นายกฯเตรียมแจงแผนจัดการน้ำต่อ ปชช. ปัดล็อกสเป็กทีโออาร์เอื้อต่างชาติ
นายกรัฐมนตรี ระบุรัฐบาลเตรียมชี้แจงแผนบริหารจัดการน้ำในทุกขั้นตอนให้ประชาชนรับทราบ ย้ำไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทต่างชาติ ในการทำทีโออาร์กรอบแนวคิดออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่รัฐบาลเตรียมที่จะชี้แจงข้อมูลการบริหารจัดการน้ำกับประชาชน ว่า ประชาชนจะได้ทราบว่ารัฐบาลเตรียมความพร้อมอย่างไร รวมถึงแนวทางการป้องกันในเรื่องเร่งด่วน ส่วนการรับมือน้ำท่วมปีนี้นั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ ซึ่งจะใช้วิธีจำลองปริมาณน้ำว่าจะสามารถบริหารจัดการได้มากน้อยเพียงใด โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วย ซึ่งในพื้นที่ปลายน้ำจะอยู่ที่การระบายน้ำ และคูคลอง หากขุดลอกแล้วเสร็จจะทำให้การรับน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"ยอมรับว่าหากบริหารจัดการระบายน้ำในคูคลองไม่ดี จะมีผลกระทบในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ จะชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงแนวการไหลผ่านของน้ำ ขณะเดียวกันได้ติดตั้งกล้องวงจรติด เพื่อให้มีการเตรียมการ ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่โดยข้อมูลทั้งหมดสามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์www.waterforthai.com."
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า การทำทีโออาร์ กรอบแนวคิดออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ไม่มีการเอื้อประโยชน์(ล๊อคสเปค)ให้บริษัทต่างชาติ ที่รัฐบาลต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเป็นปัญหาของประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล เพื่อชี้แจงต่อประชาชนทราบ และยืนยันว่าทุกขั้นตอนจะชี้แจงต่อประชาชนอย่างโปร่งใส และการบริหารจัดการน้ำและผลลัพธ์ต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เนื่องจากเป็นแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ มติ ครม. ได้อนุมัติจัดทำและลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านทรัพยากรน้ำและการชลประทานไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในสาขาทรัพยากรน้ำและการชลประทานระหว่างสองประเทศ โดยนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกแถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร
โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอดังนี้
1. อนุมัติจัดทำและลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรน้ำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำและการชลประทาน
2. อนุมัติในหลักการว่า ก่อนที่จะมีการลงนาม หากมีการแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจในประเด็นที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ ให้ กษ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ
4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามในข้อ 3.
สาระสำคัญของเรื่อง กษ. รายงานว่า
1. กษ. ของไทยและกระทรวงทรัพยากรน้ำของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน (ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 มีนาคม 2540) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2540 (The Memorandum of Understanding on Scientific and Technical Cooperation) และบันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้หมดอายุเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550
2. ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ใหม่แทนบันทึกความเข้าใจฯ เดิมที่หมดอายุ โดยบันทึกความเข้าใจดังกล่าวว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านทรัพยากรน้ำและการชลประทาน
3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านทรัพยากรน้ำและการชลประทาน ระหว่าง กษ. ไทยและกระทรวงทรัพยากรน้ำสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในสาขาทรัพยากรน้ำและการชลประทานระหว่างสองประเทศ โดยมีขอบเขตความร่วมมือครอบคลุมในประเด็นการป้องกันและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการและก่อสร้างเขื่อน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทรัพยากรน้ำและการรับมือ การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การอนุรักษ์ดินและน้ำ การชลประทานและการระบายน้ำ การประสานงานและร่วมมือในกิจกรรมที่เกี่ยวกับน้ำในระดับนานาชาติและความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ที่สนใจร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายได้หารือและเห็นชอบในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้ว