กษ.สนองพระราชดำริพระเทพฯ ฟื้นทุเรียนนนท์น้ำท่วม นำร่องจันท์-ปทุมฯ
กษ.ฟื้นทุเรียนนนท์สนองพระราชดำริพระเทพฯ ขยายพันธุ์ที่จันท์ ปลูกคืนนนท์-ปทุมฯ ไทยเซ็นเอ็มโอยูชิลี เพิ่มส่งออกทูน่ากระป๋อง-ยางพารา
วันที่ 15 ส.ค. 55 นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความห่วงใยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุกทกภัยในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องพันธุกรรมพืชสกุลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น พันธุ์ทุเรียนนนท์ เพื่อสนองพระราชดำริดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯจึงมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการเก็บกู้ทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมและหายากในพื้นที่จ.นนทบุรี
โดยปลายปีที่ผ่านมาได้เข้าไปเก็บกู้ทุเรียนนนท์พันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่ ต.บางศรีทองและ อ.บางกรวย ได้รวม 16 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สาวน้อย พันธุ์กบตาเฒ่า พันธุ์ทองย้อยฉัตร พันธุ์กระดุมเขียว พันธุ์กบก้านเหลือง พันธุ์แดงรัศมี พันธุ์กบหัวสิงห์ พันธุ์ลวงหางสิงห์ พันธุ์กระเทยเนื้อเหลือง พันธุ์กบพวง พันธุ์กบสีนวล พันธุ์กบจำปา พันธุ์กบตาเหมย พันธุ์กำปั่นเจ้ากรม พันธุ์เจ้าเงาะ และพันธุ์กระดุมสีนาค และนำมาขยายพันธุ์เก็บเตรียมไว้แล้ว ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จ.จันทบุรี
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จ.นนทบุรีได้ร่วมกันขยายพันธุ์ทุเรียนนนท์ 53 สายพันธุ์ โดยขณะนี้ผลิตพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมได้แล้วจำนวน 14,031 ต้น และทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ เพื่อพระราชทานแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2555 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะแจกจ่ายต้นพันธุ์ทุเรียนได้ทั้งหมดจำนวน 25,000 ต้น ภายในเดือนก.ย. เพื่อส่งมอบพันธุ์กลับคืนให้ชาวสวนเมืองนนท์รวมถึงชาวสวนทุเรียนในจ.ปทุมธานีด้วย โดยการมีแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาทุเรียนนนท์ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนอปท.จ.นนทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทนชมรมทุเรียนนนท์ และผู้แทนเกษตรกรร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ทั้งนี้มีการจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ปลูกทุเรียน จ.นนทบุรี โดยความร่วมมือของอปท.จ.นนทบุรีเพื่อให้การฟื้นฟูพันธุ์ทุเรียนนนท์ประสบผลอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ในวันเดียวกัน นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.กระทรวงเกษตรฯ ได้ลงนามร่วมกับ นายหลุยส์ มาโย โบชอล รมว.กระทรวงเกษตร ประเทศชิลี ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรและความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช(SPS) เพื่อส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร และการถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาตร์และวิชาการในสาขาการเกษตร ทั้งสัตว์และพืช รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของสองประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ศัตรูพืชและสัตว์พาหะ
นายธีระ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยขาดดุลการค้าด้านสินค้าเกษตรกับชิลีกว่า 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่าการลงนามบันทึกเอ็มโอยูดังกล่าว นอกจากจะเป็นโอกาสให้ไทยได้ขยายการค้าการลงทุนไปในตลาดใหม่แล้วยังช่วยให้การขาดดุลทางการค้าระหว่างไทยกับชิลีลดลง และสามารถส่งออกสินค้าเกษตร อาทิ ยางพารา ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าว และอาหารแปรรูปไปยังชิลีได้มากขึ้น
ทั้งนี้ประเทศชิลีเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจสูงเป็นลำดับต้นๆในภูมิภาคลาตินอเมริกา และมีการขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตร อาทิ สมุนไพร องุ่น เชอร์รี่ ไวน์ อาหารทะเล อย่างต่อเนื่อง.
ที่มาภาพ : http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=News&file=article&sid=2411