“จรัญ” ชี้ยุติธรรมไทยล่าช้า ต้นเหตุ ปชช.ถอยห่าง-หันไปพึ่งกองกำลังตัวเอง
นักวิชาการ เผยยุติธรรมไทยไร้ประสิทธิภาพ เหตุนิยมใช้กระบวนการทางอาญา-ส่งคนติดคุก เสนอใช้โทษปรับแก้ปัญหา ด้านรองปลัด ก.ยุติธรรม ห่วงไทยติดกักดักตัวเอง มองนโยบายยุติธรรมเชิงวาระ มองกว่าภาพรวม
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกิจการยุติธรรม จัดประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 10 “การเสริมสร้างประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมเพื่อสังคมไทย” ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรม ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยเฉพาะด้านยุติธรรมทางอาญา ว่า มีการใช้งบประมาณสูง คิดเป็น 1.26% ของจีดีพี ขณะที่สัดส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร อยู่ในระดับที่สูงคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2,400 คนต่อจำนวนประชากร 100,000 ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าเราใช้เงินมาก คนมาก แต่กลับพบว่า จำนวนคดีอาญาที่คั่งค้างในศาลมีจำนวนมาก อีกทั้งการพิจารณาคดีใช้เวลานานเฉลี่ยถึง 13.5 เดือนต่อคดี ปัญหาที่ตามมาคือนักโทษล้นคุก ในปี 2551 มีนักโทษประมาณ 180,000 คน ต่อมาในปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 250,000 คน โดยในจำนวนนี้พบว่า 5% ถูกคุมขังระหว่างไต่สวน
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยไร้ประสิทธิภาพว่า มาจากการไทยนิยมใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาท มีการโทษปรับต่ำเกินไป ทำให้ต้องเน้นการจำคุก ทั้งนี้ หากพิจารณาค่าปรับเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ถ้ากำหนดโทษปรับไว้ที่ 1,000 บาท หากนำมาหักลบกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน จะพบว่าจำนวนเงินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงแค่ 10% หรือ 100 เท่านั้น ทำให้วิธีการใช้ค่าปรัปไม่เป็นนิยม นอกจากนี้ในเรื่องการออกกฎหมายกำหนดโทษปรับนั้น ยังพบว่าประเทศไทยไม่ได้มีสองมาตรฐาน แต่ไม่มีมาตรฐานเลย เนื่องจากกฎหมายที่ออกในปีเดียวกัน ช่วงของค่าปรับตามที่กำหนดไว้กลับมีตั้งแต่ 1,000-3,000,000 บาท ซึ่งกว้าง และมีหลายอัตรามาก
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับทางเลือกในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยนั้น 1.ควรพิจารณาทบทวนบทบัญญัติที่กำหนดโทษอาญา ซึ่งมีประมาณ 350 ฉบับให้เหลือเท่าที่จำเป็น บางฉบับควรยกเลิก เช่น โทษอาญาคดีเช็ค 2.เพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้น ทันกับอัตราเงินเฟ้อ 3.เพิ่มทางเลือกในการลงโทษ เช่น การใช้โทษปรับ การทำกิจกรรมบริการสังคม 4.การลดปริมาณคดีที่เข้าสู่ระบบยุติธรรม โดยใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยยุติความขัดแย้ง และ 5.เพิ่มแรงจูงใจในการฟ้องร้องคดี
ทางแพ่ง ทั้งนี้ เชื่อว่าหากใช้โทษปรับ ยกเลิกคดีอาญาบางประเภทแล้ว จะสามารถลดการใช้งบประมาณได้ถึงปีละ 2,000 ล้านบาท
