กฤษฎีกาฟันธงแม่สอดยกฐานะเป็นเทศบาลนครได้ ใช้เกณฑ์ ราษฎร 5 หมื่นรวมต่างด้าว
หน่วยงาน มท.ตีความ “ราษฎร”ขัดกันเอง ส่งกฤษฎีกาชี้ยกฐานะเทศบาลนครแม่สอดไม่ผิด ใช้เกณฑ์คนถึง 5 หมื่นไม่ว่าไทยหรือต่างด้าวที่เสียภาษี-มีสิทธิรับบริการสาธารณะนับเป็น “ราษฎร”
เร็วๆนี้ มีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามโดยนายรัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง “การนับจำนวนราษฎรตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เทศบาล พ.ศ. 2469” ความว่ากรณีที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีหนังสือวันที่ 2 พ.ค.55 ถึงสำนักงานฯ ความว่าเทศบาลเมืองแม่สอดยื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลนคร โดยระบุว่ามีราษฎรจากฐานข้อมูลการลงทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง 52,350 คน และกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะเป็นเทศบาลนครแม่สอดแล้ววันที่ 28 ม.ค.53
ต่อมามีผู้ร้องเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(ม.ท.) กล่าวโทษนายกเทศมนตรีนครแม่สอดปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการยกฐานะเป็นเทศบาลนคร โดยจัดเตรียมเอกสารหลักฐานว่ามีราษฎรเกิน 50,000 คน ทั้งที่มีจริงเพียง 20,000 คน
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงหารือคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย ม.ท. วันที่ 20 ก.พ.55 ว่าคำว่า "ราษฎร" ตาม พ.ร.บ.เทศบาลฯ รวมถึงผู้ไม่มีสัญชาติไทย ผู้ไม่มีสถานะตามกฎหมาย และคนต่างด้าวด้วยหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ เห็นว่าเมื่อ พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดนิยามคำว่า "ราษฎร" ไว้ จึงต้องพิจารณาจากกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติเรื่องนั้น
พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 กำหนดนิยาม "การทะเบียนราษฎร" ว่างานทะเบียนต่างๆ ตาม พ.ร.บ.นี้ รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหรือยกเว้นการปฏิบัติเกี่ยวกับการแจ้งการเกิด ตาย ย้ายที่อยู่ สำรวจตรวจสอบหรือปรับปรุงทะเบียนราษฎร ทำทะเบียนประวัติ ทำบัตรประจำตัว หรืออื่นใดเกี่ยวกับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามกฎหมายที่เกี่ยวด้วยสัญชาติได้ โดยกำหนดความหมายของคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยไว้ด้วย ดังนั้นคำว่า "ราษฎร" จึงหมายถึงบุคคลที่ได้ปภิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
แต่สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย มีความเห็นดังนี้ 1.การปกครองท้องถิ่นควรเป็นไปตามหลักการปกครองตนเองโดยราษฎรในท้องถิ่นนั้น ส่วนราษฎรที่เป็นบุคคลสัญชาติอื่น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้มีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ การนับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีสิทธิเลือกตั้ง จึงน่าจะขัดหลักการปกครองตนเอง และไม่น่าจะรวมเป็นราษฎรตามความหมายใน พ.ร.บ. เทศบาลฯ 2.ราษฎรที่ถูกนับรวมเพื่อให้เข้าเกณฑ์ยกฐานะเป็นเทศบาลนครแม่สอด มิใช่บุคคลสัญชาติไทย แต่เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรกรณีพิเศษ เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงและรอส่งตัวกลับ การนับรวมบุคคลดังกล่าวเป็นราษฎรตามความหมายใน พ.ร.บ.เทศบาลฯ จึงไม่น่าจะถูกต้อง
เมื่อกรมล่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีความเห็นเช่นเดียวกับคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ ม.ท. ซึ่งไม่สอดคล้องกับสำนักงานรัฐมนตรี ม.ท. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงให้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาว่า 1.หลักในการปกครองท้องถิ่น คือการจัดให้มีองค์กรทางปกครองขึ้นเพื่อจัดให้มีบริการสาธารณะแก่ประชาชนหรือราษฎรที่อยู่อาศัยในเขตท้องถิ่นนั้น การที่กฎหมายกำหนดฐานะของท้องถิ่นให้แตกต่างกัน ก็โดยคำนึงถึงจำนวนพลเมืองหรือราษฎรว่ามากหรือน้อย
2.ในแง่การให้บริการและรายได้ที่จะได้รับเพื่อนำมาจัดบริการสาธารณะ การนับจำนวนพลเมืองหรือราษฎรเพื่อประโยชน์ในการจัดฐานะของท้องถิ่น ต้องคำนึงถึงบุคคลที่มีสิทธิใช้บริการและมีหน้าที่เสียภาษีอากรต่างๆ บุคคลที่จะถึอได้ว่ามีสิทธิใช้บริการและมีหน้าที่เสียภาษีอากร ย่อมได้แก่บุคคลที่มีสิทธิอยู่อาศัยในท้องถิ่นโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ และไม่ว่าจะมีสิทธิเสือกตั้งหรือไม่ เพราะแม้แต่ผู้มีสัญชาติไทยก็มิได้มีสิทธิเสือกตั้งทุกคน ดังนั้น คำว่า "ราษฎร" ตาม พ.ร.บ.เทศบาลฯ จึงหมายถึง บุคคลที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลโดยชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับการตรวจสอบหลักฐานว่าบุคคลใดอยู่อาศัยในเขตเทศบาลโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ ย่อมเป็นไปตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรซึ่งอาจเป็นผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือเป็นผู้มีชื่อในทะเบียนประวัติตามที่รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ให้ก็ได้ .