อีกครั้งกับการจัด "โครงสร้างดับไฟใต้" ที่คนชายแดนใต้ไร้ส่วนร่วม
ผมมีโอกาสได้ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในช่วงที่รัฐบาลกำลังขมีขมันเปิดประชุมและแถลงข่าวใหญ่เพื่อบูรณาการงาน 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน เพื่อเอกภาพในภารกิจดับไฟใต้พอดี
ผมไล่ดูความเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯผ่านทางโซเชียลมีเดีย แล้วนำไปเปรียบเทียบกับบรรยากาศที่ผมสัมผัสจริงในพื้นที่ สรุปได้ว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ที่กรุงเทพฯนั้น ข่าวสารจากชายแดนใต้กลายเป็นหัวข้อหลัก มีนักคิด นักพูด (แต่ไม่ค่อยมีนักปฏิบัติ) ออกมาแสดงวิสัยทัศน์กันวุ่นวาย หลายๆ ความคิดดูจะยิ่งสร้างปัญหา ไม่ใช่ระงับปัญหา เช่น ความเห็นของรองนายกฯบางท่านที่ไม่เคยลงพื้นที่เลย และอดีตทหารบางนายที่เคยสั่งยิงถล่มมัสยิดกรือเซะ ฯลฯ
ขณะที่ในระดับรัฐบาลก็พากันโหมประโคมข่าวประหนึ่งว่าปัญหาภาคใต้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน และกำลังจัดทัพใหญ่ลงไปยุติปัญหา ทั้งที่จริงๆ แล้วปัญหายืดเยื้อมานานเกือบ 9 ปี และตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา พูดได้ว่ารัฐบาลชุดนี้แทบไม่เคยให้ความสนใจหรือใส่ใจเลย
ความจริงก็คือประเด็นที่ว่าด้วยการ "จัดทัพ" ที่ผลผลิตออกมาเป็น "ศปก.จชต." หรือ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ล่าสุดเปลี่ยนชื่อเต็มและชื่อย่อใหม่แล้ว) ที่ตั้งขึ้นมาเป็นตัวเชื่อมระหว่างระนาบนโยบาย คือคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาค ใต้ หรือ กปต. กับระนาบปฏิบัติที่เดินงานโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กับ ศอ.บต.นั้น ปรากฏว่าแทบไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่
นี่จึงเป็นอีกครั้งของภาพสะท้อนการบริหารแบบ top-down หรือ "บนลงล่าง" เต็มพิกัด กล่าวคือเป็นเรื่องที่คิดเบ็ดเสร็จจากส่วนกลาง หนำซ้ำยังมีเป้าหมายสำคัญเพื่อแก้ไขอุปสรรคในแง่การบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐเองเท่านั้น โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมหรือส่วนได้เสียอะไรเลย
แน่นอนว่าภาครัฐอาจจะบอกได้ว่าการ "จัดทัพใหม่" ก็เพื่อให้เกิดผลแปรนโยบายสู่ภาคปฏิบัติไปถึงประชาชน แต่เมื่อประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมเสียแล้ว นโยบายและการจัดทัพนั้นก็แทบจะไร้ความหมาย
วันจันทร์ที่ 6 ส.ค. พรรคประชาธิปัตย์จัดวงเสวนารับฟังความคิดเห็นเล็กๆ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โดยมี คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และผู้นำฝ่ายค้าน เดินทางลงพื้นที่ไปร่วมรับฟังด้วยตัวเอง
เชื่อไหมครับว่าตลอด 2 ชั่วโมง ทั้งครูบาอาจารย์ นิสิตนักศึกษา และชาวบ้านร้านตลาดที่เข้าร่วมเวที ไม่มีใครสักคนพูดถึงโครงสร้างองค์กรใหม่ที่รัฐบาลกำลังตีปี๊บก่อนประชุมในอีก 2 วันถัดมา (ประชุมกันวันที่ 8 ส.ค.) แต่แทบทุกเสียงวิตกกังวลกับ "ปัญหาสังคม" ที่กำลังโหมกระหน่ำซ้ำเติมให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในภาวะใกล้ล่มสลาย
ชาวบ้านคนหนึ่งเป็นผู้หญิง อาศัยอยู่ชานเมืองปัตตานี โพล่งขึ้นมาตอนหนึ่งว่า อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ เพราะระบาดเข้าไปทุกหมู่บ้านแล้ว ทุกวันนี้เด็กๆ และเยาวชนถูกชักจูงไปในทางที่ผิดได้ง่าย ทั้งจากกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงและกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด จึงอยากให้ส่งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำทุกหมู่บ้าน จะได้คอยเป็นหูเป็นตาและปรามเยาวชนบ้าง
ขณะที่ตัวแทนนักศึกษาให้ความสำคัญกับปัญหาขโมยขโจรที่คุกคามอย่างหนักตามชุมชนต่างๆ ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากยาเสพติดระบาดนั่นเอง
ความเห็นดังกล่าวสะท้อนว่ารัฐยังไม่อาจควบคุมพื้นที่ได้จริง ไม่สามารถดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ ทั้งๆ ที่เป็นอาชญากรรมพื้นฐาน ธรรมดา ส่วนเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น คนพื้นที่มองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและยากจะแก้ได้สำเร็จ แต่หากขจัดอาชญากรรมเหล่านี้ไปได้ ก็จะช่วยตัดเส้นทางอันตรายที่คอยหนุนเสริมสถานการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่
ผมทำงานอยู่ในพื้นที่เกือบ 1 สัปดาห์ ได้ยินได้ฟังความคับข้องใจของชาวบ้านซ้ำๆ หลายครั้งว่า รัฐส่งเจ้าหน้าที่ลงมามากกว่า 6 หมื่นนาย ตั้งด่านในพื้นที่เฉพาะด่านหลักๆ กว่า 60 ด่าน แต่เหตุไฉนยาเสพติดยังคงระบาด น้ำมันเถื่อนยังขายกันเกร่อตามริมถนน
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ทำข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันเถื่อนยังยอมรับเองว่า ปัญหาหนักที่สุดของการปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายที่ถือเป็น "ภัยแทรกซ้อน" ก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐรับส่วยเสียเอง...
นี่กระมังที่ทำให้หลายคนเชื่อว่าถ้าขจัดผลประโยชน์มิชอบพวกนี้ได้อย่างเด็ด ขาด ความรุนแรงของไฟใต้น่าจะลดระดับลงกว่าครึ่ง และน่าจะได้ใจมวลชนให้หันมาสนับสนุนรัฐอีกมหาศาล!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : มัสยิดกรือเซะยามค่ำในเดือนรอมฎอน พี่น้องมุสลิมร่วมกันละหมาดตะรอเวียะห์...อีกหนึ่งภาพประทับใจจากการลงพื้นที่ชายแดนใต้เที่ยวล่าสุด
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 14 ส.ค.2555 ด้วย