นักวิชาการเผย ส.ส.464 ราย ยุคนายกฯ "ปู" รวยที่ดิน 2.7 หมื่นไร่ มูลค่านับหมื่นล.
นักเศรษฐศาสตร์ มธ. เปิดผลวิจัยพบ การถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ กระจุกตัว ติดโผอันดับต้นมีไม่กี่ชื่อ-ไม่กี่ตระกูล เผย "ตระกูลมาลีนนท์" อู้ฟู้ แชมป์ถือครองหุ้น ปี'54 มูลค่า 3.7 หมื่นล้าน เตรียมเปิดตัวงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เร็วๆนี้
วันที่ 16 สิงหาคม ในงานสัมมนาทางวิชาการโครงการวิจัย “สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงการสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป” ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง “การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย (The Concentration of Wealth in Thai Society)” โดยศึกษาถึงการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย ซึ่งพิจารณาจากทรัพย์สิน ได้แก่ ที่ดิน บ้าน สิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ ทรัพย์สินทางการเงิน และหลักทรัพย์ ระหว่างปี พ.ศ.2549-2555 (ขึ้นอยู่กับประเภทของทรัพย์สิน) โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) กรมที่ดิน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ผลการวิจัยชิ้นนี้พบว่า ในสังคมไทยมีความไม่เสมอภาคของการถือครองทรัพย์สินรวมสุทธิค่อนข้างสูง หากพิจารณาความไม่เสมอภาคในแง่ของการถือครองที่ดิน จากข้อมูลการถือครองที่ดินที่มีโฉนดของกรมที่ดิน ปี พ.ศ.2555 พบภาพรวมทั้งประเทศ มีการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินสูงมาก
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวว่า หากพิจารณาเป็นรายภาค ภาคกลาง ถือเป็นภาคที่มีความไม่เสมอภาคในการถือครองที่ดินมากที่สุด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความไม่เสมอภาคในการถือครองที่ดินน้อยที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัด จะพบว่า สมุทรปราการ ปทุมธานี มีการกระจุกตัวในการถือครองที่ดินมากที่สุด ต่างจากจังหวัดศรีษะเกษ พัทลุง ที่มีการกระจุกตัวน้อย
ทั้งนี้สัดส่วนการถือครองที่ดิน ของนิติบุคคล พบว่า กลุ่มของผู้ที่มีที่ดินมากสุด 20% แรก ถือครองที่ดินต่างจากกลุ่มที่มีที่ดินน้อยสุดถึง 729 เท่า โดยผู้ถือครองที่ดินสูงสุดมีที่ดินถึง 2,853,859 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มีการระบุไว้ว่า ใครเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว แต่มีข้อสังเกตว่า อาจเป็นการถือครองโดยเจ้าของรายเดียว ที่มีชื่อ-นามสกุลเหมือนกัน หรือหลายรายก็เป็นได้ ทำให้มีขนาดการถือครองสูงมากเช่นนี้
ส่วนการถือครองที่ดินของบุคคลธรรมดา พบว่า กลุ่มที่มีที่ดินมากที่สุด 20% แรกถือครองที่ดินต่างจากกลุ่มที่มีที่ดินน้อยสุดถึง 600 กว่าเท่า โดยบุคคลธรรมดาที่ถือครองที่ดินสูงสุด มีที่ดินในครอบครองถึง 630,000 ไร่
อีกทั้งหากจำแนกผู้ถือครองที่ดิน โดยนำสัดส่วนการถือครองที่ดินของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มาหาค่าเฉลี่ย ยังพบตัวเลข กลุ่มผู้ที่ถือครองมากสุด 10% ถือครองที่ดินถึง 80% ของที่ดินมีโฉนดทั้งหมด ส่วนประชาชนกลุ่มที่เหลืออีก 90% กลับถือครองที่ดินเพียง 20% ของที่ดินมีโฉนดทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินเป็นอย่างมาก
สำหรับการถือครองที่ดินของนักการเมืองในรัฐบาลปัจจุบันนั้น ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวว่า จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 118 ราย ถือครองที่ดินมีมูลค่ารวมกันถึง 8,000 ล้านบาท ส่วน ส.ส.เขต จำนวน 346 ราย ถือครองที่ดินมีมูลค่ารวม 7,800 กว่าล้านบาท และถ้าดูจากขนาดการถือครองที่ดิน ทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ส.ส.เขต ถือครองที่ดินรวมกันทิ้งสิ้น 27,000 กว่าไร่
"จากตัวเลขนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใดเมื่อมีการพูดถึงเรื่องภาษีที่ดิน การดำเนินการต่างๆ จึงไม่ค่อยขยับไปไกลมากนัก น่าจะมีคำอธิบายอยู่ในตัว"
ผศ.ดร.ดวงมณี ยังกล่าวถึงการถือครองหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยว่า บุคคลธรรมดาที่ถือครองหุ้นใน 10 อันดับแรก ซึ่งมีมูลค่าหุ้นสูงสุดที่ยังคงอยู่ในรายชื่อ ทั้งในปี 2552-2554 มีทั้งหมด 5 คน ได้แก่ นายอนันต์ อัศวโภคิน นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ นายนิติ โอสถานุเคราะห์ นายวิโรจน์ ธนาลงกรณ์ และนายวรวิทย์ วีรบวรพงศ์ นอกจากนั้นจะมีการเข้าและออกจาก 10 อันดับแรกอยู่บ้าง ส่วนมูลค่าการถือหุ้นรวมของ 10 อันดับแรกในปี พ.ศ.2553 และ 2554 มีจำนวนมากกว่า 1 แสนล้านบาท
“และถ้ามีการจัดลำดับมูลค่าการถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามตระกูล จะพบว่า ในปี พ.ศ.2554 ตระกูลมาลีนนท์ มีมูลค่าหุ้นมากที่สุด คิดเป็น 37,859 ล้านบาท ส่วนตระกูลที่มีมูลค่ามากสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ มาลีนนท์ วิจิตรพงศ์พันธุ์ จิราธิวัฒน์ อัศวโภคิน ทองแดง กาญจนพาสน์ ปราสาททองโอสถ จันศิริ มหากิจศิริ และโสภณพานิช” ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว และว่า ผลการศึกษาการถือครองหลักทรัพย์นี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ถือครองหุ้นที่มีมูลค่าสูงในสังคมไทย มักเป็นบุคคลไม่กี่คน ไม่กี่ตระกูล ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนในการถือหุ้น หรือมีหุ้นอยู่ในจำนวนที่น้อยมาก ฉะนั้น การถือครองหุ้นยังพบการกระจุกตัวในคนบางกลุ่มเช่นกัน
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวสรุปในตอนท้ายด้วยว่า เมื่อสังคมไทยมีการกระจุกตัวของความมั่งคั่งค่อนข้างสูง อีกทั้งความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สิน ยังมีแนวโน้มสูงกว่าความไม่เสมอภาคในรายได้ ดังนั้นตนจึงเห็นว่า แนวทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคได้คือ การกระจายการถือครองทรัพย์สินใหม่ เช่น การเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน
“การเก็บภาษีในลักษณะนี้ จะเป็นไปตามหลักการเก็บภาษีตามความสามารถในการจ่าย (Ability to pay principle) ซึ่งจะช่วยกระจายทรัพย์สินและรายได้ใหม่ให้เกิดความเสมอภาคมากขึ้น กลุ่มคนที่มีทรัพย์สินในครอบครองมูลค่าสูงก็จะต้องจ่ายภาษีประเภทนี้สูง และเมื่อรัฐบาลได้รายรับจากภาษีมาแล้ว ก็จะสามารถนำภาษีจำนวนนี้ไปกระจายประโยชน์ให้กับกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งน้อย ผ่านนโยบายทางการคลัง เช่น การจัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชน เป็นต้น”