เตรียมเพิ่มประสิทธิภาพไอซีทีชุมชนหลังไทยรั้งอันดับโหล่รับรู้เออีซี
ก.ไอซีที-มศว.ประสานมิตรยกระดับศูนย์การเรียนรู้ชุมชน นำร่อง 4 จังหวัด กรุงเทพฯ-นนท์-ปทุมฯ-นครนายก เตรียมขยายปี 56 อีก 100 แห่ง แก้ปัญหาไทยรั้งท้ายรับรู้เออีซี
วันที่ 16 ส.ค. 55 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) น.อ.อนุดิษฐุ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที แถลงข่าวกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ว่า โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน เป็นโครงการติดตั้งคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ช่วยผลักดันให้ไทยเข้าสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ โดยจะลดช่องว่างการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศระหว่างเมืองกับชนบทได้ เพราะได้ขยายผลให้เกิดห้องเรียนรู้ด้วยตนเอง แหล่งรับบริการข้อมูลข่าวสาร พร้อมประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ทางการค้าและส่งเสริมอาชีพ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชาติ
โดยกระทรวงไอซีทีได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 50 จนปัจจุบันมีศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน 1,880 ศูนย์ ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศตามศักยภาพความพร้อม ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 879 ศูนย์ ขณะที่อีก 1,000 ศูนย์ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งภายใต้งบประมาณปี 54 ส่วนอีก 1 ศูนย์ที่เหลือนั้นจัดตั้งโดยใช้งบประมาณปี 55 ซึ่งอนาคตจะมีการขยายการจัดตั้งเพิ่มเติมอีก 100 ศูนย์ภายใต้งบประมาณปี 56 นั้น ขณะนี้การจัดสรรงบประมาณอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 2 และ 3 จำนวน 39 ล้านบาท
รมว.ไอซีที กล่าวต่อว่า ประกอบกับปี 58 ไทยจะเข้าสู่เออีซีจึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการศูนย์มากขึ้น และกระตุ้นการเรียนรู้ชุมชน เพราะขณะนี้การเรียนรู้เรื่องเออีซีไทยอยู่อันดับ 9 จาก 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร (มศว.ประสานมิตร) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเมื่อ 29 ก.ย. 54 จัด “กิจกรรมการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน” โดยดำเนินการประเมินศักยภาพการดำเนินงานของศูนย์ฯ ที่ได้รับการจัดตั้งในปีงบประมาณ 50-53 ทั้งความพร้อมการให้บริการ การบริการ การบริหารจัดการและการตลาด โดยจะนำร่อง 4 จังหวัด ใน 21 ศูนย์ ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และนครนายก
นอกจากนั้นยังประเมินศักยภาพศูนย์ฯ ที่จัดตั้งในปีงบประมาณ 54 ในพื้นที่ 4 จังหวัด จำนวน 41 ศูนย์ ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และนครนายก โดยการประเมินทั้งหมดแบ่ง 2 รอบ ในรอบที่ 1 จะดำเนินการช่วงต้นของโครงการ เพื่อให้ศูนย์ฯ ที่ร่วมกิจกรรมเข้าใจและตระหนักถึงการดำเนินงานตามเกณฑ์ รอบที่ 2 จะมีระยะเวลาดำเนินการห่างจากการสำรวจรอบที่ 1 ประมาณ 1 เดือน โดยศูนย์ฯ ต้องอธิบายหลักฐานการปฏิบัติงานตามหัวข้อของเกณฑ์การสำรวจ พร้อมจัดทำรายงานผลการประเมินศักยภาพและการพัฒนา รวมทั้งสรุปผลรายงานวิจัยและเสนอแนวทางปรับปรุงต่อไป
“ปัจจัยที่จะทำให้ศูนย์ฯ ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับผู้ดูแล รวมถึงคนในชุมชนเองที่จะประยุกต์ใช้ให้เกิดการเรียนรู้แท้จริง ส่วนชุมชนที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเราจะนำการประเมินโครงการนี้เพื่อต่อยอดและสร้างต้นแบบชุมชนต่อไป”
ด้านผศ.ดร.ประมา ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายบริหารและกิจกรรมพิเศษ มศว.ประสานมิตร กล่าวว่า การดำเนินการภายใต้กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ฯ จะวิเคราะห์และกำหนดตัวชี้วัด ออกแบบเกณฑ์การสำรวจ วิธีการสำรวจ และประเมินศูนย์ฯ เพื่อเขียนเป็นคู่มือการประเมินศูนย์ฯ และส่งมอบให้แก่ศูนย์ฯในชุมชนทุกแห่ง โดยเบื้องต้นเราจะประเมินศูนย์เก่า 4 จังหวัดนำร่อง จำนวน 41 แห่งตามหลักเกณฑ์ ส่วนศูนย์ใหม่ 21 แห่งนั้นจะนำคู่มือดังกล่าวส่งมอบให้เป็นแบบอย่างการขับเคลื่อนต่อไป.