แม่เมาะฟ้องเลิกกองทุนไฟฟ้าชุมชน-ศาลยกฟ้องกลุ่มบางสะพานเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ป่าพรุ
เครือข่ายแม่เมาะฟ้องศาลปกครองระงับกองทุนรอบโรงไฟฟ้าชุมชน เหตุใช้งบไม่โปร่งใส ส.โลกร้อนระบุ คดีชาวบ้านฟ้องกฟผ. รอจนตาย 18 รายยังไม่คืบ ศาลยกฟ้องคดีเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ป่าพรุแม่รำพึง
วันที่ 15 ส.ค. 55 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมชาวบ้านเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ 63 คน เข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.)จ.ลำปาง และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อระงับผลจากการอนุมัติการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ผิดไปจากเจตนารมณ์และขั้นตอนของกฎหมายการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งตามม. 97 กฎหมายให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ ดังนี้
1.เพื่อชดเชยและอุดหนุนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าด้อยโอกาส ทั่วถึง และส่งเสริมการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค 2.เพื่อชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากการที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าฝ่าฝืนม. 87 วรรคสอง 3.เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า 4.เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย 5.เพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ และมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้า และ6.เป็นค่าใช้จ่ายการบริหารกองทุน
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวต่อศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า โครงการส่วนใหญ่ที่คพรฟ. อนุมัตินั้นมักเป็นโครงการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานราชการอื่นที่จัดสรรงบประมาณสู่ชุมชน เช่น การจัดตั้งศูนย์ปราบปรามยาเสพย์ติด การจ้างครูอัตราจ้าง ซึ่งขัดแย้งกับระเบียบของสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ที่ระบุว่า หากโครงการใดเสนอขอเงินกองทุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า ซึ่งซ้ำซ้อนกับโครงการรัฐที่มีงบประมาณจัดสรรอยู่แล้วจะกระทำมิได้ แต่คพรฟ. กลับอนุมัติเงินหลายร้อยล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการที่ไม่ชอบธรรมอีก จึงต้องให้ศาลปกครองพิจารณาบังคับ ดังนี้
1.ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้คพรฟ. และกกพ. เพิกถอนมติเกี่ยวกับโครงการชุมชนต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกับระเบียบกกพ. ว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้า พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 2.ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้คพรฟ. ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของระเบียบกกพ. โดยนำโครงการของผู้ฟ้องคดีทั้ง 11 โครงการกลับสู่การพิจารณาและอนุมัติใหม่ตามหลักเกณฑ์ที่กกพ.กำหนด และ 3.ให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับการอนุมัติงบประมาณให้โครงการต่าง ๆ ที่ขัดแย้งต่อระเบียบฯ
“คดีชาวบ้านแม่เมาะกว่าร้อยรายฟ้องกฟผ. นั้น ยังไม่มีคืบหน้า ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากผลกระทบโรงไฟฟ้าดังกล่าว 18 รายแล้ว อย่างไรจะเร่งให้ศาลได้พิจารณาเร็วที่สุด” นายกสมาคมฯ กล่าว
ด้านนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า แม้การพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะลดผลกระทบต่อชุมชนได้มากกว่าอดีต แต่ชาวบ้านที่ประสบปัญหาแต่เดิมกลับไม่สามารถเข้าถึงงบประมาณของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ปี 55 กว่า 300 ล้านบาทได้ ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่างบประมาณปี 56 นั้นชาวบ้านจะสามารถเข้าถึงกองทุนดังกล่าวหรือไม่
นอกจากนี้จะเรียกร้องต่อประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเร่งตรวจสอบกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะเปิดประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อเปิดเหมืองไฟฟ้าเฟสใหม่ในวันที่ 18 ส.ค. 55 ซึ่งชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว เพราะปัญหาเก่ายังไม่ถูกแก้
วันเดียวกัน ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวก 41 คน ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 11 หน่วยงาน เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฎิบัติ ซึ่งสืบเนื่องจากกรณีชาวบ้านร้องขอให้กรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินของบริษัทในเครือสหวิริยา จำนวน 18 แปลง พื้นที่รวมเกือบ 400 ไร่ โดยศาลได้สั่งบังคับเพิกถอน 1 แปลง ส่วนอีก 17 แปลงยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย
นางจินตนา แก้วขาว แกนนำเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ชาวบ้านทราบล่วงหน้าแล้วว่าศาลต้องมีคำพิพากษาออกมาในลักษณะดังกล่าว เพราะสังเกตว่าในการประชุมร่วมระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และเครือสหวิริยา เมื่อ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ตัวแทนเครือสหวิริยาแจ้งต่อกนอ.ว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ตั้งโรงถลุงเหล็กและเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร ร่วมกับกนอ. ได้มีข้อยุติตามคำสั่งศาลและพร้อมส่งเอกสารคำสั่งศาลให้แก่กนอ. นั่นหมายถึง เอกชนรู้คำพิพากษาของศาลอยู่ก่อนแล้ว ทั้งที่ศาลปกครองจะนัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้ ซึ่งมีระยะเวลาห่างกัน 1 เดือน ซึ่งเป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น
“เราต้องการชี้แจงต่อทุกคนว่าป่าพรุแม่รำพึงนั้นได้รับการยืนยันจากคณะกรรมการชุดที่ดินและป่าไม้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ตรวจสอบพบว่า ไม่มีร่องรอยทำประโยชน์ หรือเป็นที่อยู่อาศัย ตั้งแต่อดีต และมีสภาพระบบนิเวศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สมบูรณ์มีอายุไม่ต่ำกว่า 300 ปี จึงไม่ควรออกเอกสารสิทธิให้ผู้ใด” นางจินตนากล่าว
โดยหลังจากนี้ชาวบ้านจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดให้คุ้มครองชั่วคราวไม่ให้เครือสหวิริยาเข้าทำประโยชน์จนกว่าคดีจะสิ้นสุด.