ส่วนหากเกรงว่า เมื่อใช้โทษปรับแล้ว คนรวยจะได้เปรียบกว่าคนจนนั้น ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า มีวิธีการที่จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ นั่นคือการกำหนดค่าปรับตามรายได้ (day fines) ผู้กระทำความผิดที่มีระดับรายได้ที่ต่างกัน ย่อมถูกปรับในอัตราที่ต่างกันด้วย ทั้งนี้ เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรม โดยเฉพาะในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง
กม.ไทยล่าช้า-ขวางโลก ต้นตอประชาชนขาดความเชื่อถือ ศรัทธา
ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงระบบงานยุติธรรมและระบบกฎหมายของประเทศต่างๆ ในปัจจุบันว่า ตกอยู่ในสภาพเดียวกันคือ วิ่งไล่ตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ในหลายประเทศจำเป็นต้องมีระบบงานที่ทำหน้าที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วิถีชีวิต วัฒนธรรม เพื่อจะได้นำไปปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาระบบกฎหมาย ระบบงานยุติธรรมให้ทันท่วงทีกับสภาพสังคม ทำให้ระบบกฎหมาย ระบบงานยุติธรรมในประเทศเหล่านั้นมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชน ทั้งภายในประเทศ รวมไปถึงประเทศคู่ค้า แต่น่าเสียดายที่กระบวนการวิ่งไล่ตามสังคมของไทยยังล่าช้ากว่าหลายประเทศมาก ทั้งที่บ้านเรามีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มีกระทรวงยุติธรรม แต่ก็ยังไม่ทัน
“สถานะทางกฎหมายของประเทศไทยในหลากสาขาพบว่า มีความล้าสมัยอย่างมาก และในหลายเรื่องยังไปขัดขวางโลก จนอาจทำให้สิ่งผิดกลายเป็นถูก สิ่งถูกกลายเป็นผิดในโลกปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ยังมีจุดอ่อนข้อด้อย ทำให้ประชาชนไทยขาดความเคารพ ยกย่อง เชื่อถือ ศรัทธาในระบบกฎหมาย ระบบการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทนาย อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ฯ ซึ่งจุดนี้ยิ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมอ่อนล้าตามไปด้วย เพราะเมื่อประชาชนไม่เชื่อมั่น ไม่ร่วมมือ ก็จะถอยห่าง หันไปพึ่งกองกำลังของตนเอง ของแต่ละกลุ่ม แทนการพึ่งระบบกฎหมาย ซึ่งภาวะเช่นนี้เป็นอันตรายต่อความสันติสุขของบ้านเมือง เพราะคนที่มีกำลัง มีฐานะ อำนาจ เงิน เครือข่ายมากกว่าก็จะสามารถกดขี่คนอ่อนแอ คนที่โดดเดี่ยว ไม่มีความรู้ ไม่มีพรรคพวกได้โดยง่าย และประเทศไทยก็จะเข้าสู่กลียุค ส่งผลกระทบให้การค้า การดำเนินชีวิตของผู้คนแย่ลง”
ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวต่อว่า แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่ก็เพื่อต้องการเรียกสติ ให้ทุกฝ่ายเห็นจุดอ่อนข้อด้อย และหาทางกำจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป โดยเฉพาะระบบงานยุติธรรมที่ถูกตำหนิมากเรื่องความล่าช้า แสนนาน เช่นคดีอาญา น่าตกใจมาก ที่การดำเนินคดีใน 3 ศาลได้แก่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ใช้ระยะเวลารวมกันประมาณ 10 ปี ซึ่งถ้าผลสุดท้ายศาลพิจารณาว่าจำเลยทำผิดจริง ก็ยังพอทำเนา แต่หากผลคือศาลยกฟ้อง ความเสียหาย การสูญเสียโอกาสต่างๆ จะทำอย่างไร ส่วนในคดีแพ่งนั้น หากสู้กันได้ถึง 3 ศาลจะต้องใช้เวลาเกินกว่า 10 ปี
ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาศาลยุติธรรมของไทย พยายามนำเทคโนโลยีมาใช้ มีการแยกประเภทคดี แต่ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก เนื่องจากผู้บริหารศาลของไทยเปลี่ยนเร็ว อยู่ในตำแหน่งเฉลี่ยแค่ 1-3 ปีเท่านั้น ทำให้การบริหารจัดการขาดความต่อเนื่อง ส่วนเมื่อมีการแก้ปัญหาโดยการเพิ่มปริมาณผู้พิพากษาในระบบงานยุติธรรมจาก 2,000 คนในปี 2538 เพิ่มขึ้นเป็น 4,000 คนในปี 2554 ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ กลับพบว่ามีคดีที่คั่งค้างมากเดิม โดยเฉพาะในศาลฎีกาปีที่ผ่านมามีคดีคั่งค้าง 30,000 กว่าคดี
“ฉะนั้นเห็นว่า การแก้ไขให้กระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่ล่าช้า คำตอบมีได้หลายทาง และอยู่ในงานวิจัยจำนวนมากของไทย ซึ่งวิธีหนึ่งคือ การเปลี่ยนระบบการพิจารณาของศาลจาก 3 ชั้นศาล มาเป็น 2 ชั้นครึ่ง โดยเปิดช่องให้ศาลอุทธรณ์ เป็นผู้ให้เห็นชอบว่าจะอนุญาตให้ฎีกาได้หรือไม่ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณคดีที่จะเข้าสู่ศาลฎีกาได้ถึง 70% นอกจากนี้เห็นว่า ประเทศไทยต้องมีการลงทุนในด้านการป้องกัน ให้คนไทย ลูกหลานไทย เจ้าหน้าที่รัฐทำผิดอาญาน้อยลง เพื่อลดปริมาณคดีที่จะเข้าสู่ระบบ รวมทั้งต้องลงทุนในเรื่องการยังยั้งไม่ให้กระทำผิดซ้ำ แต่เท่าที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีแผน นโยบายในเรื่องอย่างจริงจัง”
ห่วงไทยติดกักดักตัวเอง มองนโยบายยุติธรรมเชิงวาระ
ด้านนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงงบประมาณของกระทรวงยุติธรรม ในปี 2556 ประมาณ 19,000 ล้านบาทว่า งบฯจำนวนนี้ต้องแบ่งให้กรมราชทัณฑ์ใช้ 9,000 ล้านบาท กรมคุมประพฤติ 500-700 ล้านบาท กรมพินิจเด็กและเยาวชนฯ 1,700 ล้านบาท ทำให้กระทรวงยุติธรรมเหลือเงินในการทำงานเชิงบวกเพียงแค่ 30% ฉะนั้นจะถามหาประสิทธิภาพได้ตรงไหน อีกทั้งการมองนโยบายในระดับประเทศ ที่ผ่านมาขาดการมองเชิงระบบ ส่วนใหญ่นิยมมองกันในเชิงวาระ พูดกันเป็นเรื่องๆ มากกว่า เช่น นโยบายต่อต้านยาเสพติด คอร์รัปชั่น อาชญากรรมข้ามชาติ ทำให้ไม่มีการพูดถึงในภาพรวม จนปัจจุบันนี้คนไปกองอยู่ในคุกถึง 250,000 คน อยู่ระหว่างการรอลงโทษอีกปีละประมาณ 200,000 คน
“ทั้งที่ประเทศไทยมีแผนแม่บทการพัฒนากระบวนการยุติธรรมมานานแล้ว แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ยังมองไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจน เนื่องจากไม่มีใครดำเนินการตามแผน ไม่มีใครขับเคลื่อน แผนจึงนิ่งอย่างนั้น ซึ่งตรงนี้ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการคงต้องมาพูดกันว่าคิดเห็นอย่างไร จะขับเคลื่อนกันอย่างไร ขณะเดียวกันในส่วนของภาคประชาชนก็ต้องพยายามตั้งคำถาม สะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับหน่วยงานระดับปฏิบัติในระบบยุติธรรมให้มากขึ้น เพราะคนในวงการยุติธรรมขณะนี้มีแนวโน้มรับฟังความต้องการ ความพึงพอใจของผู้รับบริการมากขึ้น เกิดยุติธรรมทางเลือก ยุติธรรมชุมชน ยุติธรรมสมานฉันท์ มีการดูแลเหยื่อ แพะ และพูดถึงหลักที่เป็นสากลมากขึ้น ที่สำคัญคือ ประเทศไทยต้องเลือกนโยบายเชิงวาระ ไม่เช่นนั้นจะติดกับดักของตนเอง จนไม่สามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้”