการจัดการผู้ลี้ภัยบางกลุ่ม เช่น ชาวโรฮิงญา เป็นต้น
ข้อเสนอแนะเฉพาะปัญหาชายแดนภาคใต้
"รายงานคู่ขนาน" ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาการละเมิดสิทธิและการเลือกปฏิบัติต่อชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีข้อเสนอสำคัญๆ ดังนี้
1. ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทั้งกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
2. ยกเลิกวัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิด จากกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น กรณีกรือเซะ ตากใบ เป็นต้น
3. ให้สิทธิด้านการศึกษาของชุมชนมลายูมุสลิม โดยควรส่งเสริมและพัฒนาการใช้ การเรียน และ การสอนภาษามลายูในประเทศไทยโดยทันที
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพประกอบเป็นการรวมภาพที่แทรกอยู่ในรายงานคู่ขนาน แล้วนำมาปรับแต่งโดยฝ่ายศิลป์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