แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
บีโอไอลาว โชว์กม.ฉบับใหม่ ให้สิทธิพิเศษลงทุน 'การศึกษา-สธ.'
หน.แผนกส่งเสริมการลงทุนแห่ง สปป.ลาว ย้ำชัดการลงทุนที่มาเกี่ยวข้องกับการเมือง ความสงบเรียบร้อย กระทบต่อวัฒนธรรม สังคม ทำลายธรรมชาติ คุมเข้ม ไม่อนุญาต แต่ไฟเขียวเป็นพิเศษสำหรับลงทุนท่องเที่ยว- การศึกษา - สาธารณสุข
เมื่อเร็วๆ นี้ นายพอนทะวง สิงหาลาด หัวหน้าแผนกส่งเสริมการลงทุนแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวถึงการส่งเสริมการลงทุนของสปป.ลาว ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2531 (1988) ว่า ถือเป็นการเปิดประตูสู่โลกภายนอกครั้งแรก และเปลี่ยนประเทศจากเศรษฐกิจสังคมนิยม เป็นเศรษฐกิจการตลาด รวมทั้งยังเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยอิงกับกฎหมายการลงทุนของลาว
"ปัจจุบัน รัฐบาลลาวมีกฎหมายการลงทุนฉบับปรับปรุงใหม่ 2552 (2009) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เปิดกว้างที่สุด จากสมัยก่อน นักลงทุนลาว นักลงทุนต่างชาติ จะได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้ได้ให้สิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน ไม่เหลื่อมล้ำ และไม่แตกต่างกัน เช่น กฎหมายฉบับก่อน ๆ นักลงทุนต่างประเทศไม่สามารถลงทุนด้านการท่องเที่ยวได้ แต่วันนี้สามารถเข้ามาร่วมลงทุนกับนักลงทุนลาว โดยสามารถถือหุ้นได้ถึง 70% ขณะที่ธุรกิจโรงแรม สปา ร้านอาหาร จะมีการแยกออกจากธุรกิจท่องเที่ยว ไปอีกแขนงหนึ่ง"
นายพอนทะวง กล่าวถึงการให้สิทธิพิเศษกับผู้ลงทุนว่า รัฐบาลลาวมีการแบ่งเป็นโซนๆ เช่น โซน 1 พื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา โซน 2 มีความเจริญ มีเส้นทางคมนาคมที่ดี แต่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และโซน 3 ตัวเมืองใหญ่ เช่น นครหลวงเวียนจันทน์ หลวงพระบาง สุวรรณเขต (สะหวันนะเขต) และปากซัน ซึ่งแต่ละโซนรัฐบาลลาวจะได้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน
" นอกจากนี้รัฐบาลลาวยังให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุน ที่จะมาลงทุนด้านการศึกษา และสาธารณสุข เป็นพิเศษเหนือกว่าที่กำหนดไว้ใน 3 โซนข้างต้น" หัวหน้าแผนกส่งเสริมการลงทุนแห่ง สปป.ลาว กล่าว และว่า ส่วนการลงทุนใดๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หรือกระทบต่อวัฒนธรรม สังคม ทำลายธรรมและสิ่งแวดล้อมนั้น รัฐบาลลาวจะเข้มงวด และไม่มีการอนุญาต
สำหรับการส่งเสริมการลงทุนที่รัฐบาลลาวเน้นเป็นพิเศษนั้น นายพอนทะวง กล่าวว่า รัฐบาลเน้นส่งเสริมการลงทุนในเรื่องเกษตรกรรม การผลิตอาหาร, โครงสร้างพื้นฐาน, การผลิตเสื้อผ้า,พลังงาน ขณะที่เหมืองแร่ (ปัจจุบันรัฐบาลลาวทบทวนไม่ต่อใบอนุญาตสัมปทาน),การส่งเสริมหัตถกรรม อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ,อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และการธนาคาร เป็นต้น
และเมื่อถามถึงการเข้ามาเช่าที่ดินใน สปป.ลาว นายพอนทะวง กล่าวว่า นักลงทุนไม่สามารถซื้อที่ดินได้ แต่สามารถเช่าที่ดินของรัฐได้ เช่น เช่าที่ของรัฐเพื่อทำเกษตรกรรม ในอัตรา 1 เฮกตาร์ ( hectare) ประมาณ 5-6 เหรียญสหรัฐฯ ระยะเวลาเช่า 70 ปี คาดว่า สิ้นปีนี้ จะมีการปรับขึ้นค่าเช่าที่ดินอีกครั้ง โดยขณะนี้จีน ถือเป็นประเทศที่เข้ามาเช่าที่ดินมากที่สุด รองลงมาเป็นเกาหลี ในส่วนอัตราการเช่าที่ดินของเอกชน จะขึ้นอยู่กับเจ้าของที่ดินเป็นหลัก
ทั้งนี้ นายพอนทะวง กล่าวถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ฉบับที่ 7 ระยะเวลา 5 ปี (2011-2015) ด้วยว่า เรียกว่า แผน 4 บุกทะลุ (four breakout) พร้อมกับเชื่อมั่นว่า การสร้างเมืองใหม่ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมีความจำเป็นสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนลาว กอรปกับการเปลี่ยนจากประเทศที่เป็นไม่มีทางออกทะเล (landlocked country) การรวมเป็นประชาคมอาเซียนนั้นก็จะทำให้ลาวกลายเป็นประเทศที่มีความแตกต่าง มีเส้นทางเชื่อมต่อของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงได้หลายทาง นำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ที่มา:การเดินทางดูงานของคณะสื่อมวลชนไทยหลักสูตรเสริมสร้างความรู้เรื่องการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ระหว่างวันที่ 6-11 สิงหาคม 2555 ณ ประเทศลาว - เวียดนาม จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุน บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร