ดันแก้หมอกควันพิษสู่สมัชชาสุขภาพปีนี้ ระบุรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี คนเหนืออ่วม
สช.ชี้ปัญหาหมอกควันพิษรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี ส่งผลสุขภาพคนไทยรุนแรง มะเร็งปอด โรคหัวใจ เสี่ยงถึงเด็กในท้อง ระบุปัจจัยหลักเผาป่าทำเกษตร เผาขยะ จราจร อุตสฯ ดันเป็นวาระสมัชชาชาติ นำร่องแก้ปัญหาภาคเหนือ
วันที่ 15 ส.ค.55 นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้นเป็นระยะส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยอย่างรุนแรงหลายพื้นที่ และกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องระดมความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการแก้ไข โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนซึ่งเกิดปัญหานี้ทุกปีในช่วง ก.พ.-พ.ค. และทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 55 แม้กระทั่งล่าสุดในพื้นที่ภาคใต้ก็เกิดปัญหาหมอกควันปกคลุม จ.สงขลา ส่งผลให้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ผลักดัน "การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ" เป็นหนึ่งในวาระที่จะพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 18-20 ธ.ค. นี้ ที่ศูนย์การแสดงสินค้าไบเทค บางนา
ซึ่งคณะทำงาน ที่มี ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ อดีตคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธาน ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยมีรับฟังทั้งตัวแทนเกษตรกร เครือข่ายประชาสังคม บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เพื่อร่วมกันจัดทำข้อมูล วิเคราะห์สภาพปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ต่างๆ หาแนวทางแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงกลไกการทำงานของหน่วยราชการในพื้นที่และงบประมาณ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้แทนแต่ละกลุ่มเครือข่าย
“ปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าเพื่อใช้พื้นที่เกษตร เผาขยะ มลพิษอุตสาหกรรม ฝุ่นควันจราจร ส่งผลต่อสุขภาพของคนไทยรุนแรง เป็นต้นเหตุโรคร้ายแรง กระทบการดำเนินชีวิตคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ที่เราจะใช้เป็นพื้นที่นำร่องสังเคราะห์ปัญหาและเสนอทางออกโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง" นางกรรณิการ์ กล่าว
ทั้งนี้ตามข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าจากการตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนปี 55 พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ((PM10) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณสารมลพิษที่เกิดจากการเผาในที่โล่ง เกินมาตรฐานในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในทุกจังหวัด โดยค่าสูงสุดอยู่ในระดับ 300-470 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ขณะที่มาตรฐาน PM10 จะต้องไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. ขณะที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบจากสุขอนามัยจากสถานการณ์หมอกควันเช่นเดียวกัน โดยรวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ป่วยจากโรงพยาบาล 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในปี 55 พบอัตราผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับสถานการณ์หมอกควัน
ด้าน รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าสถานการณ์มลพิษจากหมอกควันในภาคเหนือจะรุนแรงที่สุดในเดือน มี.ค.ของทุกปีและจากการเฝ้าติดตามข้อมูลมาตั้งแต่ปี 50 พบว่าปีนี้หมอกควันได้สร้างผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าเกิดจาก 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.การเผาป่าและการเผาเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดที่มีมากในภาคเหนือตอนบน เช่น อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีการปลูกกว่า 1 แสนไร่ หรือที่ จ.น่านมีการปลูก 3-4 แสนไร่ 2.การเผาขยะตามบ้านเรือนประชาชน ที่เกิดขึ้นทุกวันเนื่องจากระบบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง และไม่มีพื้นที่ฝังกลบที่ดีพอ ทำให้ต้องใช้วิธีการเผาเป็นหลัก 3.การจราจร เช่น เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากกรุงเทพ แต่กลับไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลได้ 4.ภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้เชื้อเพลิง เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ซึ่งมีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ
นพ.พงศ์เทพ กล่าวอีกว่า จากการเฝ้าติดตามปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพพบว่าทำให้เกิดความเสี่ยงต่อ 4 โรคสำคัญคือ 1.โรคทางเดินหายใจ หอบหืด เกิดกับผู้สูดดมสารมลพิษเหล่านี้โดยตรงอาจต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากสูดอากาศไม่ดีเข้าไป ทำให้การทำงานของเม็ดเลือดแดงมีปัญหา 3.โรคผิวหนัง เนื่องจากสารพิษมีลักษณะเป็นกรดสูงจะทำให้ผู้ได้รับเกิดปฏิกิริยาตามผิวหนังหรือเกิดอาการแสบตา 4. ผลกระทบต่อสมอง อาจทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ ล่าสุดยังมีผลศึกษาพบว่าสารพิษจากหมอกควันอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา เมื่อมารดาสูดดมเข้าไปมากจะทำให้เด็กได้รับสารนั้นด้วย อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก เช่น เติบโตช้ากว่าวัยอันควร นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงทำให้ประชาชนในพื้นที่เป็นโรคมะเร็งปอด ซึ่งตามสถิติจะพบว่าภาคเหนือมีผู้เป็นโรคมะเร็งปอดมากที่สุดคือ 40 คนต่อประชากร 1 แสนคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศที่เป็นมะเร็งปอด 10 คน ต่อประชากร 1 แสนคน .