ผลสำรวจชีวิตกรรมกรไทย: "ค่าจ้างเพิ่ม 85 บาท ค่าครองชีพเพิ่ม 100 บาทต่อวัน"
คสรท.เปิดผลสำรวจคุณภาพชีวิตแรงงานไทยยิ่งย่ำแย่ กรรมกรร้อยละ 5 ยังไม่ได้ค่าจ้าง 300 บาท อีกร้อยละ 18 ได้แบบมีเงื่อนไข ชี้ค่าแรงเพิ่มขึ้น 85 บาทแต่ค่าครองชีพขึ้น 100 บาทต่อวัน แรงงานนอกระบบยังถูกละเลย
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เปิดเผย “ผลสำรวจค่าครองชีพผู้ใช้แรงงานปี 2555 ภายหลังรัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศใช้ค่าจ้าง 300 บาท : ยุคค่าแรงสูง ค่าครองชีพสูง คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานต่ำ” ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 ที่รัฐบาลการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ส่วนจังหวัดที่เหลือใช้มาตรการขึ้นค่าแรงจากฐานเดิม 40% และรัฐบาลจะเดินหน้าใช้อัตราค่าจ้างเดียวกันทั้งประเทศ 300 บาทใน ม.ค.56 คือความน่ายินดีสำหรับผู้ใช้แรงงาน ขณะเดียวกันความกังวลใจก็มาพร้อมกับคำถามสำคัญว่าอนาคตของผู้ใช้แรงงานจะดีขึ้นจริงหรือไม่อย่างไร
คสรท.ได้สำรวจ “ค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเชิงเปรียบเทียบถึงความไม่สอดคล้องกับค่าจ้างที่ได้รับจริงมาตั้งแต่ พ.ค.55” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ 8 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ครอบคลุม 5 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ และกิจการธนาคารและการเงิน 2,197 คน
กลุ่มที่สำรวจเป็นผู้ใช้แรงงานทำงานในประเภทลูกจ้างประจำรายเดือนมากที่สุดคือร้อยละ 54 ลูกจ้างประจำรายวันร้อยละ 35.7 และลูกจ้างเหมาช่วง-ลูกจ้างสัญญาจ้างระยะสั้น-ฝึกงานร้อยละ 10.3 ตามลำดับ โดยได้ค่าจ้างทั้งประเภทรายวันและรายเดือน กล่าวคือ ได้รับค่าจ้างรายวัน 894 คน (ต่ำกว่า 200 บาท ร้อยละ 0.89 ค่าจ้าง 200-300 บาท ร้อยละ 69.13 มากกว่า 300 บาท ร้อยละ 29.98) และค่าจ้างรายเดือน 1,438 คน (ต่ำกว่า 5,000 บาท ร้อยละ 0.28 , 5,000 - 7,500 บาท ร้อยละ 6.19 , 7,501 - 10,000 บาท ร้อยละ 32.13 , 10,001 - 12,500 บาท ร้อยละ 28.79 ,12,500 - 15,000 บาท ร้อยละ 15.30 , มากกว่า 15,000 บาท ร้อยละ 17.32)
จากแบบสำรวจพบว่า 1.แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 76.6 ระบุว่านายจ้างมีการปรับค่าจ้างแรงงานภายหลังการประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เม.ย.55 ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานอีกร้อยละ 18.3 มีการปรับค่าจ้างแบบมีเงื่อนไข และอีกร้อยละ 5.1 ไม่มีการปรับค่าจ้างแต่อย่างใด
2.เมื่อมาพิจารณาข้อมูลค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานรายคน/เดือน เปรียบเทียบระหว่าง ส.ค.54 กับ พ.ค.55 พบว่าผู้ใช้แรงงานที่สำรวจทั้ง 8 พื้นที่มีค่าใช้จ่ายต่อวัน/ต่อคนเพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด เช่น ค่าอาหารและค่าเดินทาง เดิมต้องจ่าย 175 บาท/คน/วัน แต่เมื่อมีการปรับค่าจ้างต้องจ่ายเพิ่มเป็น 259.26บาท/คน/วัน, ค่าน้ำประปา เดิมต้องจ่าย 6.7 บาท/คน/วัน ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 6.86 บาท/คน/วัน, ค่าโทรศัพท์ เดิมต้องจ่าย 10 บาท/คน/วัน ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 12 บาท/คน/วัน, ค่าเช่าบ้าน เดิมต้องจ่าย 58 บาท/คน/วัน ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 91 บาท/คน/วัน. ค่าเสื้อผ้า-รองเท้า เดิมต้องจ่าย 19 บาท/คน/วัน ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 34 บาท/คน/วัน
3.กลุ่มผู้ใช้แรงงานระบุว่ามีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ โดยหนี้สินจากการกู้ยืมนอกระบบมากที่สุด รองลงมาเป็นหนี้ธนาคาร หนี้กองทุนกู้เรียน (กยศ.) หนี้สหกรณ์ และหนี้สินบัตรเครดิต ตามลำดับ
จากสถานการณ์ดังกล่าว คสรท. ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพราะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ เป็นประโยชน์กับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและมีอำนาจต่อรองน้อย จึงเห็นว่า 1.ยังมีผู้ใช้แรงงานถึงร้อยละ 23.4 (ร้อยละ 18.3 มีการปรับค่าจ้างแบบมีเงื่อนไข และอีกร้อยละ 5.1 ไม่มีการปรับค่าจ้าง) โดยเป็นการนำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง การเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน รวมถึงการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นภาพสะท้อนของการปล่อยให้ภาคอุตสาหกรรมใช้แรงงานราคาถูกต่อไปได้อย่างนิ่งดูดาย โดยปล่อยให้เป็นการตัดสินใจระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ทั้งๆที่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการในการดูแล บังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
2.แม้มีการขึ้นค่าจ้างแรงงาน 300 บาทต่อวัน แต่ยังไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่ทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เป็นไปได้ว่าการขึ้นค่าแรงแบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานดีขึ้นหรือมีหนี้ลดลง เนื่องจากสินค้าหลายรายการปรับขึ้นราคา เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ หากเทียบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท (คิดจากฐานของกรุงเทพและปริมณฑล) ก็เท่ากับว่าผู้ใช้แรงงานได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นอีก 85 บาท (จากเดิมเคยได้ 215 บาทต่อวัน) แต่หากสินค้าที่บริโภค-อุปโภคต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 100 บาทต่อวัน รัฐบาลต้องมีมาตราการควบคุมค่าครองชีพไม่ให้สูงเกินความเป็นจริง
3.ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นทุกหมวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน หมายความว่าการเพิ่มค่าจ้างแทนที่จะทำให้มูลค่าค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่กลับลดลง ซึ่งหากรัฐบาลยังปล่อยให้เป็นโดยไม่ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็ทำให้ผู้ใช้แรงงานยิ่งมีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้น ยังพบว่าบางจังหวัดที่มีพื้นที่อยู่ติดกันในเชิงภูมิศาสตร์ เช่น สมุทรปราการ กับ ชลบุรี แต่กลับมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่างกัน ในขณะที่ค่าครองชีพไม่ต่างกัน ทั้งที่ๆเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อโดยรวมทั่วประเทศ พบว่าในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.76% แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.57% เท่านั้น
4.ยังมีแรงงานอีกกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้ประโยชน์จากการขึ้นค่าจ้างแต่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ แรงงานนอก
ภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ หรือผู้ที่ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการปรับค่าจ้างหรือไม่มีค่าจ้างจากการจ้างแรงงาน ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะค่าครองชีพจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรจะต้องมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม
5.ปัญหาหนึ่งของผู้ใช้แรงงานคือการเป็นหนี้นอกระบบ เพราะส่วนใหญ่ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ไม่เพียงพอต่อ
การดำรงชีพ ทำให้ต้องดิ้นรนหารายได้เพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ ต้องมีระยะเวลาการทำงานในสถานประกอบการที่ยาวนานขึ้น ขาดความมั่นคงในการทำงาน ไม่มีหลักประกันในการรวมตัวต่อรอง รวมถึงคุณภาพของชีวิตครอบครัวก็ต้องเปลี่ยนไป รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือโดยเร่งด่วนด้วยการหาแหล่งเงินทุน/เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยพลัน
6.วันนี้รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเดือน ม.ค.56 เป็นต้นไป หรือกล่าวได้ว่าเป็น “การดองค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” ตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น การไม่มีท่าทีที่ชัดเจนยิ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานย่ำแย่ลงไป ดังนั้นจึงเห็นว่าค่าจ้างนั้นควรจะแปรผันไปตามสภาพความเป็นจริง กล่าวคือค่าจ้างแรงงานไทยในปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับคุณภาพของฝีมือแรงงานไทย และจากการสำรวจของ คสรท.โดยตรงพบว่า ค่าจ้างที่ควรจะเป็นนั้นเท่ากับวันละ 348 บาท
………………………
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงมีข้อเสนอว่า การค่าปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน และค่าจ้างต้องเพียงพอต่อการครองชีพของลูกจ้างและสมาชิกในครอบครัว (ตามนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ)
หลังจากนั้นอัตราค่าจ้างต้องปรับตามประสบการณ์และฝีมือแรงงานที่เพิ่มขึ้น หากค่าจ้างไม่ปรับตัวสูงขึ้นและจ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว และนั้นหมายความว่าคุณภาพชีวิตแรงงานในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศที่มีผลต่อการเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศก็จะย่ำแย่ตามไปด้วย .