นักวิชาการยันผูกขาดตลาดยา เสียหายกว่า 8 หมื่นล./ปี
เอ็นจีโอ นักวิชาการตั้งวงถก หากไทยยอมรับข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอียู ปัญหาเข้าถึงยาภายใต้สิทธิบัตรจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
วันที่ 13 สิงหาคม มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภค และกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) จัดเวทีสนทนา"จาก ACTA ถึง FTA: รูปแบบใหม่ของการผูกขาดอำนาจการค้า"ขึ้น ณ โรงแรมมิราเคิล ถ.วิภาวดี กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเจรจาการค้าในระดับโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน และจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยต่อจุดยืนในนโยบายการค้าของประเทศ
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงาน เอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวถึงกรณีสมาชิกรัฐสภาสหภาพยุโรปได้มีมติเสียงเป็นเอกฉันท์คัดค้านร่างความตกลงต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง (Anti-Counterfeiting Trade Agreement:ACTA) โดยเป็นความตกลงที่ต้องการควบคุมสินค้าปลอม รวมถึงกรณียารักษาโรค เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเจรจาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่า การเจรจาเป็นความลับ รวบรัด อีกทั้งเชื่อกันว่า จะกระทบการเข้าถึงยา ฐานทรัพยากรชีวภาพ
"แม้ว่า ACTA จะตายไปแล้ว แต่เนื้อหาสาระ ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเข้าถึงยา การเข้าถึงความรู้และฐานทรัพยากรชีวภาพไม่ได้หายไปด้วย แต่ยังมีความพยายามผลักดันสาระเหล่านี้ในการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA ในหลายประเทศ โดยเฉพาะใน FTA กับสหภาพยุโรป และในการเจรจาการค้าในรูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อว่า "ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิค" (Trans-Pacific Partnership: TPPA) โดยมีหลายประเทศเข้าร่วมในวงเจรจาทั้งประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและสหรัฐอเมริกา"
นางสาวกรรณิการ์ กล่าวถึงเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมด่วน ออกจดหมายเชิญลงวันที่ 7 สิงหาคม 2555 เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อการเจรจา FTA ของไทย โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ ทำความเห็นประกอบเสนอรัฐบาลว่า เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่สหภาพยุโรปขอมา ประเทศไทยรับได้ ไม่มีผลกระทบ "ควรกำหนดให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยืดหยุ่น โดยอาจยอมรับข้อผูกผันที่มากกว่าความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า TRIPs หรือยอมรับ TRIPs Plus ในการจัดทำการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เนื่องจากการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา (Data Exclusivity:DE) เพิ่มเติม 5 ปี จะไม่มีกระทบต่อราคายาในปัจจุบัน"
ด้านนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึง ACTA ได้ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ยาต้นตำรับ หรือยาที่มีชื่อยี่ห้อ และพยายามสกัดกั้นบริษัทยาชื่อสามัญ ซึ่งแม้ยุโรปจะปฏิเสธไม่ยอมรับ ACTA แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อกังวล ACTA ยังไม่ตายจริงๆ ขณะที่ข้อตกลงแบบ TRIPs Plus ยังมีอยู่
ขณะที่รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงกรอบเจรจา FTA จะต้องไม่มีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่การผูกขาดข้อมูลทางยา หรือ DE เกี่ยวข้องกับระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยาของยาต้นกำเนิด กับยาชื่อสามัญ โดยปัจจุบันไทยไม่มีการให้ DE แต่สหภาพยุโรป เรียกร้อง DE 5 ปี
"แปลความได้ว่า เมื่อยาต้นกำเนิดมาขึ้นทะเบียนตำรับยาในประเทศไทย เขาขอ 5 ปีที่จะผูกขาดตลาดแต่ผู้เดียว หลังจากนั้นยาชื่อสามัญถึงจะมาขึ้นทะเบียนได้"
รศ.ดร.จิราพร กล่าวอีกว่า ประเทศไทยไม่ควรให้ DE เพราะเป็นการผูกขาดตลาดยาที่ไม่มีเหตุผล และที่สำคัญในช่วงที่ให้ DE ทำให้ไทยไม่สามารถทำการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา(CL) ได้ รวมทั้งยังส่งผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายยาที่เพิ่มขึ้น เมื่อมีการผูกขาดตลาด เช่น มีผลการศึกษากรณีที่มีการให้ DE เมื่อถึงปีที่ 5 เราจะต้องใช้ค่ายาเพิ่มขึ้นกว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี
ส่วนนายพราโบ ซาโลน (Plabo Salon) ผู้อำนวยการองค์กรโครงการศึกษาและปฏิบัติงานพัฒนา Focus on the Global South จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นผู้เจรจาให้ประเทศโบลิเวีย กับสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ กล่าวถึงการเจรจา FTA ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีระหว่างกันนั้น ใช่ว่า จะทำให้การส่งออกดีขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่น สภาพเศรษฐกิจขณะนั้นด้วย ดังนั้น ขอให้ไทยเช็คการเจรจา FTA ล่าสุด ของประเทศอื่นๆ ด้วย พร้อมกับเชื่อว่า ทุกๆ การเจรจา FTA จะยิ่งเลวลงๆ ทุกขณะ โดยเฉพาะเรื่องกฎเกณฑ์ว่าด้วยการลงทุน การบริการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ การแพทย์ สาธารณสุข การคุ้มครองผู้บริโภค กำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อทำหนังสือถึงรัฐบาลขอให้นายกรัฐมนตรียืนยันที่จะกำหนดไว้ในกรอบการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ที่จะไม่รับข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลง TRIPs ด้วยความเห็นของ กรมเจรจาการค้าฯ เป็นความเห็นที่บิดเบือนจากความจริงไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานวิชาการ และไร้มนุษยธรรม ซึ่งจะชี้นำทิศทางที่ผิดพลาดให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย
http://www.youtube.com/watch?v=AvlcWrxFK7M&list=PL7C3B0A336E29FBD8&feature=plcp