สกว.ชี้เตรียมเด็กไทยสู่อาเซียน เน้น"ความเป็นพลเมือง-เคารพศักดิ์ศรีและวัฒนธรรม"
สกว.ระบุการจัดการศึกษาไทย มีปัญหา เรื่องโอกาส-คุณภาพการศึกษา แนะเตรียมคนเข้าอาเซียนต้องอยู่บนสามเสาหลัก เน้นเสาวัฒนธรรมส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาทักษะคิด สร้างความเข้มแข็งในระยะยาว
เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการจับกระแสความเคลื่อนไหวและนวัตกรรมในการจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กและเยาวชน(INTREND) โดยสถาบันรามจิตติ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดเสวนาครั้งที่ 4 เรื่อง“จับกระแสการเตรียมคนรุ่นใหม่เข้าสู่อาเซียน : วางทิศคิดทางประเทศไทย” ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ หัวหน้าโครงการ INTREND กล่าวว่าก่อนจะตั้งโจทย์ในการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมคนเข้าสู่อาเซียนนั้น ไทยเรายังมีปัญหาพื้นฐานทั้งในเรื่องโอกาสและคุณภาพการศึกษา โดยยังมีเด็กด้อยโอกาสหลุดจากระบบการศึกษานับล้านคน กลายเป็นแรงงานที่ด้อยคุณภาพ ขาดโอกาสการพัฒนา อีกทั้งคุณภาพการศึกษาโดยรวมก็ยังตกต่ำจากการขาดกำลังครูและปัจจัยสนับสนุนที่มีคุณภาพและทั่วถึงซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข
“การเตรียมคนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ควรเน้นยุทธศาสตร์เชิงประเด็นที่สำคัญๆ และมีผลกระทบสูงเพื่อตอบโจทย์สามเสาหลักอาเซียน โดยอยากให้เน้นมากในเสาหลักด้านสังคมวัฒนธรรม เพราะเป็นรากฐานความเข้มแข็งของประชาคมระยะยาว โดยอยากให้รัฐส่งเสริมการศึกษาเพื่อความเข้าใจในรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการวิจัยที่จะพัฒนาทักษะการคิดที่ทรงพลังให้แก่เด็กได้”
ดร.จุฬากรณ์ กล่าวอีกด้วยว่า ในเชิงเนื้อหาควรเน้นประเด็นการค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตรอบๆ ตัวที่มีความเกี่ยวพันกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เด็กๆ จับต้องได้ และในส่วนเสาหลักทางเศรษฐกิจนั้น ตนอยากเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะแรงงานทั้งในกลุ่มอายุวัยเรียนและแรงงานนอกกลุ่มอายุวัยเรียนอีกหลายสิบล้านคน โดยมีเป้าหมายการพัฒนาหรือโครงการผลิตรองรับที่ชัดเจน และอาศัยกลไกสถาบันอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน ตลอดจนการศึกษานอกระบบเป็นสำคัญให้ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่เข้ามาร่วมสนับสนุนและรับประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นร่วมกับเพื่อนบ้าน
“ในส่วนเสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคงนั้น ขอให้เน้นเรื่องการเคารพในพันธะสัญญาหรือข้อปฏิบัติที่มีร่วมกัน โดยเฉพาะพันธะสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ยังมีการละเมิดอยู่ในภูมิภาคนี้อยู่อีกมาก เช่น การใช้แรงงานเด็ก การบังคับค้าประเวณีเด็ก และการค้ามนุษย์ในรูปแบบอื่นๆ ตลอดจนการร่วมกันปราบปรามแก๊งค์อาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น อันจะเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของประชาคมอาเซียนในเวทีโลกขึ้นโดยรวมและมีผลต่อความมั่นคงของประชาคมในระยะยาวอีกด้วย”
ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติ กล่าวถึงบทเรียนจากประชาคมยุโรปและฐานคิดที่ควรเป็นในการก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนของไทยว่า ในประชาคมยุโรปเองมีปรากฏการณ์ฟองสบู่ ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงินในยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ เสปน และไอร์แลนด์ อันเป็นปรากฏการณ์คล้ายคลึงกับที่เกิดกับไทยในต้นทศวรรษ 2540 ที่เด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เกิดไม่ทัน เป็นเรื่องที่สอนใจคนรุ่นใหม่ได้ดีตั้งแต่เรื่องความโลภ ความไม่มีวินัย ไปจนถึงความรวยแบบลวงตาที่ไม่ยั่งยืน ที่คนรุ่นใหม่น่าจะเรียนรู้ จดจำไว้
“นอกจากนี้ ยังมีประสบการณ์ของการเมืองแบบประชานิยมเกินพอดี ที่พยายามขยายระบบรัฐสวัสดิการจนนำความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของกรีซ ประชาคมยุโรปยังมีบทเรียนจากความพยายามที่ผิดพลาดในการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ตนและแรงงานต่างเชื้อชาติที่กลายเป็นความแปลกแยกทางวัฒนธรรมและก่อให้เกิดโรคกลัวคนต่างชาติ จนกลายเป็นการละเลยจำกัดโอกาสทางเศรษฐกิจ การศึกษา ตลอดจนพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของชนกลุ่มน้อยและแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญสอนใจคนรุ่นใหม่ได้เช่นกันว่ารากฐานที่แท้แห่งความเข้มแข็งและความสำเร็จของประชาคมภูมิภาคนั้นมาจากการเรียนรู้ที่จะแบ่งปันและสร้างคุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม”